“NCU World Excellence” พิธีรำลึกวันสถาปนา ม.นอร์ท-เชียงใหม่ ครั้งที่ 16

แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีสถาปนาฯ
แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีสถาปนาฯ

ผู้เขียนใคร่เล่าถึงที่มาของชื่อ “NCU World Excellence” ที่สามารถกล่าวถึงผลงานระดับโลก ว่าเป็นของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เริ่มจาก ประติมากรรม “อินทรีแกร่ง…แห่งนอร์ท-เชียงใหม่” ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2540 (สาขาจิตรกรรมและสื่อผสม) ท่านนับเป็นศิลปินต่างชาติคนแรก ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น ศิลปินยอดเยี่ยม 1 ใน 10 ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้รับรางวัล Grand Prize และเป็นคนเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัล “The Annual Artist’ Award” จากผลงานที่แสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโอ๊คแลนด์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประติมากรรม “อินทรีแกร่ง...แห่งนอร์ท-เชียงใหม่”
ประติมากรรม “อินทรีแกร่ง…แห่งนอร์ท-เชียงใหม่”

“อินทรีแกร่ง…แห่งนอร์ท-เชียงใหม่” เป็นรูปแม่นกอินทรีโอบกอดลูกน้อย เปรียบประดุจ การดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์ด้วยความรักความอบอุ่นของครูอาจารย์ เป็นสัญลักษณ์ที่ยึดมั่นคุณลักษณะอันโดดเด่น 3 ประการของนักศึกษา อันได้แก่ ความมีวิสัยทัศน์ (Vision) ความกล้าหาญ (Courage) และความเป็นผู้นำ (Leadership) จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เนื่องในโอกาสครบรอบคล้ายวันเกิดของอาจารย์ ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ นับเป็นการพบกันครั้งแรกของศาสตราจารย์ ดร.กมล ทัศนาญชลี และท่านอธิการบดี โดยมี ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ที่ปรึกษาอธิการบดี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของอาจารย์กมล เมื่อครั้งพำนักอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา วงสนทนาได้กล่าวถึงการก่อสร้าง “อินทรีแกร่ง…แห่งนอร์ท-เชียงใหม่” ทราบต่อมาว่าอาจารย์กมล ได้วาดร่างแบบ “พญาอินทรี” ในขณะที่ท่านอยู่บนเครื่องบินระหว่างเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา พญาอินทรีถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความมุ่งมั่นในทุกรายละเอียด และถ่ายทอดรูปลักษณ์ตามภาพร่างฝีมือของอาจารย์กมล โดยมี อาจารย์พีระพงศ์ ดวงแก้ว คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ทำแบบจำลองพญาอินทรี ตัวของพญาอินทรี ตัดจากแผ่นโลหะสแตนเลสอย่างหนาด้วยเครื่องตัด เลเซอร์ขนาดใหญ่ มีความสูง 22 ฟุต เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์มีน้ำหนักถึง 1,200 กิโลกรัม ใช้เวลานานเกือบปี พญาอินทรีจึงเคลื่อนย้ายมาตั้ง ณ มหาวิทยาลัยนอร์ท – เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2557

จนกระทั่งวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยกน้ำหนัก ชิงชนะเลิศมหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 4 ในนามประเทศไทย โดยมีพิธีเปิด “อินทรีแกร่ง…แห่งนอร์ท-เชียงใหม่” อย่างสมบูรณ์และสง่างาม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 กลายเป็นงานชิ้นเดียวในโลกของศาสตราจารย์ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2540 ที่ท่านมีเจตนารมณ์ว่า “ขอฝากงานประติมากรรมชิ้นนี้ ไว้เป็นทรัพย์สมบัติของจังหวัดเชียงใหม่” เนื่องจากท่านมิได้เรียกร้องค่าผลงานแต่อย่างใด นอกจากนี้อาจารย์ ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ในฐานะคนเชียงใหม่ก็ตั้งใจที่จะให้ “อินทรีแกร่ง…แห่งนอร์ท-เชียงใหม่” กลายเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ของจังหวัดเชียงใหม่

นายอมรพันธ์ นิมานันท์ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงนามฯ เป็นที่ระลึก
นายอมรพันธ์ นิมานันท์ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงนามฯ เป็นที่ระลึก

ผู้เขียนใคร่ขอเล่าถึง ปรัชญาแห่งพญาอินทรี ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งนกทั้งหลาย เนื่องจากแข็งแรง บินเร็วและสง่างาม บทเรียนจากชีวิตของพญาอินทรี มันสามารถมีชีวิตได้นานถึง 70 ปี แต่ก่อนที่จะอยู่ได้นานถึงป่านนั้น นกอินทรีต้องมีการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของมันเมื่ออายุได้ 40 ปี ตอนนั้นกรงเล็บที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของมันจะไม่สามารถจับสัตว์เป็นอาหารได้อีก จงอยปากที่แหลมคมเริ่มโค้งงอ เนื่องจากมันอายุถึง 40 ปีแล้วจึงมีปีกที่หนาและหนัก ขนที่ยาวรุงรังจะไปรวมกันที่อกของมันทำให้มันบินได้ลำบากมากขึ้น และเมื่อนั้น มันจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง นั่นก็คือตายไปซะหรือจะตัดสินใจที่จะอยู่ต่อไป ซึ่งต้องเผชิญความเจ็บปวดในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชีวิต เป็นระยะเวลายาวนานถึง 150 วัน ในขั้นตอนนี้มันจะต้องบินขึ้นไปบนยอดภูเขาสูง และอยู่ที่รังของมัน มันจะต้องใช้จงอยปากที่โค้งทื่อของมันจิกเคาะกับก้อนหิน ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งจงอยหลุดออกมาหลังจากนั้นมันจะต้องรอให้จงอยปากอันใหม่งอกขึ้นมาและพอจงอยปากงอกออกมาแล้วที่นี้ก็ถึงตากรงเล็บที่งอกขึ้นมาใหม่ต่อจากจงอยปาก เมื่อกรงเล็บใหม่ที่งอกขึ้นมาสมบูรณ์แล้วมันก็จะเริ่มจิกถอนขนที่ดกหนาแล้วผลัดขนใหม่ หลังจาก 5 เดือนหรือ 150 วันผ่านไป ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงก็จะเสร็จสมบูรณ์ นกอินทรีก็จะบินสูงทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกครั้งพร้อมกับร้องเสียงดังก้องสะท้านฟ้าคล้ายดังเป็นการประกาศก้องว่า ตูข้ากำเนิดใหม่แล้วและจะมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปอีก 30 ปี

ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมผลงานภาพถ่าย “อินทรีแกร่ง…แห่งนอร์ท-เชียงใหม่” ที่มีการมอบรางวัลรวมทั้งสิ้น 9 รางวัล ในพิธีรำลึกวันสถาปนามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ โดยมี นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้มีเกียรติ อาทิ Jane Houston หัวหน้าแผนกกงสุลใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา (Consular Chief) /เกา แสนละวิน (Kaung San Lwin) กงสุลใหญ่สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา / พล.ต.ต.นิธิพัฒน์ พัฒนถาบุตร ผู้บังคับการอำนวยการภาค 5 / นายอมรพันธ์ นิมานันท์ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดเชียงใหม่ /นางบุษบา ยอดบางเตย นายกสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย /นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช นายอำเภอหางดง /นายอินสม ปัญญาโสภา นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นผู้มอบรางวัลครั้งนี้

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ ร่วมลงนามฯ เป็นที่ระลึก
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ ร่วมลงนามฯ เป็นที่ระลึก

รางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคคลทั่วไป (ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท) ชื่อภาพ “มองอย่างพญาอินทรี” :: การทำการใดๆ ต้องมองด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกล เฉียบคม ดุจดังสายตาของพญาอินทรี ย่อมจะนำมาซึ่งความสำเร็จ (นายก่อเกียรติ จำปา) รางวัลชนะเลิศประเภทบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ (ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท) ชื่อภาพ “มองฟ้า ดั่งพญาอินทรี” (นายนิติธรรม ไชยสังข์)

มอบรางวัลผู้ชนะการประกวดภาพถ่ายพญานกอินทรี
มอบรางวัลผู้ชนะการประกวดภาพถ่ายพญานกอินทรี
แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีสถาปนาฯ
แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีสถาปนาฯ

…..มองสะท้อน จากพื้น ธุลี ฟ้าส่อง ทิวาราตรี เปรียบได้ ดั่งเงาแบ่ง ชั่วดี ผลก่อ กับตน พญาอินทรีนอร์ท-เชียงใหม่ ประทับไว้ ตราบนาน…..

เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ซึ่งมีศิษย์เก่าถึง 2 คนได้รับรางวัลระดับโลก โอลิมปิคเกมส์ รวม 3 เหรียญรางวัล คือ นางสาวพิมศิริ ศิริแก้ว (แต้ว) ศิษย์เก่าหลักสูตรรัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต นักกีฬายกน้ำหนักเหรียญเงิน กีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 13 (Rio Games 2016) และเหรียญเงิน กีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 30 (London Games 2012) / รวมถึง ร้อยเอกหญิงประภาวดี เจริญรัตนธารากูล (เก๋) ศิษย์เก่าหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตและหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิค 2008

ในงานมีการสัมภาษณ์ขวัญใจชาวไทยทั้งสองคน โดยนายปรัชญา กันทวี ผู้ประกาศจาก NBT ทั้งนี้ นางสาวพิมศิริ ศิริแก้ว (แต้ว) เล่าว่า “ตอนอายุ 15 ปี คุณลุงพามาสมัครที่โรงเรียนกีฬาชลบุรี ตอนอายุ 17 ปี คุณบุษบา ไปเห็นความสามารถจึงชักชวนมาเก็บตัวที่จังหวัดเชียงใหม่ แต้วเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ พอเข้ามาเก็บตัวทีมชาติ และเห็นรุ่นพี่ที่แข่งโอลิมปิคทีมชาติไทย พี่ไก่ ปวีณา ทองสุข และเริ่มมาเก็บตัวกับพี่เก๋ ปี 2008 ไปแข่งโอลิมปิค ปักกิ่งกับพี่เก๋ ปีนั้นพี่เก๋ได้เหรียญทอง และก็รู้ว่าเราอยากเป็นเหมือนพี่เขา ตอนไปรับพี่เก๋ที่สนามบิน เราตั้งใจว่าสักวันเราจะต้องได้อยากพี่เขา ให้ประชาชนคนไทยมารับเราที่สนามบิน หลังจากนั้นก็ฝึกซ้อมทุกวัน พักแค่วันเดียวในหนึ่งอาทิตย์ และใช้ความพยายามทุกวันจนได้มาถึงวันนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งของการเรียนปริญญาโท เรียนเสาร์-อาทิตย์ ตอนช่วงเก็บตัวโอลิมปิค วันเสาร์จะเป็นวันที่ต้องซ้อมหนักมาก ถามว่าท้อไหม มีบ้าง แต่เป็นอนาคตของเรา เราไม่อยากขาดเรียน เราอยากมีความรู้ เรียนเสร็จต้องกลับไปฝึกซ้อม จะเหนื่อยกว่าทุกคนที่ซ้อม เป็น 2 เท่า การฝึกซ้อมแต้วเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนเรียนก็จะทำกิจกรรมที่อาจารย์วางไว้อย่างเต็มที่ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่น จะซ้อมช่วง 6.00 โมง ถึง 7.00 โมงเข้า แต่งตัวเพื่อที่จะมาเรียนหนังสือ จริงๆ ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยดูแลแต้วด้วย เพราะแต้วจะบอกอาจารย์ว่าของแต้วจะมาเรียนช้าหน่อย และจะขอออกก่อนเวลาคือ บ่ายสามครึ่ง เพราะต้องเตรียมตัวซ้อม อาจารย์ก็อนุญาตเพราะรู้ว่าเรามีหน้าที่อีกส่วนหนึ่งที่ต้องไปทำ ผลงานสำคัญ และภาคภูมิใจ ของแต้วคือ 1 เหรียญเงิน การแข่งขันกีฬายกน้ำหนักโอลิมปิค 2016 ริโอเกมส์ ประเทศบราซิล ครั้งนี้ ขอบคุณทางมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ให้เกียรติแต้ว ได้รับความรู้เพื่ออนาคต แต้วจำได้ว่าที่เรียนมา ทั้งอาจารย์ ทั้งอธิการบดี ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ได้รับการดูแลให้ความอบอุ่น ดูแลนักกีฬาเหมือนลูก ให้ลูกได้เรียน ให้ลูกได้มีอนาคต น้องๆที่เป็นนักกีฬาและได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ รู้สึกดีใจ สำหรับแต้วต้องขอขอบคุณมากๆ ที่ทำให้แต้วได้รับความรู้และมีอนาคต ร่วมถึงเพื่อนๆร่วมรุ่นด้วย ต้องขอขอบคุณแทนน้องๆด้วยที่ทางมหาวิทยาลัยรับนักกีฬาเข้ามาเรียนที่นี่ แต้วก็ไม่มีอะไรจะตอบแทน นอกจากการทำชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้อาจารย์ ทำให้อธิการบดี มีรอยยิ้มในวันนี้ และแต้วต้องขอขอบคุณแรงใจแรงเชียร์ที่ทุกคนส่งมาให้กับแต้วและนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภทกีฬาและทุกคน แต้วเชื่อว่านักกีฬาทุกคนเป็นฮีโร่ของประเทศไทย และวันนี้ต้องขอขอบคุณคนไทยทั้งประเทศ และต้องขอขอบคุณชาวเชียงใหม่ที่แต้วได้มาอยู่ประมาณ 7 ปี แต้วเชื่อว่าวันนี้คนเชียงใหม่มีความสุขมีรอยยิ้ม และต้องขอบคุณท่านนายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักแห่งประเทศไทย ซึ่งแม่บุษบา จะมาดูการฝึกซ้อมของทุกคนทุกวัน แต้วเชื่อว่าเป็นความสุขของแม่บุษบา และเวลาเด็กได้เหรียญมาหรือแม้แต่แต้วที่ได้เหรียญในวันนี้ เชื่อว่าแม่บุษบาภูมิใจที่สุด ต้องขอขอบคุณแม่บุษบาที่ช่วยดูแลทั้งอาหารการกินที่นอน ทุกอย่างดูแลเหมือนลูก ตลอดเวลาที่อยู่เชียงใหม่ ขอบคุณค่ะ”
ร้อยเอกหญิงประภาวดี เจริญ รัตนธารากูล (เก๋) เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิค 2008 ปักกิ่งเกมส์ กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เพราะการเป็นนักกีฬา ยิ่งกีฬายกน้ำหนักต้องมีการเก็บตัวทั้งปี ต้องเรียนด้วย ซ้อมด้วย เป็นอะไรที่หนักมากๆ แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความช่วยเหลือ จนเก๋จบปริญญาตรีและปริญญาโท ที่นี่ให้อนาคต ที่นี่ให้การศึกษา ต้องบอกว่าทั้งอาจารย์ ทั้งเพื่อนช่วยเก๋หมด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เก๋จะจบพร้อมเพื่อน เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเก็บตัวเพื่อไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ แต่ก็คิดว่ายังไงการศึกษาก็สำคัญ เพราะอนาคตเมื่อเราเลิกเล่นกีฬา การศึกษาจะมาช่วยรองรับเรา ในเรื่องอาชีพในอนาคต ปัจจุบันเก๋ ทำงานที่กรมพลาธิการทหารบก จังหวัดนนทบุรีค่ะ”

ฮีโร่โอลิมปิก ริโอเกมส์ 2016 ประทับลายนิ้วมือ เพื่อนำเก็บไว้ในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
ฮีโร่โอลิมปิก ริโอเกมส์ 2016 ประทับลายนิ้วมือ เพื่อนำเก็บไว้ในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

ปิดท้ายความประทับใจด้วยความทรงจำดีๆ คือ การประทับลายนิ้วมือของนางสาวพิมศิริ ศิริแก้ว (แต้ว) นักกีฬายกน้ำหนักเหรียญเงิน กีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 13 (Rio Games 2016) และเหรียญเงิน กีฬาโอลิมปิค ครั้งที่30 (London Games 2012) เพื่อนำเก็บไว้สำหรับหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ สมแล้วกับรางวัล “NCU World Excellence”

นายณรงค์ ชวสินธุ์ กับสองฮีโร่โอลิมปิก
นายณรงค์ ชวสินธุ์ กับสองฮีโร่โอลิมปิก

ผศ.บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา
ผู้ช่วยอธิการบดี ม.นอร์ท-เชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น