ยืนยันน้ำปิงไม่ล้นตลิ่ง ชี้พ้นจุดวิกฤติแล้ว ทั่วเหนือฝนยังชุก ส่วนมากตอนล่าง

s__2293848กรมอุตุเตือนภาคเหนือ หลายจังหวัดยังมีฝนชุก ด้านกรมชลฯเตือนน้ำเหนือจากอิทธิพลของพายุ “ราอี” ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ส่งผลระดับน้ำเพิ่มมากขึ้น เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รับมือน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ขณะที่ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ ระบุระดับน้ำในแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเพิ่มสูงขึ้น แต่ยืนยันควบคุมได้และจะไม่เกิดภาวะล้นตลิ่งเข้าท่วมเมืองอย่างแน่นอน

วันที่ 20 ก.ย.59 นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงว่า จากฝนที่ตกหนักในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ พบว่าระดับน้ำปริ่มตลิ่ง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเป็นสถานการณ์ที่ยังสามารถควบคุมได้และจะไม่เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเวลานี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่อยู่ที ประมาณ200ลูกบาศก์เมตร/วินาที ขณะที่ระดับน้ำที่จะทำให้เกิดการล้นตลิ่งต้องเกินกว่า 440 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ระบุด้วยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันนี้ และไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม ดังนั้นจากนี้ระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประตูน้ำป่าแดดสามารถระบายน้ำได้สูงสุดถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ทางชลประทานไม่ได้เปิดประตูระบายน้ำทั้งหมดและใช้วิธีค่อยๆ ปล่อยระบายน้ำ เนื่องจากไม่ต้องการให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วเกินไปจนส่งผลกระทบต่อตลิ่งได้

ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พยากรณ์อากาศ ประจำวันอังคารที่ 20 กันยายน 2559 ลักษณะอากาศทั่วไป ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนลดลง ส่วนบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งและมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณดังกล่าวควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายของฝนสะสมและฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางได้แผ่ลิ่มลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ร่องมรสุมมีกำลังแรงขึ้นและได้เคลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้ ภาคเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร และตาก อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ จากอิทธิพลของพายุ “ราอี” ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้แม่น้ำสายหลักโดยเฉพาะแม่น้ำยม มีปริมาณน้ำจำนวนมาก และได้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์แล้ว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดเช้าวันที่ 19 ก.ย. 59 วัดระดับน้ำที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ได้ 21.86 เมตร(รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 4.34 เมตร(ตลิ่งสูง 26.20 เมตร(รทก.)) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากขึ้น กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยใช้พื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท รับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ตามศักยภาพที่สามารถรับน้ำได้ ซี่งจะไม่ให้กระทบต่อพื้นที่การเกษตร พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบัน(19 ก.ย. 59) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคือ พื้นที่ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และพื้นที่ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงบริเวณด้านท้ายของแม่น้ำน้อยด้วย

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าปริมาณน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกคันกั้นน้ำให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น