กรอ.ชงขอสนามบิน บ้านธิ-ห้างฉัตร ชี้ต้องทำ รับปัญหาเชียงใหม่คนล้น

b6-w18h8ที่ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ฟันธงต้องรีบมีท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 ด่วน ขีดกรอบไว้ 2 แห่ง ที่ อ.บ้านธิ ลำพูน กับที่ อ.ห้างฉัตร ลำปาง เตรียมหาที่ปรึกษาที่เป็นกลางทำการศึกษาให้ครบทุกมิติเพื่อนำเข้าพิจารณาอีกรอบ ชี้สนามบินเชียงใหม่ มีปัญหาใหญ่เรื่องการจราจรที่แก้ได้ยาก ด้วยทางเข้าทางออกทางเดียวกัน แจงบ้านธิแม้จะใกล้ก็ต้องสร้างระบบขนส่งมารองรับเช่นเดียวกันกับห้างฉัตรด้วย

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.59 ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด นายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยสาระสำคัญในการหารือเครื่องนี้เป็นเรื่องโครงการสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากทางหอการค้าจังหวัดลำปางได้นำเรื่องโครงการสร้างสนามบินนานาชาติพระนางเจ้าจามเทวี ที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ดังกล่าวเสนอต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด เพื่อสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจการบินและเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค แต่เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างยังเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของหน่วยงานที่รับผิดชอบเพราะต้องใช้พื้นที่ถึง 18,000 ไร่ และต้องมีการสำรวจก่อน ขณะเดียวกันก็ยังให้จังหวัดลำพูนไปสำรวจข้อมูลเขตพื้นที่การก่อสร้างที่ตั้งท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งใหม่ที่ ต.บ้านธิ จ.ลำพูน ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาและจัดทำแผนแม่บทท่าอากาศยานภูมิภาคไว้แล้ว

สำหรับโครงการสร้างสนามบินนานาชาติ พระนางเจ้าจามเทวี อ.ห้างฉัตร นั้น ทางบริษัท J.K.TELECOM Co.,Ltd ซึ่งมี นายจิรพันธุ์ คงพันธุ์ และ ดร.เคน สันติธรรม ได้เสนอโครงการผ่านทางหอการค้าจังหวัดลำปาง และกระทรวงคมนาคม เพื่อนำไปพิจารณาวางระบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันภายในกลุ่มเครือข่ายระบบสนามบินทั้งประเทศ โดยเปรียบเทียบความเหมาะสมในเขตพื้นที่ อ.บ้านธิ ที่ ทอท. ได้มีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทไว้ โดยอ้างว่าที่บ้านธิไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากจำนวนพื้นที่การก่อสร้างไม่เพียงพอ และพื้นที่อยู่ระหว่างรอยเลื่อนแม่ทา
ขณะที่พื้นที่ อ.ห้างฉัตรที่เสนอเข้ามาเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เอกชนเข้ามาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยอ้างว่าได้ประสาน พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผบ.มทบ.33 เพื่อขอการสนับสนุนนายทหารผู้ชำนาญการแผนที่ในการวางแผนเส้นทางเชื่อมระหว่างสนามบินนานาชาติพระนางจามเทวี อ.ห้างฉัตร ผ่านจังหวัดลำพูนมายังจังหวัดเชียงใหม่โดยก่อสร้างเป็น 2 ระบบเชื่อม คือ Express Way และ Airport Express Train

ที่ประชุมได้เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น และนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผวจ.เชียงใหม่ ได้สรุปเบื้องต้นว่า ประเด็นนี้ที่ประชุมน่าจะเห็นตรงกันแล้วว่า ควรที่จะมีสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 เนื่องจากท่าอากาศยานเชียงใหม่แม้ว่าจะได้งบประมาณมาสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม แต่ปัญหาทางเข้าทางออกยังคงมีอยู่เช่นเดิม เพราะสนามบินเชียงใหม่ไม่ได้สร้างทางเข้าออกแยกกันเด็ดขาดชัดเจน จึงเกิดปัญหาการจราจรภายในสนามบินตลอดเวลา แต่สนามบินแห่งใหม่แห่งที่ 2 จะเป็นที่ไหนระหว่างที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน หรือที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งตรงนี้จะลงทุนโดยภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อความรอบครอบในทุกมิติและผลกรทบต่อสิ่งแวดล้อม ควรที่จะมีหน่วยงานที่ปรึกษาที่เป็นการเพื่อเข้ามาดูในบริบทภาพรวมของการทำท่าอากาศยานในที่ต่างๆ มาประกอบ ซึ่งกลุ่มก็ต้องสรุปหรือโฟกัสไปเพียงพื้นที่ 2 แห่งนี้คือที่บ้านธิและที่ห้างฉัตร เพื่อให้การศึกษาตรงประเด็น แล้วนำผลการศึกษาเข้าสู่ที่ประชุม กรอ. ซึ่งผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ประชุม กรอ.กลุ่มฯ

มติที่ประชุม กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มีว่าที่ประชุมเห็นชอบที่จะให้มีการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 เพราะมีความจำเป็นเนื่องจากสนามบินนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แม้จะท่าอากาศยานเชียงใหม่มีแผนขยายและปรับปรุงเพื่อรองรับผู้โดยสารได้เพิ่ม แต่ก็ยังเห็นว่าควรจะมีการเตรียมสนามบินแห่งใหม่ไว้ด้วย โดยมีพื้นที่ทางเลือก 2 แห่งคือ ที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งเป็นโครงการที่ภาคเอกชนเสนอและลงทุนเอง กับที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ที่บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท .ได้มีการจ้างที่ปรึกษาจัดทำการศึกษาและทำแผนแม่บทไว้แล้ว ให้ระดับนโยบายไปศึกษาให้ครอบคลุมทุกบริบท

ด้าน นายวีระยุทธ สุขวัฒฑโก ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคเหนือ กล่าวว่า ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯเองเห็นด้วยที่ควรจะมีการเตรียมการสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ไว้ เพราะสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ปัจจุบันประสบปัญหาทางด้านการจราจร ความแออัดของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากที่รองรับได้ 4-5 ล้านคนต่อปีเพิ่มเป็น 7-8 ล้านคนต่อปี และการสร้างสนามบินแห่งใหม่ต้องใช้เวลา ดังนั้น กรอ.กลุ่มฯ ก็เคยมีมติตั้งแต่ครั้งก่อนแล้วว่าเรื่องพื้นที่นั้นมีอยู่ 2 ทางเลือกคือที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูนที่ ทอท. ศึกษาไว้แล้ว กับที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ที่เอกชนเสนอเข้ามา

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แห่งก็มีจุดแข็ง จุดอ่อนที่ต่างกันที่ อ.ห้างฉัตรเอกชนเสนอลงทุนเอง แต่ที่ อ.บ้านธิ รัฐต้องเป็นผู้ลงทุนและยังมีเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะทำให้ค่าลงทุนในการก่อสร้างต่างกันและเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ โดยที่ห้างฉัตรก็ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีถึงสนามบินนานาชาติปัจจุบันส่วนที่บ้านธิก็ใช้เวลา 20 กว่านาทีซึ่งก็ถือว่าไม่ไกลและไม่ใช้เวลามากสำหรับสนามบินนานาชาติ เพราะขนาดสนามบินนาริตะของญี่ปุ่นยังใช้เวลาเดินทางเข้าเมืองถึง 1 ชั่วโมง

“ตอนนี้ผู้ที่จะตัดสินใจคือรัฐบาล เพราะค่าลงทุน ค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืนที่ดินที่ อ.บ้านธิ จะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ส่วนที่ อ.ห้างฉัตร ลงทุนน้อยแต่ก็ต้องควบคุมหรือบริหารให้ดีไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาโฮบเวล 2 ขึ้นมาได้ และเมื่อไหนๆ ก็มีการเสนอทางเลือกไปแล้วทางสภาฯก็เลยเสนอให้ศึกษาแห่งที่ 3 ไปด้วยเลยคือที่อ.ดอยหล่อซึ่งทางเชียงใหม่เคยมีการเสนอไปแล้วเพราะมีเนื้อที่เกือบ 1 หมื่นไร่ เพราะเป็นที่ของทหารการลงทุนอาจจะน้อยกว่าที่บ้านธิและห้างฉัตรด้วย” ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น