สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานสนับสนุนทุน มช. สร้างงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

b-9-jpg นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน ลงนามพร้อมมอบทุนสนับสนุนโครงการวิจัยพลังงานให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ “โครงการศึกษา วิจัย และพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2559 พื้นที่ภาคเหนือ” เมื่อวันที่ผ่านมา ณ.โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว

โครงการนี้ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแม่ข่ายงานวิจัยพื้นที่ภาคเหนือในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อศึกษาวิจัยด้านพลังงานในกลุ่มที่มีศักยภาพสูง 3 ชุดโครงการ ได้แก่ ชุดที่ 1 ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชุดที่ 2 ภาคการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมผลไม้ และชุดที่ 3 ภาคการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพด โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้

เป็นหนึ่งในการพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกัน และจัดทำเป็นชุดโครงการวิจัย (Packages) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกและแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยบูรณาการองค์ความรู้ที่เป็นสหวิทยา (Multi Disciplines) ทั้งนี้ สนพ. ได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ตามภาคต่างๆ ของประเทศสร้างงานวิจัยด้านพลังงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมทั้งสร้าง เครือข่ายนักวิจัย ซึ่งมีเป้าหมายให้นำงานวิจัยดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ได้จริง และตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น

b-10-jpgทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ใน 3 ชุดโครงการ จำนวน 10 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 40,951,410 บาท ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตถ่านชีวภาพจากขยะอินทรีย์ (Organic Waste) ด้วยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอไนเซชั่น (Hydrothermal Carbonization) , โครงการศึกษาต้นแบบการหมักย่อยแบบแห้งเพื่อการจัดการขยะมูลฝอยจากจุดท่องเที่ยวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากสลัดจ์บ่อเกรอะ โดยกระบวนการย่อยสลายร่วม , โครงการการศึกษาศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนจากเศษวัสดุเหลือทิ้งของโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน , โครงการการเพาะเลี้ยงสาหร่ายจากน้ำเสียในอุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ เพื่อผลิตเอทานอล ภายใต้การจัดการแบบไม่มีของเสีย , โครงการการพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวฝักข้าวโพดพร้อมสับย่อยต้นข้าวโพดขณะเก็บเกี่ยว เพื่อแก้ปัญหาการเผาไร่ และประยุกต์ใช้เป็นเชื้อเพลิง , โครงการศึกษาแผนการตลาดของเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในภาคเหนือ, โครงการการผลิตก๊าซไบโอไฮโดรเจนจากซังข้าวโพดด้วยกระบวนการหมักแบบไม่ใช้แสง, โครงการระบบตารางเดินรถสองแถวแดงแบบแอคทีฟและการพัฒนาแอพโทรศัพท์มือถือ และโครงการศึกษาศักยภาพอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนพื้นที่ภาคเหนือและพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพอนุรักษ์พลังงาน โครงการทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดงานวิจัย เพื่อนำไปใช้จริงกับเขตพื้นที่ภาคเหนือ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นภาคที่ดำเนินเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการใช้พลังงานที่ของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม

ร่วมแสดงความคิดเห็น