ปมร้อน สรรหาอธิการฯ มช. สภามหา’ลัยฯ ออกมาชี้แจงแบบนี้

s__2564099

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ก.ย.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล ปฏิบัติการแทนอธิบดีในงานฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มช. พร้อมด้วย รศ.นพ.ศุภชัย เชื้อรัตนพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรม , รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร อุปนายกสมาคมนักศึกษาเก่า มช. และ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารงานทั่วไปและกฎหมาย ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวต่อคณะสื่อมวลชน ถึงกรณีที่มีข่าวปรากฎในสือสังคมออนไลน์ว่ามีผู้ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรณีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีมติด้วยเสียงข้างมากให้เสนอชื่อ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 9 พ.ย.59 เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สืบต่อไปอีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.59 เป็นต้นไป อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในเรื่องคุณสมบัติของผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี การเข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.59 ของรองศาสตราจารย์ นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งการลงมติของกรรมการสภามหาวิทยาลัยในการคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อวันที่ 23 ก.ค.59 ตามที่มีข่าวปรากฎออกมาภายในสื่อเมื่อวานนี้ (22 ก.ย.59) นั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทาง รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล ปฏิบัติการแทนอธิบดีในงานฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับ 2 หน่วยงานด้วยกันตามประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสื่อ คือเรื่องของสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอีกองค์กรซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเป็นนิติบุคคลแยกส่วนกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีข้อบังคับและการดำเนินการที่เป็นเอกเทศคือ สมาคมนักศึกษาเก่า มช. ซึ่งเนื้อหาที่เกิดขึ้นในสือที่ปรากฎนั้นมีหลายอย่างที่เกิดความคลาดเคลื่อน และอาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน โดยไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งประโยคแรกที่เจอก็มีความคลาดเคลื่อนแล้วคือคำว่า “เลือกตั้ง” โดยข้อเท็จจริงแล้วมีความแตกต่างกันมากกับคำว่า “สรรหา” ดังนั้นการดำเนินการได้มาซึ่งอธิการบดีคนต่อไปนั้นเป็นกระบวนการ “สรรหา” มิใช่กระบวนการ “เลือกตั้ง” โดยกระบวนการสรรหาจะเกิดจากคณะกรรมการซึ่งมีการแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัยไปคัดสรรเอาผู้ที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งตามโจทย์ที่สภาได้ให้ไว้ว่า คนที่จะเป็นอธิการบดีคนต่อไปควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร และต้องมาพัฒนา มช.อย่างไร และไม่ได้มองเพียงความนิยมเพียงอย่างเดียว

s__2564098

ขณะเดียวกัน อีกส่วนที่ได้มีการพูดถึงคือเรื่องของคุณสมบัติของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต ที่เป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่อธิการบดีคนปัจจุบันเป็นลักษณะต้องห้ามในเรื่องของเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ และมีการอ้างถึงมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวที่ให้การคุ้มครองหรือให้ยกเว้นตรงจุดนี้ ซึ่งในสื่อได้ระบุเพียงแค่ว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างสำหรับกรณีนี้ได้ ไม่ได้อธิบายว่าทำไมใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความขาดตอนในเรื่องของเหตุและผล ขณะที่การดำเนินงานในส่วนของมหาวิทยาลัยมีทั้งเรื่องบทบัญญัติและข้อกฎหมายที่ได้มีการตีความอย่างชัดเจนแล้วว่า ทำไมถึงไม่โดนข้อห้ามและลักษณะต้องห้ามข้อนี้ แต่ในสื่อก็ไม่ได้อธิบายเพียงแต่อ้างว่าใช้ข้อนี้ไม่ได้ และดูค่อนข้างจะไม่ยุติธรรม และมีเหตุผลที่อ่อนลงไป

นอกจากนี้ในข้อที่มีการระบุถึง นายกสมาคมนักศึกษาเก่า นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ที่ได้มีการระบุว่าได้หมดวาระไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ในสื่อก็ไม่ได้ระบุว่าที่ท่านมาประชุมสภามหาวิทยาลัยนั้นได้ประชุมในฐานะรักษาการ ซึ่งคำดังกล่าวมีความหมายมาก ซึ่งตกคำนี้ไปทำให้หลายคนเข้าใจว่าหมดวาระไปแล้วแต่ทำไมยังมานั่งประชุมในสภา ซึ่งข้อเท็จจริงคือยังดำรงตำแหน่งรักษาการนายกสมาคมนักศึกษาเก่า มช. ที่ยังมีสิทธิ์เต็มเหมือนกับนายกสมาคมฯ ตราบใดที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมา ผู้ดำรงตำแหน่งคนเก่าก็สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ดดยในสื่อก็ไม่ได้ระบุลงไปทำให้ข้มูลไม่ครบถ้วน

s__2310147

รศ.ธีรภัทร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของคุณสมบัติตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตาม พ.ร.บ.ที่ระบุถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นอธิการบดี ได้กล่าวไว้จริงว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะต้องไม่อยู่ในคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งในข้อหนึ่งที่พูดถึงคือ คุณสมบัติการเป็นตำแหน่งนักการเมือง และถามว่า สนช. เป็นหรือไม่ จริงๆ แล้วถือว่าเป็น ซึ่งหมายความว่าจะไม่สามารถเป็นอธิการบดีได้ แต่ถ้าดูในข้อเท็จจริงก็จะมีในเรื่องของทาง คสช.ได้ระบุถึงมาตรา 41 ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรานี้เป็นมาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าในปี 2557 ถือว่าเป็นกฎหมายใหญ่กว่ากฎหมายของมหาวิทยาลัย และถือเป็นกฎหมายของประเทศที่มีการอ้างตามรัฐธรรมนูญมาตรา 41 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา” ซึ่งตรงจุดนี้อยากเรียนว่าตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการสรรหาหรือกรรมการสรรหานั้นก็ได้มีการศึกษาเรื่องนี้มาก่อนแล้ว และไม่ใช่ว่าเกิดเรื่องจึงค่อยมาศึกษา เนื่องจากจุดนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งตามข้อบังคับนั้นกระบวนการสรรหาจะต้องดำเนินการอย่างน้อย 240 วัน ก่อนที่อธิการบดีคนปัจจุบันจะปลดวาระ ซึ่งเรื่องนี้ทางกรรมการก็ได้ให้ความสนใจมาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ 1 ในกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นองค์ประกอบของการสรรหายังเป็นนักกฎหมายระดับชาติ ซึ่งก็ได้ให้ข้อมูลว่าสามารถใช้มาตรานี้ในการยกเว้นได้ นั้นคือจะไม่ขัดกับคุณสมบัติต้องห้าม

ขณะเดียวกันในส่วนของขั้นตอนการลงมติรับจะต้องอ้างถึงข้อบังคับของการประชุมและวิธีการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากจะทำโดยพละการไม่ได้ และการประชุมสภาก้จะต้องทำตามข้อบังคับที่ระบุไว้ โดยการลงมติซึ่งมีระบุในข้อ 9.8 นั้น ก็มีการลงมติให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.มีการลงมติแบบเปิดเผย 2.เป็นการลงมติแบบลับ โดยการลงมติแบบลับนั้นจะอยู่ในดุลยพินิจของกรรมการสภา ซึ่งในวันนั้นและเป็นแนวปฏิบัติทุกครั้งที่มีการสรรหาอธิการบดีก็จะมีการลงมติลับทุกครั้งดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะกรรมการสภาก็มีความเห็นตรงกันว่าให้มีการลงมติลับ และการลงมติลับก็มีการปฏิบัติที่เป็นไปตามข้อบังคับคือ เขียนสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษที่ทางเจ้าหน้าที่จัดให้ตามในที่ประชุมกำหนด หรือวิธีอื่นให้ซึ่งในที่ประชุมเห็นสมควร ดังนั้นจึงถือว่าขั้นตอนการลงมติลับอยู่ในดุลยพินิจของกรรมการสภาในวันนั้น ซึ่งถือเป็นวิธีที่ใช้ทุกครั้งในการสรรหาอธิการบดี จึงไม่ได้มีการพูดถึงการปิดผนึกใส่ซองหรือมีหีบเลือกตั้ง และไม่ใช้แนวปฏิบัติขิงวัฒนธรรม มช. และได้ทำอย่างโปร่งใส

โดยในวันที่จัดประชุมมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 25 ท่าน และมีเจ้าหน้าที่ของทางสภามหาวิทยาลัยที่ได้ขอให้มาช่วย 3-4 ท่าน อยู่ช่วยในวาระนี้เนื่องจากเป็นวาระลับ ดังนั้นผู้ไม่เกี่ยวข้องจะไม่อยู่ในที่ประชุม และจะเหลือเฉพาะกรรมการสภา 25 ท่าน กับเจ้าหน้าที่ 3-4 ท่าน ที่อำนวยความสะดวกอำนวยความสะดวกกับเลขาธิการกรรมสภาเท่านั้น และได้มีการมอบกระดาษเพื่อให้เขียนสัญลักษณ์ที่มีชื่อของ 2 ท่าน อยู่ในกระดาษ และเจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่แจกกระดาษให้กับ 25 ท่านที่อยู่ในวันนั้นซึ่งอยู่ในสายตาของกรรมการสภาทุกคน เมื่อดำเนินการเสร็จเจ้าหน้าที่ก็จะเก็บแล้วนำมารวบรวมไว้ที่โต๊ะประธาน คือนายกสภาจากนั้นก็จะมีกรรมการสภา 3 ท่าน ในจำนวนทั้งหมด 25 ท่าน เป็นคนอ่านและเป็นคนขีดความถี่บนกระดาน จนกระทั่งได้ผลมติออกมาตามตัวเลขที่ปรากฎ ดังนั้นในเรื่องของการลงมติไม่มีอะไรที่ไม่โปร่งใสและได้ทำตามขั้นตอนข้อบังคับทุกประการและคิดว่าการกล่าวอ้างในข้อความของสื่ออาจเป็นผลมาจกาการที่ไม่ได้ศึกษา หรือไม่ทราบธรรมเนียมปฏิบัติของ มช.อย่างแท้จริง และมั่นใจว่าทุกขั้นตอนที่ดำเนินการนั้นได้เป็นไปอย่างรอบคอบมากที่สุด

s__2310148

ส่วนในเรื่องของประเด็น นากยกสมาคมนักศึกษาเก่า ตามข้อมูลที่ปรากฎ คือ นายกสมาคมนักศึกษาเก่าหมดวาระวันที่ 30 มิ.ย.59 แต่วันที่มีการประชุมสภาที่มีการลงมติ คือวันที่ 23 ก.ค.59 พบว่าเข้ามาร่วมประชุมได้อย่างไร ประเด็นดังกล่าว ทางด้าน รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร อุปนายกสมาคมนักศึกษาเก่า มช. กล่าวว่า ทางนายกคนเดิมคือ รองศาสตราจารย์ นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี นั้นได้หมดวาระจริงตามที่ระบุในข่าว แต่กระบวนการในการที่จะได้ นายกฯ คนใหม่ขึ้นมานั้นจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการที่จะต้องไปจดทะเบียนต่อจังหวัด ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่จะต้องไปรวบรวมกรรมการบริหารชุดใหม่ขึ้นมาแล้วจึงไปส่งต่อให้กับทางอำเภอเมืองเชียงใหม่ จากนั้นก็จะส่งต่อไปยังจังหวัดเพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามเพื่อเป็นการแต่งตั้งแล้วส่งกลับมา ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวได้มีการเลือกตั้งทางออนไลน์เมื่อวันที่ 20-21 มิ.ย.59 และได้ชื่อนายกคนใหม่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.59 และในกระบวนการจะต้องเลือกหากรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแล้วส่งไปที่อำเภอ ซึ่งหมายความว่าระหว่างนั้นนายกสามคมคนเดิมคือ รองศาสตราจารย์ นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ยังคงปฏิบัติหน้าที่หรือว่ารักษาการเป็นนายกสมาคมนักศึกษาเก่าอยู่

โดยที่นายทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศจดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นใหม่ทั้งชุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค.59 โดยสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับแจ้งประกาศจดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมฯ จากอำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.59 เวลา 15.00 น. ตามหนังสือ ที่ ชม.0118/5227 ลงวันที่ 22 ก.ค.59 ซึ่งทางสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีหนังสือ ที่ สก.มช. 025/2559 ลงวันที่ 26 ก.ค. 59 ส่งถึงสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แจ้งว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณาอนุญาตให้จดทะเบียนการแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมฯ เรียบร้อยแล้ว จึงขอแจ้งการเปลี่ยนชื่อนายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นนายซวง ชัยสุโรจน์ เพื่อเข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในครั้งต่อไป ดังนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.59 จนถึงวันที่ 25 ก.ค.59 รศ.นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี จึงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีอำนาจตามหน้าที่สำหรับการลงมติของกรรมสภามหาวิทยาลัยในการคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 59 ทุกประการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น