นำร่องพัฒนาขีดความสามารถ ท่องเที่ยวชุมชนเหนือตอนบน

b2-w9h5สำนักงานบริการวิชาการ มช. จัดการประชุมเพื่อนำเสนอผลโครงการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท่องเที่ยวสามารถต่อยอดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และการจัดการอย่างยั่งยืน หวังพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชุมชน

นายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผู้ว่าราชกาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมประชุมเพื่อนำเสนอผลโครงการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ศูนย์ปฏิบัติการรวมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (Regional Operation Center : ROC) โดยมี ผศ.ปฐม ปฐมธนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ห้องทองกวาว ชั้น 2 สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย นายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผู้ว่าราชกาลจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เวทีแห่งนี้จะเป็นเวทีการนำเสนอของการดำเนินการพัฒนาเรื่องของธุรกิจ บริการ อุตสาหกรรมทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือซึ่งเป็นเครื่องยนต์คือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคงจะเคยได้ยินเรื่องของการส่งออก การค้า การลงทุนต่างๆ การท่องเที่ยว ทั้งนี้ถือได้ว่าเรื่องของการท่องเที่ยวนั้น ถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนประเทศ จะเห็นได้จากรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งมีมูลค่าสูง จะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประชาติ ล้วนมีความประทับใจและมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะมาเที่ยวในจังหวัดของกลุ่มภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้เกิดการยอดในการพัฒนาทางด้านภาคธุรกิจ บริการ และอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงวิถีถิ่น วิถีไทย ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลและถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ที่จะถึงนี้

นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในแผนแห่งชาติ แผนฉบับที่ 12 กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา ภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งในแผนประกอบด้วยความเห็นของการพัฒนาของแต่ละภูมิภาค ในภาคเหนือกำหนดก็จะเป็นเศรษฐกิจมูลค่าสูง ผ่านเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว เศรษฐกิจจากการแลกเปลี่ยนเชิงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และฐานเศรษฐกิจในเชิงของวิธีที่ มีวิถีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยว เพื่อจะก่อให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เห็นถึงจุดเด่นและรวมถึงศักยภาพในการที่จะต่อยอดศักยภาพ การจะพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ สำหรับในโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่มีเป้าหมายที่นอกจากจะพัฒนาบุคลากรแล้ว ยังพัฒนาชุมชนและพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้วย ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นหัตถกรรม ผ้าทอ สิ่งทอ เครื่องจักสาน งานศิลปะต่างๆที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เกิดจากผู้มีปัญญาของชุมชน ส่วนภาคนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต่อยอดนำทางสูวิธีการท่องเที่ยวลงชุมชน การท่องเที่ยวโดยวิถีถิ่น วิถีไทย วิถีของล้านนา วิถีของอารยธรรมทางภาคเหนือ ซึ่งผลพวงของการที่การดูแลที่ยังพัฒนาระบบ พัฒนาคน งบประมาณบ้างแล้วก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ให้กับบุคลากร ให้กับระบบบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนเป็นเรื่องที่มีความสนใจของชาวต่างประเทศและชาวไทยในบางส่วน สำหรับชาวต่างประเทศนั้นเกิดความสนใจ จึงเข้าศึกษาจากตำรา ศึกษาจากหนังสือ ศึกษาจากคู่มือ ที่เป็นการแนะนำการท่องเที่ยว และก็อยากมาสัมผัสชีวิตจริงอยากจะมาสัมผัสสภาพบรรยากาศที่ได้เห็นจากเอกสาร อินเทอร์เน็ต และจะได้มาเรียนรู้ ความเเป็นสภาพชุมชนและหมู่บ้าน ในประเทสไทยและภาคเหนือ

รองผู้ว่าราชกาลจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับชุมชนที่ถูกคัดเลือกมา ทั้ง 16 หมู่บ้าน ต่างก็จุดเด่นที่ได้ผ่านกระบวนการที่จะพัฒนาและนำสิ่งที่มีมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน และสิ่งที่ควรระวังอย่างยิ่งและขอเน้นย้ำก็คือในเรื่องของระบบการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อความเจริญเข้ามา หากระบบบริหารจัดการยังไม่ดีพอจะทำให้ชุมชนนั้นเกิดความวุ่นวายมากขึ้น ดังนั้นชุมชนควรปฏิบัติตามวิถีของชุมชนและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต วางระบบบริหารจัดการให้ดี ด้วยความร่วมมือของชุมชน ความร่วมมือของทุกคนในหมู่บ้าน จะช่วยให้สามารถสร้างระบบหารจัดการที่ดีได้ ยกตัวอย่าง คือ หากนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ จะเกิดขยะ การขาดระเบียบวินัย มีการส่งเสียงดัง และการที่ยังไม่เข้าใจธรรมเนียมประเพณี ก็ก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อพี่น้องเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดความรำคาญ เป็นต้น ซึ่งหากชุมชนมีการวางระบบการบริการจัดการที่ได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้เช่นกัน

ด้าน ผศ.ปฐม ปฐมธนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยสำนักบริการวิชาการ ได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการร่วมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ดำเนินโครงการการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนในท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเชิงการต่อยอดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และการจัดการอย่างยั่งยืน 2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท่องเท่ยวในเขตกลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนบน ( เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา เเพร่ และน่าน ) 3. เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม 4. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน (ประชารัฐ) การจัดประชุมในวันนี้เป็นการประชุม เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะก่อให้เกิดกระจายรายได้สู่ชุมชนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น