นายแพทย์สาธารณสุขพิษณุโลก เผยอัตราฆ่าตัวตายเมืองสองแคว ชายมากกว่าหญิง เกือบครึ่งอายุเกินครึ่งร้อย

 นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก

นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า “สหพันธ์สุขภาพจิตแห่งโลก” ได้ประกาศร้องขอไปยังนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยให้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมเป็น “วันสุขภาพจิตแห่งโลก” และขอความร่วมมือให้ร่วมกันจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพจิต ในวันดังกล่าวทุกปี สำหรับ จ.พิษณุโลก สถานการณ์ที่เป็นสิ่งบ่งชี้สุขภาพจิตของประชาชนได้ส่วนหนึ่ง จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุข จ.พิษณุโลกพบว่า ในปี 2558 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.28 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าอัตราการฆ่าตัวตายของภาพรวมประเทศ ขณะที่ในปี 2559 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 5.73 พบเป็นเพศชายถึงร้อยละ 82 อายุที่พบมาก คือ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 48 สาเหตุจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง การเจ็บป่วยทางจิต และการขัดแย้งกับคนใกล้ชิด

สำนักงานสาธารณสุข จ.พิษณุโลกได้ใช้ 4 มาตรการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ 1. คัดกรอง ประเมิน บำบัดรักษา และติดตามกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างใกล้ชิด 2. เพิ่มการเข้าถึงบริการ ค้นหาเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ อาทิ ผู้ที่มีประวัติฆ่าตัวตายและมีความรุนแรงในครอบครัว มีปัญหาติดสุรา โรคจิต โรคซึมเศร้า และโรคเรื้อรัง ให้เข้าสู่ระบบบริการช่วยเหลือดูแล 3. พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยน่าเชื่อถือ นำเสนอข้อมูลปัญหาของ แต่ละเขตบริการสุขภาพ เพื่อใช้กำกับติดตามประเมินสถานการณ์และวางแผนแก้ไขปัญหา ได้อย่างตรงจุดและ 4.ยกระดับปัญหาการฆ่าตัวตายให้เป็นปัญหาระดับชาติ เพื่อประสานความร่วมมือองค์กรภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพจิตใส่ใจสัญญาณเตือน ป้องกันการฆ่าตัวตาย ลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง

สำนักงานสาธารณสุข จ.พิษณุโลก จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันแก้ไขปัญหา การฆ่าตัวตายซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ที่สำคัญสามารถป้องกันได้ ทุกคนช่วยได้ โดยขอให้เริ่มต้นที่ “ครอบครัว” ด้วยการสร้าง “3 ส.” ได้แก่ การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) สื่อสารดีต่อกัน (Communicate) และใส่ใจซึ่งกันและกัน (Care) ซึ่งนับเป็นวัคซีนสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมลงได้ ประชาชนยังสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง นอกจากนี้ สามารถดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น sabaijaiทั้งในระบบ android และ ios เพื่อประเมินภาวะเสี่ยงต่อการ ทำร้ายตนเอง นอกจากนี้หากบุคคลใกล้ชิดหรือตนเองมีความเครียด ควรรับการดูแลจากจิตแพทย์ อย่ามองหรือคิดว่าจะต้องเป็นคนสติไม่ดีเท่านั้นที่จะต้องพบจิตแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไว้เข้าสู่ภาวะซึมเศร้าจะมีโอกาสฆ่าตัวตายสูง.

ร่วมแสดงความคิดเห็น