พิพิธภัณฑ์วัดเกตุ แหล่งความรู้คู่ชุมชน

dsc_0647ย่านวัดเกต เป็นดุจเพชรเม็ดงามที่ส่องประกายร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของอดีตเชียงใหม่ในรูปแบบวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย ท่านจะได้สัมผัสถึงประเพณี วัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลามและซิกข์ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว อีกทั้งลมหายใจแห่งอดีตย่านการค้าทางเรือของเชียงใหม่ยังคงไม่จางหายไปจากอดีต

ชุมชนท่าวัดเกต เป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก จากเอกสารของวัดเกตการามระบุว่า วัดนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ.1971 รัชสมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984) กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 8 จนถึงวันนี้วัดเกตการาม จึงมีอายุกว่า 580 ปีพอดี

dsc_0584

ในยุคสมัยรุ่งเรืองของการค้าขายทางเรือระหว่างเชียงใหม่กับหัวเมืองทางใต้จนถึงกรุงเทพฯ (พ.ศ.2317-2464) ท่าน้ำวัดเกต จึงถือเป็นย่านเศรษฐกิจของการขนส่งทางน้ำที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ยุคนี้เองที่เริ่มมีคนต่างถิ่นต่างเชื้อชาติและศาสนาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านวัดเกต ซึ่งได้แก่กลุ่มพ่อค้าชาวจีน ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งสำนักงานทำไม้ในภาคเหนือ ชาวมุสลิมจากปากีสถาน อินเดียและชาวซิกข์จากแคว้นปัญจาบในอินเดีย ด้วยเหตุนี้ทำให้ชุมชนวัดเกตมีความหากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากการที่มีศาสนสถานถึง 4 ศาสนาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงคือ วัดเกตการามของชาวพุทธ คริสตจักรที่ 1 ของชาวคริสต์ มัสยิดอัตตักวาของชาวมุสลิมและวัดซิกข์

ช่วงปี พ.ศ.2464 เมื่อรัฐบาลได้มีการสร้างทางรถไฟจากเด่นชัยมาถึงเชียงใหม่และได้เข้ามามีบทบาทด้านการค้าและการขนส่งแทนการขนส่งทางน้ำ การค้าขายทางเรือจึงลดความสำคัญลงและหายไป ยุคของท่าน้ำวัดเกต อดีตศูนย์กลางเศรษฐกิจของเชียงใหม่จึงยุติลง ชุมชนวัดเกตกลายเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยของลูกหลานบรรพบุรุษที่มาตั้งถิ่นฐานค้าขายในยุคแรก ๆdsc_0581

จากความสำคัญของอดีตชุมชนการค้าทางเรือในยุครุ่งเรืองของเชียงใหม่ ทำให้สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและชาวบ้านชุมชนวัดเกต จัดงานเสวนา “ฮ่วมกึ๊ดฮ่วมใจ พัฒนาวัดเกต” เมื่อปี พ.ศ.2542 อันนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวบ้านวัดเกตตื่นตัวและตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม เกิดความรู้สึกหวงแหนมีความกระตือรือร้นในการอนุรักษ์และพัฒนาวัดเกตร่วมกัน ขณะเดียวกันกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เข้ามาช่วยในการวางผังการใช้พื้นที่วัด ทำชุมชนวัดเกตให้เป็นย่านที่อยู่เย็นเป็นสุข สามารถรักษาของเก่าไว้เพื่อบอกเล่าตำนานความเป็นมาของชุมชนนี้แต่หนหลัง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกตการาม จึงถือกำเนิดขึ้นจากความสำคัญดังกล่าว

dsc_0585

พิพิธภัณฑ์วัดเกตตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการที่ชาวบ้านได้ช่วยกันซ่อมแซมกุฏิเก่า หรือโฮงตุ๊เจ้าหลวง เป็นอาคารตึกทรงจีนอายุกว่าร้อยปีซึ่งเป็นกุฏิของพระครูชัยศีลวิมล อดีตเจ้าอาวาสวัดเกตการาม หลังจากที่บูรณะแล้วชาวบ้านได้นำเอาหน้าบัน หน้าแหนบของวิหารหลังเก่ามาเก็บรักษาไว้ จนกระทั่งชาวบ้านเห็นความสำคัญก็เริ่มนำข้าวของเครื่องใช้โบราณ เช่น ถ้วยเก่า ผ้าเก่า เงินโบราณ รวมถึงเครื่องจักสานล้านนาที่หายากนำมามอบให้วัด เมื่อเห็นว่ามีของเก่าอยู่มากทางวัดจึงได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกตขึ้น โดยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2543

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกต นับว่าเป็นอีกพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่มีสิ่งของโบราณหายากจัดแสดงไว้มากมาย ได้แก่ พระพุทธรูปแบบล้านนาและพม่า เครื่องถ้วยชามโบราณกว่า 1,000 ชิ้น และสิ่งของที่นับหาดูได้ยากยิ่งที่สุดในยุคนี้ก็คือ ธงช้างเผือก ซึ่งใช้ประดับบ้านเรือนเพื่อต้อนรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในวโรกาสที่เสด็จประพาสหัวเมืองล้านนาและตาลปัตรสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นยังจัดแสดงผ้าโบราณของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีและนิทรรศการภาพเก่าเมืองเชียงใหม่ในอดีต โดยของเก่ากว่าครึ่งในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกตได้รับมอบจากนายอนันต์ ฤทธิ์เดช เจ้าของเฮือนรัตนา

dsc_0567

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกต จึงนับเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่อยู่คู่ชุมชนเปรียบดั่งเพชรเม็ดงามที่ส่องประกายร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของอดีตเชียงใหม่ในรูปแบบวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย ดังนั้นเมื่อมีโอกาสลองแวะเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนวัดเกต ก่อนเข้าไปซึมซาบเรื่องราวอดีตชุมทางการค้าทางเรือของเชียงใหม่

วัดเกตในวันนี้จึงมีทั้งของเก่าและของใหม่ มีทั้งย่านที่อยู่อาศัยและย่านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบเฉพาะของวัดเกต ซึ่งรอคอยที่จะบอกเล่าเรื่องราวให้กับผู้มาเยือน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกต เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-5320-4273

dsc_0614

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น