น่านเดินเครื่องเชื่อม เครือข่ายผ้าทอมือ

จังหวัดน่านร่วมกับ อพท.น่าน เปิดเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายผ้าทอมือชุมชน เพื่อการพัฒนาผ้าทอพื้นเมือง นำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองน่านมาต่อยอดสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณค่า สู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเดินหน้ายกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ ภายใต้ Brand “น่านเน้อเจ้า” ส่งผลให้มีรายได้เข้ามาพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มทอผ้าเมืองในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เปิดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อพัฒนาผ้าทอมือ พร้อมยกระดับสู่ Brand “น่านเน้อเจ้า” ตามแนวคิด ทอวิถี สานวัฒนธรรม และวางรากฐานเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคต ในเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อพัฒนาผ้าทอมือ Brand “น่านเน้อเจ้า” ณ ห้องประชุมโรงแรมเวียงแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เปิดเผยว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองน่าน ภายใต้ Brand “น่านเน้อเจ้า” นำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองน่านมาต่อยอดสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณค่า สู่ชุมชน ให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พัฒนาจากทุนชีวิต ทุนวัฒนธรรมและทุนจากการท่องเที่ยวของพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมีสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลบ่อสวก กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้ และกลุ่มทอผ้าบ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง เข้าร่วมโครงการพัฒนาดังกล่าว

สำหรับปีนี้ อพท. มอบหมายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่าน Brand “น่านเน้อเจ้า” เพื่อเดินหน้ายกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ Brand “น่านเน้อเจ้า” และการเสริมศักยภาพพลังกลุ่มให้แข็งแรง ร่วมวางแผนการดำเนินงานพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนงาน ผ่านการทำงานหลากหลาย อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างคุณค่าสู่มูลค่า การพัฒนาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์นำไปสู่เป้าหมายร่วมคือ รายได้เติบโตและเป็นที่จดจำต่อไป

อย่างไรก็ตามผ้าทอเมืองน่าน เป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนเมืองน่าน และความสำคัญของชุมชนที่เป็นผู้สรรค์สร้างผ้าทอมือด้วยวิถีการทอที่ร่วมสืบทอดกันมา จึงได้มีการดำเนินโครงงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่าน Brand “น่านเน้อเจ้า” โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ทอผ้า กลุ่มแปรรูป กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ประกอบการ เครือข่ายด้านการตลาดและหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เพื่อสร้างคุณค่าผ้าทอพื้นเมืองน่าน สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองน่านจาก 5 ตำบล ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เข้ามาพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น