เร่งแก้ปัญหา น้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่ ต.ป่าแดด

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่
นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่

หมู่บ้านโฮมศิริ ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ได้ทางออก เตรียมติดตั้งประตูน้ำทางเดียวปิดกันน้ำจากเหมืองไหลย้อนเข้าหมู่บ้าน ชลประทานเชียงใหม่ยื่นข้อเสนอให้ทุกหน่วยงานร่วมถกวางระบบระบายน้ำใหม่ทั้งหมด เหมืองยังมีความสำคัญพื้นที่เกษตรกว่า 800 ไร่ยังใช้ประโยชน์ แจงสาเหตุหลักมาจากพื้นของหมู่บ้านอยู่ในระดับต่ำมาก เผยเหมืองท่าวังตาลและลำเหมืองสาขาทุกเส้นประกาศเป็นเขตชลประทานหลวงแล้ว น้ำเสียจะปล่อยโดยไร้การบำบัดลงคลองชลประทานอีกไม่ได้ การก่อสร้างลำเหมืองเส้นหลักเสร็จในสิ้นปี 59 นี้ ชลประทานเชียงใหม่รับลูกก่อสร้างต่อให้เต็มระบบ

ที่หมู่บ้านโฮมศิริ หมู่ที่ 8 บ้านเกาะกลาง ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทาน ร่วมกับ นายวีระชัย ไชยมงคล กำนันตำบลป่าแดด นางยุพิน ตนมิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ผู้นำท้องที่ กรรมการหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลป่าแดด ลงพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรโฮมศิริ ซึ่งได้รับการร้องเรียนผ่านไลน์กลุ่มข่าวสารชลประทานกับสื่อมวลชนเชียงใหม่ กรณีน้ำจากลำเหมืองด้านท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นแขนงของลำเหมืองท่าวังตาลย้อนเข้าท่อระบายน้ำของหมู่บ้านส่งผลให้น้ำท่วมในหมู่บ้านโฮมศิริ เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

หลังจากลงตรวจพื้นที่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “เชียงใหม่นิวส์” ว่า ปัญหาของโฮมศิริมีอยู่ 2 ประเด็น คือ ในช่วงฤดูฝนน้ำในลำเหมืองท้ายหมู่บ้านมีระดับสูงกว่าระดับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านส่งผลให้น้ำในลำเหมืองไหลย้อนเข้ามาในหมู่บ้านทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตหมู่บ้าน ประเด็นที่ 2 ในช่วงหน้าแล้งมีน้ำเสียจากบ้านในหมู่บ้านไหลลงลำเหมืองท้ายหมู่บ้านในจุดเดียวกันและส่งกลิ่นรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน

แนวทางแก้ไขเบื้องต้นจะใช้ประตูน้ำทางเดียวมาปิดตรงปลายท่อระบายน้ำของหมู่บ้านเพื่อไม่ให้น้ำจากลำเหมืองไหลย้อนเข้ามาในหมู่บ้าน แต่การแก้ไขในระยะยาวต้องไปดูที่ต้นเหตุ ซึ่งจุดนี้ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา ประเด็นก็คือพื้นที่บริเวณนี้ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร ซึ่งได้ประสานกับผู้ใหญ่บ้านในทำหนังสือไปยังอำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อขอให้ทางอำเภอเมืองเชียงใหม่เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาคุยกัน ว่าใครจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ หากไม่ครบระบบปัญหาก็จะยังคงอยู่เช่นนี้ตลอดไป นายเจนศักดิ์ฯ กล่าว

“ลำเหมืองเส้นเป็นลำเหมืองแขนงที่แยกมาจากลำเหมืองท่าวังตาลซึ่งรับน้ำมาจากหน้าประตูระบายน้ำท่าวังตาล ลำเหมืองแขนงเส้นนี้เป็นลำเหมืองฝั่งขวาของลำเหมืองพญาคำ ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ในอนาคตชลประทานมีแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงระบบส่งน้ำในลำเหมืองเส้นนี้ โดยต้องมีการวางแผนว่าระดับที่ควรจะเป็นไม่มีผลกระทบจะอยู่ในระดับเท่าไร หากยังปล่อยให้เป็นลำเหมืองดินอย่างเช่นปัจจุบันตะกอนดินก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดก็จะระบายน้ำไม่ได้ ขณะนี้ระดับท้องลำเหมืองค่อนข้างสูงกว่าพื้นและระดับท่อของหมู่บ้าน แต่เดิมลำเหมืองคงไม่สูงขนาดนี้ท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างหมู่บ้านนี้แต่ต้นในระดับต่ำเช่นนี้สามารถระบายน้ำได้ เมื่อเกิดการตื้นเขินขึ้นเรื่อยๆ การระบายน้ำในระดับท่อที่ต่ำกว่าลำเหมืองจึงเกิดปัญหา” ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าว

นายเจนศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า ลำเหมืองแขนงเส้นนี้มีเกษตรกรด้านท้ายลำเหมืองที่ต้องใช้น้ำจากลำเหมืองนี้ราว 800 ไร่ ซึ่งประเด็นน้ำเสียจากหมู่บ้านเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องมาพูดคุยกัน โดยเฉพาะเทศบาลในพื้นที่ จะต้องหาทางออกร่วมกันในการที่จะต้องบำบัดน้ำเสียจากหมู่บ้านก่อนที่จะปล่อยลงลำเหมือง หากประเด็นนี้ก่อให้เกิดปัญหามากๆ ในส่วนของท้องถิ่นเองก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ และในส่วนของชลประทานซึ่งลำเหมืองท่าวังตาลและลำเหมืองแขนงทั้งหมดซึ่งได้ประกาศเป็นเขตชลประทานหลวงไปแล้ว ก็จะมีเรื่องการบังคับตาม พ.ร.บ.ชลประทานหลวง ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ การห้ามเอาน้ำเสียลงในระบบชลประทานหลวง

สำหรับลำเหมืองท่าวังตาลซึ่งได้ประกาศเป็นเขตชลประทานหลวงไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงลำเหมืองทั้งหมดโดยเริ่มจากลำเหมืองสายหลักโดยก่อสร้างคลองชลประทานในลำเหมืองท่าวังตาลเดิมเป็นแบบตัวยู ซึ่งเริ่มทำการก่อสร้างไปแล้วโดยสำนักก่อสร้างใหญ่ กรมชลประทาน จะเริ่มจากสายหลักก่อนแล้วจึงจะก่อสร้างในสายย่อย หากลำเหมืองซึ่งเป็นสายรองหลักหมู่บ้านนี้เริ่มทำการก่อสร้าง ระดับคลองชลประทานอาจจะส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำของหมู่บ้านได้ ปัญหาของหมู่บ้านนี้ก็จะแก้ไม่จบ เนื่องจากระดับพื้นของหมู่บ้านต่ำมาก

ส่วนคลองชลประทานสายหลักในลำเหมืองท่าวังตาลเดิมที่ออกแบบเป็นตัวยูซึ่งก่อสร้างไปแล้วนั้นเดิมนั้นออกแบบได้ถูกต้องแล้ว เพราะการคำนวณจากประตูระบายน้ำที่นำน้ำเข้าสู่ระบบและพื้นที่ชลประทานบริการสามารถรองรับน้ำไปเลี้ยงทั้งระบบได้เพียงพอ ปัญหาอยู่ที่ช่วงฤดูฝนซึ่งจะมีน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเติมเพิ่ม ซึ่งจะทำให้น้ำเต็มในคลองตัวยูได้ แนวทางแก้ไขจะได้มีการสำรวจแนวลำเหมืองเดิมว่าอยู่ถึงจุดไหนเพื่อออกแบบก่อสร้างงานดาดคอนกรีตคลองขึ้นไปให้อีกชั้นเพื่อรับน้ำ อีกทั้งยังจะเป็นการป้องกันการบุกรุกเขตลำเหมืองท่าวังตาลอีกทางด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและมีการปักแนวเขต ราวสิ้นปี 2560 นี้ผู้รับผิดชอบงานขณะนี้คือสำนักก่อสร้างใหญ่ ก็จะส่งมอบงานให้แก่สำนักชลประทานเชียงใหม่ ก็จะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้เต็มระบบต่อไป โดยทั้ง 3 ฝายรวมประตูระบายน้ำท่าวังตาล ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรประมาณ 3 หมื่นไร่เร่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น