เศรษฐกิจย่ำแย่!! ลุกลาม ฉุดดัชนีเชื่้อมั่นลดฮวบ

b-4

“ถ้าเกิดว่าเรื่องยังไม่ไปถึงภาครัฐ SMEs ต้องพึ่งพาตัวเองให้เยอะขึ้น อย่ามองว่าต้องพึ่งพาภาครัฐเสมอ เพราะว่างบประมาณของประเทศมีจำกัดต้องกระจายไปหลายภาคส่วน บางทีงบยังมาไม่ถึง แต่ถ้ารออย่างเดียวก็จะช้าไป เพราะฉะนั้น SMEs ของไทยจะต้องมีการปรับตัวด้วยการใช้ข้อมูล เวลาทำอะไรไม่ใช่ว่าต้องลองผิดลองถูก เพราะว่าจะผิดมากกว่าถูก นั่นคือต้องมีข้อมูลมาพิจารณาให้รอบคอบ ยิ่งภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันต้องยิ่งเพิ่มความรอบคอบให้มากขึ้น ถ้าตัดสินใจดีแล้วโอกาสที่ผิดพลาดจะลดลง ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมาย ถ้าอยากหาหรือสำรวจก็สามารถสำรวจเองได้ เช่น ถ้าเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหนึ่งร้าน ไม่ใช่ว่ามีที่ดินตรงนี้ก็จะเปิดเลย สิ่งที่ SMEs ควรทำต้องศึกษาอย่างจริงจังว่าตรงนี้มีความต้องการไหม ในบริเวณที่จะเปิดขายหรือกลุ่มเป้าหมายของเรามีคู่แข่งหรือไม่ ต้องมีความใหม่ในตัวที่คนนี้ทำสำเร็จแล้วต้องทำตามทันที โอกาสที่จะเกิดยากขึ้นมาก และยิ่งขณะนี้มีการเกิดและปรับร้านอย่างรวดเร็วพอธุรกิจของเราเกิดใหม่คนเห็นก็เปิดตามทันที การรับมือต้องพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือให้ตลอดทันท่วงที ต้องทันสมัย ต้องหาความแตกต่างร้านให้เจอ”

ผศ.ปิยพรรณ และ ผศ.ดร.ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย
ผศ.ปิยพรรณ กลั่นกลิ่น และ ผศ.ดร.ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย

ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือเตือนเศรษฐกิจตกต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นมีระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภค วอนรัฐกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและสนับสุนนการส่งออกอย่างจริงจังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ พร้อมเสนอแนวทางต่อผู้ประกอบการ SMEs ให้พึ่งพาตัวเองและปรับตัวตามผู้บริโภค เน้นความใหม่ แตกต่าง ดึงกลุ่มลูกค้า

เมื่อวันที่ผ่านมา ผศ.ดร.ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย และผศ.ปิยพรรณ กลั่นกลิ่น ในนามศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ดำเนินการจัดสัมมนา “SMEs 4.1 สายพันธุ์ใหม่”ณ ห้องอินทนิล สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนา SMEs ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบัน และก้าวทันต่อกระแสตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอรายงานสถานการณ์และดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และบุคคลที่สนใจเข้ารับฟังในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วยSMEs โดยในการจัดสัมมนาได้มีการบรรยายในหัวข้อต่างๆเช่น “รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิต (SMEs Manufacturing Sentiment Index:SMSI)” ที่ทางศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นเครื่องมือวัดความเชื่อมั่นของภาคการผลิตสำหรับธุรกิจ SMEs ซึ่งได้มีการเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณ นัฏฐา ตุณสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัย จาก สสว. เข้าร่วมงาน

ผศ.ดร. ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย ประธานโครงการศูนย์เตือนภัยธุรกิจ ภาคเหนือ (BWC) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือ ได้มองว่า ไม่ว่าจะเป็นยอดซื้อ ปริมาณการผลิต เรื่องของการมีสินค้าคงคลัง ต้นทุน การจ้างงาน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดูเหมือนดีขึ้น แต่ไตรมาสที่ 3 เหมือนจะแย่ลง ซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขของดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 ทั้งหมดเลย ดัชนีต่ำกว่าในระดับ 50 ที่นี้ คือ โดยภาพรวม SMEs มองว่าเกิดความไม่เชื่อมั่นในประเด็นต่างๆ ทั้งยอดซื้อ การผลิตสินค้า กำไร การจ้างงานรวมไปถึงต้นทุน สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นหรือเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจำกัดอยู่ในบางธุรกิจ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามองค์ประกอบด้านผลประกอบการ จะเห็นได้ว่าไตรมาตรที่ 3 เห็นได้ชัดว่าลดลงมามาก ซึ่งส่วนใหญ่ลดลงหมดลงยกเว้นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ส่งให้ระบบอุตสาหกรรมทางขนส่ง

“แนวโน้มของไตรมาตรที่ 4 ถ้าเทียบกับแต่ละปีที่ผ่านมาช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ High Season โดยทั่วไปจะสูงขึ้นมา ผลที่ตามมาคือดีขึ้นซึ่งเป็นเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมาโดยช่วงต้นปีและปลายปีจะสูงทั้งคู่แต่ระหว่างปีผลจะลดลงจะเป็นรูปแบบนี้ทุกๆ ปี ซึ่งปัจจุบันประชาชนได้ออกผลสำรวจต่อรัฐบาลและคาดหวังว่ารัฐจะนำเอาไปปรับใช้เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจต่อไป ถ้ามองเชิงของธุรกิจแต่ละประเภทจะพบว่า ร้านอาหาร ไม้ เครื่องแต่งกายแย่ลงเยอะมาก ในไตรมาตรที่ 3 แต่ในขณะที่ยาง พลาสติก คอมพิวเตอร์ ลดลงน้อยมาก ดัชนี้ชี้ตัวเลข 40 กว่า แทบจะยังเชื่อมั่นได้ เพราะฉะนั้นหมายความว่า ผู้ซื้ออาจจะเป็นตัวอุตสาหกรรมที่ซื้อไว้ใช้ต่อเนื่องไม่ใช่ผู้บริโภค ซึ่งมีออเดอร์อยู่แล้วตลอดทั้งปี แต่ในขณะที่ อาหารหรือร้านอาหาร เครื่องแต่งกาย อาจจะเป็นผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป พอเศรษฐกิจไม่ดีก็จะได้รับผลกระทบตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาอัตราภาษี ให้มีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในเรื่องของการส่งออก และช่วยหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต “ผศ.ดร. ชัยวุฒิ กล่าว

b-2

ผศ.ปิยพรรณ กลั่นกลิ่น กรรมการโครงการศูนย์เตือนภัยธุรกิจ ภาคเหนือ กล่าวว่า อาหารจำเป็นต่อการดำรงชีพจริง แต่อาหารที่ขายอยู่ในร้านอาหารขนาดใหญ่หรือภัตตาคารที่มีราคาแพง การตกแต่งสวย บริการดี ซึ่งความต้องการหลักของอาหารคือกินเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด กินเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของร่างกายให้อิ่มไป และเมื่อผู้บริโภคสามารถประหยัดได้ ด้วยการซื้อจากที่ตลาดหรือทำเองที่บ้าน ราคาก็จะลดลง แต่ถ้าไปทานที่ภัตตาคารราคาก็จะเพิ่มขึ้นมาที่ 100 หรือ 1,000 บาท ซึ่งจำนวนนี้สามารถเก็บเอาไว้ใช้อย่างอื่นได้ ธุรกิจอาหาร ร้านอาหารที่มีขนาดกลางไปถึงขนาดใหญ่เลยค่อนข้างที่จะได้รับผลกระทบ แต่ถ้าเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารตามสั่งก็ยังสามารถที่จะอยู่ได้เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น

ประธานโครงการศูนย์เตือนภัยธุรกิจ ภาคเหนือ กล่าวย้ำอีกว่า ถ้าเกิดว่าเรื่องยังไม่ไปถึงภาครัฐ SMEs ต้องพึ่งพาตัวเองให้เยอะขึ้น อย่ามองว่าต้องพึ่งพาภาครัฐเสมอ เพราะว่างบประมาณของประเทศมีจำกัดต้องกระจายไปหลายภาคส่วน บางทีงบยังมาไม่ถึง แต่ถ้ารออย่างเดียวก็จะช้าไป เพราะฉะนั้น SMEs ของไทยจะต้องมีการปรับตัวด้วยการใช้ข้อมูล เวลาทำอะไรไม่ใช่ว่าต้องลองผิดลองถูก เพราะว่าจะผิดมากกว่าถูก นั่นคือต้องมีข้อมูลมาพิจารณาให้รอบคอบ ยิ่งภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันต้องยิ่งเพิ่มความรอบคอบให้มากขึ้น ถ้าตัดสินใจดีแล้วโอกาสที่ผิดพลาดจะลดลง ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมาย ถ้าอยากหาหรือสำรวจก็สามารถสำรวจเองได้ เช่น ถ้าเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหนึ่งร้าน ไม่ใช่ว่ามีที่ดินตรงนี้ก็จะเปิดเลย สิ่งที่ SMEs ควรทำต้องศึกษาอย่างจริงจังว่าตรงนี้มีความต้องการไหม ในบริเวณที่จะเปิดขายหรือกลุ่มเป้าหมายของเรามีคู่แข่งหรือไม่ ต้องมีความใหม่ในตัวที่คนนี้ทำสำเร็จแล้วต้องทำตามทันที โอกาสที่จะเกิดยากขึ้นมาก และยิ่งขณะนี้มีการเกิดและปรับร้านอย่างรวดเร็วพอธุรกิจของเราเกิดใหม่คนเห็นก็เปิดตามทันที การรับมือต้องพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือให้ตลอดทันท่วงที ต้องทันสมัย ต้องหาความแตกต่างร้านให้เจอ

ผศ.ปิยพรรณ กล่าวต่อว่า จะเห็นว่าร้านกาแฟจะมีทุกๆ ที่ เพราะว่า คนไทยชอบทำอะไรเป็นแฟชั่น เห็นเขาทำอะไรฉันก็จะทำตาม ซึ่งปัจจุบันต้องหาความแตกต่างของเราโดยเฉพาะให้เจอ ถ้าความสามารถในเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริหารที่ผู้บริโภคต้องการในช่วงเวลานั้นและต้องเสนอให้ได้แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ยังดี และเราก็ปรับตัวตามผู้บริโภคไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาของ SMEs ไทย ไม่มีการเปลี่ยนตามผู้บริโภค เคยขายอย่างไรก็จะขายแบบนี้ตลอด ด้วยปัจจุบันต้องมีนวัตกรรมมีความใหม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ต้องแปลก แตกต่าง จากคู่แข่ง ถ้าจับ 3 ประเด็นนี้ได้อย่างน้อยก็พอมีพื้นฐานในการทำธุรกิจได้

อนึ่งผลที่ได้จากการสำรวจ : ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับความต้องการการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐบาล ความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุน 3 อันดับแรก คือลำดับ ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ร้อยละ 1. กระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ให้มีความคึกคักมากขึ้น 2. แก้ไขปัญหาอัตราภาษีที่อยู่ในระดับสูง 3. สนับสนุนการส่งออก และให้ความรู้ด้านการส่งออกแก่ผู้ประกอบการ SMEs 4.ช่วยลดต้นทุนการผลิต 5. จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ 6. แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนให้มีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น 7.สนับสนุนการท่องเที่ยว 8. แก้ไขปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง 9. หาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการ SMEs 10. แก้ไขปัญหาคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Manufacturing Sentiment Index : SMSI)

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Manufacturing Sentiment Index : SMSI) โดยศูนย์เตือนภัยทางธุรกิจภาคเหนือ (BWC) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลโดย ผศ.ดร. ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย ประธานโครงการศูนย์เตือนภัยธุรกิจ ภาคเหนือ และ ผศ.ปิยพรรณ กลั่นกลิ่น กรรมการโครงการศูนย์เตือนภัยธุรกิจ ภาคเหนือ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นการสำรวจความคิดเห็นและการคาดการณ์ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจึงสามารถใช้ดัชนีที่ได้ในฐานะตัวชี้วัดสภาพรวมการดำเนินธุรกิจในไตรมาสที่จะมาถึง ซึ่งการจัดทำดัชนี SMSI อาศัยการสำรวจและทำการเก็บข้อมูลจากการทำแบบสอบถามจากผู้ประกอบการภาคการผลิต ในภาคเหนือ500 คน

การจัดทำดัชนี SMSI จะพิจารณาจากองค์ประกอบ 6 ด้านในการดำเนินธุรกิจของ SMEs ที่สำคัญ ได้แก่ 1. กำไร 2. ยอดขาย 3. ต้นทุนธุรกิจ 4. การจ้างงาน 5. การลงทุนและ 6. การใช้กำลังการผลิต ซึ่งจะมีการดำเนินการสำรวจจาก 5 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร สาขาการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย สาขาการผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเลกทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยค่าดัชนี SMSI ที่ได้จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 100 ถ้าค่าดัชนีมีค่ามากกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการโดยรวมคาดการณ์ว่าองค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าค่าดัชนีมีค่าน้อยกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการ โดยรวมคาดว่า องค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่ลดลง ในกรณีที่ค่าดัชนีมีค่าเท่ากับ 50 หมายถึง ผู้ประกอบการ โดยรวมคาดว่าองค์ประกอบนั้นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือคงอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสำหรับดัชนี SMSI ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2559 สามารถแสดงดังภาพที่ 1และ 2

ภาพที่ 1 แสดงข้อมูลดัชนี SMSI จำแนกตามสาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 2559
ภาพที่ 1 แสดงข้อมูลดัชนี SMSI จำแนกตามสาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 2559

จากภาพที่ 1 ดัชนี SMSIประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2559 พิจารณาแยกตามสาขาอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีทุกสาขาอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 ซึ่งได้แก่ สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร สาขาการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย สาขาการผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเลกทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับดัชนีSMSI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีรวมทุกสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวในทิศทางที่ลดลงเมื่อเทียบกับดัชนีในปัจจุบัน โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 31.3 จากค่าดัชนีที่ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อสถานะการณ์ทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ดี นอกจากนี้ดัชนี SMSI ยังสามารถจำแนกได้อีกตามแต่ละองค์ประกอบของดัชนี ซึ่งสามารถแสดงได้ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2แสดงข้อมูลดัชนี SMSI จำแนกตามองค์ประกอบของดัชนีไตรมาสที่ 3 ปี 2559
ภาพที่ 2แสดงข้อมูลดัชนี SMSI จำแนกตามองค์ประกอบของดัชนีไตรมาสที่ 3 ปี 2559

จากภาพที่ 2 เมื่อพิจารณาดัชนี SMSI ของเดือนปัจจุบันแยกตามองค์ประกอบได้แก่ ด้านยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ด้านปริมาณการผลิต ด้านสินค้าคงคลัง ด้านต้นทุนประกอบการ ด้านกำไรสุทธิ และด้านการจ้างงาน พบว่าค่าดัชนีทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50.0 และเมื่อพิจารณาดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าแยกตามองค์ประกอบพบว่า ค่าดัชนีด้านยอดรับคำสั่งซื้อและด้านปริมาณการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น แต่ดัชนีด้านสินค้าคงคลัง ด้านต้นทุนการประกอบการ ด้านกำไรสุทธิ และด้านการจ้างงานมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ลดลง และค่าดัชนีแยกตามองค์ประกอบทุกตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบมีความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบด้านดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่ดี ทั้งในเดือนปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกิจการในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ ได้แก่ ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงาน ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชนลดลง และการลดลงของความต้องการสินค้าและบริการซึ่งเมื่อใช้ข้อมูลดัชนี SMSI ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2559 จะสามารถทราบถึงสถานการณ์ความเชื่อมั่นของภาคการผลิตในปีนี้ได้ ดังภาพที่ 3 และ 4

ภาพที่ 3แสดงข้อมูลดัชนีSMSI จำแนกตามสาขาอุตสาหกรรมในปี2559
ภาพที่ 3แสดงข้อมูลดัชนีSMSI จำแนกตามสาขาอุตสาหกรรมในปี2559

จากภาพที่ 3 แสดงข้อมูลดัชนี SMSI จำแนกตามสาขาอุตสาหกรรมในปี 2559 ช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ถึงไตรมาสที่สาม ทั้ง 5 สาขาอุตสาหกรรมมีค่าดัชนีSMSI ที่สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในระดับที่ต่ำ โดยค่าดัชนีส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตามจะพบว่าในช่วงไตรมาสที่สาม ค่าดัชนี SMSI ในทุกกลุ่มยกเว้นกลุ่มสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารมีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อมองในภาพรวมจะพบว่า สถานการณ์ความเชื่อมั่นของภาคการผลิตในปี 2559 ในแต่ละช่วงชองปี ผู้ประกอบการในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมมีมุมมองต่อสภาวะการณ์ทางการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างๆกันไป ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แต่ละสาขาอุตสาหกรรม มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน จึงอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก จากสภาพเศรษฐกิจ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

ภาพที่ 4แสดงข้อมูลดัชนีSMSI จำแนกตามองค์ประกอบของดัชนีในปี 2559
ภาพที่ 4แสดงข้อมูลดัชนีSMSI จำแนกตามองค์ประกอบของดัชนีในปี 2559

ในส่วนของดัชนีSMSI จำแนกตามองค์ประกอบของปัจจัยกำหนดค่าดัชนี ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต สินค้าคงคลัง ต้นทุนการประกอบการ กำไรสุทธิ และการจ้างงาน ตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งถึงไตรมาสที่สาม ค่าดัชนีทุกองค์ประกอบสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในระดับที่ต่ำในทุกไตรมาส โดยค่าดัชนีส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่สอง ยกเว้นในด้านยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวมและต้นทุนการประกอบการที่มีการปรับตัวลดลง สำหรับไตรมาสที่สาม ค่าดัชนีส่วนใหญ่มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นด้านปริมาณการผลิตและสินค้าคงคลังที่มีการปรับตัวลดลงจากช่วงไตรมาสที่สองจะพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ต่ำในทุกไตรมาส สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการSMEs ภาคการผลิต ยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนในการประกอบการอย่างมาก ซึ่งคาดว่ามีผลกระทบอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาสที่ผ่านมา

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ผลจากการสำรวจความเชื่อมั่นในภาพรวมของผู้ประกอบการในภาคการผลิต ภูมิภาคเหนือ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ทางธุรกิจอยู่ในระดับไม่ค่อยดีนักซึ่งจากดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนจะแสดงให้เห็นว่าปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

b-3

ร่วมแสดงความคิดเห็น