“โรงเรียนพระราชชายา” โรงเรียนสตรีแห่งแรกของเชียงใหม่

dsc_03884
คณะมิชชั่นนารีชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสยามประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ ดร.แดนบีช แบร์ดเลย์ หรือที่รู้จักในเวลาต่อมาชื่อว่า “หมอบรัดเลย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคสมัยใหม่และท่านยังเป็นผู้นำวิชาการพิมพ์มาสู่สยามประเทศเป็นคนแรก

ซึ่งหากจะว่าไปก่อนหน้าที่หมอบรัดเลย์จะเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานั้น ได้มีคณะมิชชั่นนารีกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในสยามประเทศ ผู้ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในเวลนั้นก็คือ บิชอป ปาเลกัวซ์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสอนภาษาลาตินและโหราศาสตร์ให้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวช

กระทั่งในปี พ.ศ.2406 ดร.โจนาธาน วิลสันและ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี ได้เดินทางขึ้นมาสำรวจหัวเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้นเรียกว่า มณฑลพายัพ เพื่อเผยแพร่พระศาสนาแต่ต้องยกเลิกการเดินทางครั้งนี้ไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2410 ดร.แดเนียล แมคกิลวารีพร้อมด้วยโซเฟีย ภรรยาได้เดินทางมาเชียงใหม่อีกครั้ง จุดมุ่งหมายในการเดินทางมาเชียงใหม่ของ ดร.แดเนียลครั้งนี้เพื่อก่อตั้งคริสต์จักรและเผยแพร่คริสต์ศาสนาในนครเชียงใหม่ แต่การดำเนินงานในช่วงแรกของมิชชั่นนารีเหล่านั้นก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่การเดินทางโดยทางเรือขึ้นมาตามลำน้ำปิงซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่า 3 เดือน จนมาถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2410 นอกจากนั้นแล้วในช่วงระหว่างที่มิชชั่นนารีพำนักอยู่ในเชียงใหม่ก็ต้องทนกับสายตาของคนเมืองเชียงใหม่ที่พากันมามุงดูพวกกุลาขาว หรือ กุลาเผือกอยู่นานกว่าจะทำความคุ้นเคยกัน

dsc_03885หลังจากที่ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี หรือ หมอแดเนียล ได้ทำความคุ้นเคยกับชาวบ้านและประกาศจุดมุ่งหมายในการที่จะเป็นผู้สอนศาสนา รักษาโรคและตั้งโรงเรียนแล้ว หมอแดเนียลจึงได้ออกสำรวจชาวบ้านพบว่า ในนครเชียงใหม่มีสตรีเพียง 2 คนเท่านั้นที่สามารถอ่านออกเขียนได้ นอกจากนั้นก็จะเป็นเด็กชายที่ได้บวชเรียนจากวัดต่าง ๆ มาแล้ว เพราะสมัยนั้นเวลาที่จะเรียนหนังสือจะสอนกันในวัดเท่านั้น ดังนั้นคนที่เคยบวชเรียนมาก่อนจึงมีโอกาสในการรู้หนังสือมากกว่าเด็กผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสเรียน

สิ่งแรกที่หมอแดเนียลจะต้องทำในเวลานั้นก็คือ การจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้นเสียก่อน เพราะหลังจากที่ออกเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปแล้วนั้นมีครอบครัวที่มาเข้ารีตคริสต์ศาสนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นหญิงมากกว่าชาย

ในปี พ.ศ.2413 เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 พระบิดาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้พระราชทานที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนสตรีสันป่าข่อยขึ้นในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงทางตะวันออก (ปัจจุบันเป็นคริสต์จักรที่ 1 เชียงใหม่) และบ้านพักของมิชชั่นนารีอีก 2 หลัง ในการก่อสร้างโรงเรียนครั้งแรกนั้นมีนักเรียนที่มาเข้าเรียนประมาณ 20 คน ซึ่งสอนเป็นภาษาพื้นเมือง ต่อมาเด็กนักเรียนเรียกร้องให้สอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจนกระทั่งได้เปิดสอนวิชาภาษาไทยควบคู่ไปด้วย

dsc_03889

โรงเรียนสตรีแห่งนี้ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2412 เมื่อมีครูแหม่มเดินทางมาจากพระนคร 2 คน คือ มีสเอ็ดน่า โคล์ด และมีสแมรี่ แคมป์แบล โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสตรี” จนถึงปี พ.ศ.2452 มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเป็น 200 คน และเมื่อคราวที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จเดินทางขึ้นมาเยือนนครเชียงใหม่และมีโอกาสเสด็จเข้าเยี่ยมโรงเรียนสตรี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2452 ทรงให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานฝีมือเย็บปักถักร้อย งานทอผ้าและการฟ้อนรำแบบพื้นเมืองแก่นักเรียนทั้งหลาย ทางคณะมิชชั่นนารีจึงทูลขอให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงตั้งชื่อโรงเรียน ซึ่งหลังจากนั้นพระราชชายาจึงได้ทรงโทรเลขไปกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานชื่อโรงเรียนสตรีแห่งนี้ว่า “โรงเรียนพระราชชายา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกของเชียงใหม่ควบคู่กับโรงเรียนชายวังสิงห์คำ ซึ่งได้รับชื่อพระราชทานจากเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ฯ ว่า “ปรินซ์รอยแยล คอลเลจ”

dsc_03887 หลังจากที่โรงเรียนพระราชชายาได้รับความสนใจจากชาวเชียงใหม่ส่งบุตรีเข้าเรียนในโรงเรียนนี้ แต่ด้วยพื้นที่ที่คับแคบเกินไปจึงทำให้คณะมิชชั่นนารีได้ขอซื้อที่ดินบริเวณตำบลหนองเส้ง ประมาณ 57 ไร่เพื่อก่อสร้างอาคาร 2 หลังคือ อาคารเรียนที่ใช้เป็นหอพักสำหรับนักเรียนประจำและบ้านพักสำหรับอาจารย์ฝรั่ง จนกระทั่งปี พ.ศ.2466 เมื่อตึกเรียนและบ้านพักอาจารย์สร้างแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายโรงเรียนมาที่แห่งใหม่เป็นบางชั้นเรียกว่า “ดาราเหนือ” ส่วนบริเวณโรงเรียนพระราชชายานั้นเรียกว่า “ดาราใต้” โดยเปิดสอนระดับชั้นอนุบาลและประถมเท่านั้น

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยพระกรณียกิจที่ทรงอุปถัมภ์บำรุงต่อแวดวงการศึกษาของเชียงใหม่ จึงทรงได้รับการเทิดพระเกียรติว่า ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีบทบาทสำคัญที่สุดพระองค์หนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของนครเชียงใหม่

ด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา พระราชชายาทรงมีความสนพระทัย ในศิลปวัฒนธรรมทั้งของล้านนาและภาคกลาง ไม่ว่าจะในเรื่องการละคร ดนตรี งานประดิษฐ์ ศิลปะการทอผ้า การเย็บปักถักร้อย สิ่งใดของล้านนาที่ทรงเห็นว่าควรอนุรักษ์ไว้ก็โปรดให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่เป็นศิลปที่เชิดหน้าชูตาของชาวเหนือ ในส่วนของการฟ้อนรำพื้นเมืองเหนือนั้น ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก โปรดให้มีการฝึกซ้อมเพื่อออกแสดงในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ฟ้อนที่ทรงโปรดให้ฝึกและฟื้นฟู ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านเม่เล้ ฟ้อนมอญ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ซึ่งได้ทรงปรับปรุงมาจากระบำในราชสำนักของพม่า

นอกจากนั้นยังมีพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติต่อเนื่องอีกมากมายหลายประการ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วถูกสืบทอดมาจากภูมิปัญญาของคนล้านนาในอดีต และด้วยเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาและยังเป็นการอนุรักษ์รักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมาไม่หายสูญหาย

dsc_03886เอกสารประกอบ
บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา,โรงเรียนแห่งแรกของเชียงใหม่.ศิลปวัฒนธรรม.2541
นงเยาว์ กาญจนจารี,ดารารัศมี.สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์.เชียงใหม่.2539

จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น