งานสำรวจพรรณไม้ในเชียงใหม่ ของคณะสำรวจชาวต่างชาติ

dsc_6565หนังสือชื่อ Durch Koing Tschulalongkorns Reich ซึ่งเขียนโดย ดร.โฮสซิยุส นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงการเดินทางสำรวจพรรณไม้บนยอดดอยอ่างกา หรือ ดอยอินทนนท์ได้สำเร็จในเดือนมกราคม พ.ศ.2448 ซึ่งถือเป็นบันทึกเล่มแรกที่นักพฤกษศาสตร์ชาวต่างเขียนถึงการสำรวจพรรณไม้ในเมืองเหนือ

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน มีบันทึกในปี พ.ศ.2233 สมัยของพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาว่ามี นาย อี.แคมป์เฟอร์ แพทย์ชาวเดนมาร์กประจำเรือของคณะทูตผู้ดูแลอาณานิคมด้านอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ได้แวะผ่านมาทางปากน้ำเจ้าพระยาและลงสำรวจพรรณไม้บริเวณปากน้ำ นับได้ว่าเป็นชาวต่างชาติประเทศแรกที่เข้ามาสำรวจพรรณไม้ในประเทศไทย

หลังจากนั้นมาก็ได้มีคณะสำรวจชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาศึกษาพรรณไม้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้มีการสำรวจพรรณไม้ในเมืองไทยขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อ นายแพทย์ เอ.เอฟ.จี.คาร์ ซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ.2445 ได้ออกตระเวนเก็บพรรณไม้ทั่วประเทศได้ถึง 2,500 ชนิด

dsc_6562

เดิมทีหมอคาร์เป็นนายแพทย์ชาวอังกฤษถูกส่งไปประจำอยู่ออสเตรเลีย ในระหว่างที่ท่านเดินทางไปออสเตรเลียนั้นได้เจอกับลูกสาวของกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ก็สนิทสนมเป็นแฟนกัน เมื่อไปอยู่ออสเตรเลียไม่นานจึงได้ย้ายมาเป็นแพทย์อยู่ในเมืองไทย กระทั่งถูกส่งมาประจำอยู่ที่เชียงใหม่ ความสนใจเรื่องพรรณไม้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาที่หมอคาร์ออกไปรักษาชาวบ้านยากจนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านไม่รู้จะตอบแทนยังไงก็เอาพันธ์กล้วยไม้ให้มา บางครั้งหมอคาร์ก็ได้จัดส่งตัวอย่างพันธ์ไม้ไปที่สวนพฤกษศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ

ต่อมาเกิดสงครามในยุโรป หมอคาร์จึงต้องกลับไปเป็นทหาร พอสงครามสงบก็กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ปรากฏว่าตำแหน่งหมอที่เชียงใหม่มีคนมาแทนแล้ว ด้วยความที่ท่านต้องการจะอยู่ในเมืองไทย ท่านจึงไปสมัครเป็นหัวหน้ากองตรวจพันธ์รุกขชาติ เริ่มวางแผนตั้งทีมออกสำรวจเก็บตัวอย่างพรรณไม้ในเมืองไทย โดยหมอคาร์ได้เดินสำรวจข้ามไปทุกจังหวัดตั้งแต่เชียงรายลงไปจนถึงภาคใต้

หมอคาร์ทำงานอยู่ในประเทศไทยจนถึงปี พ.ศ.2475 จึงเดินทางกลับบ้านที่ประเทศอังกฤษและเสียชีวิตในปี พ.ศ.2485 ท่านได้เก็บพรรณไม้ไว้มากถึง 25,000 หมายเลขซึ่งส่วนใหญ่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์พืชของกรมวิชาการเกษตร บางส่วนก็กระจัดกระจายอยู่ตามหอพรรณไม้ต่าง ๆ ทั่วโลก

จากบันทึกของหมอคาร์และนายแกแรต ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม ฉบับที่ 19 ปี ค.ศ.1925 ได้อธิบายการเดินทางไปสำรวจพรรณไม้ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ว่า “ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1921 พวกเราได้เดินขึ้นดอยอ่างกา จากเส้นทางบ้านจอมทองซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่ ดร.โฮสซิยุส เคยใช้สำรวจดอยอ่างกาเมื่อปี ค.ศ.1905 ซึ่งเริ่มเดินทางขึ้นสู่ยอดดอยโดยไปตามลำธารแม่กลางผ่านป่า เราพบต้นโคะกาง กระพี้ ประดู่ ไม้เต็ง ตะเคียนทองเป็นจำนวนมาก”

dsc_6563

อย่างไรก็ตามหนังสือชื่อ Durch Koing Tschulalongkorns Reich ซึ่งเขียนโดย ดร.โฮสซิยุส นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงการเดินทางสำรวจพรรณไม้บนยอดดอยอ่างกา หรือ ดอยอินทนนท์ได้สำเร็จในเดือนมกราคม พ.ศ.2448 ซึ่งถือเป็นบันทึกเล่มแรกที่นักพฤกษศาสตร์ชาวต่างเขียนถึงการสำรวจพรรณไม้ในเมืองเหนือ

ในคณะสำรวจพรรณไม้ของหมอคาร์ ยังมีเพื่อนสนิทของท่านอีกคนหนึ่งชื่อ นายแกแรต ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ตามประวัติแล้วนายแกแรตจะเก็บพรรณไม้อยู่เฉพาะทางเหนือ เช่นที่ดอยหลวงเชียงดาวและดอยอินทนนท์

นายแกแรต เคยรับราชการอยู่ในกรมป่าไม้เป็นป่าไม้ภาค รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ถือได้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ริเริ่มการสำรวจพรรณไม้ของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 หลังจากเกษียณอายุนายแกแรตได้ศึกษาพรรณไม้เป็นงานอดิเรกและได้พบพรรณไม้ใหม่ ๆ ถึง 1,500 ชนิด เฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาวจะมีชื่อต้นไม้ที่ตั้งเป็นเกียรติแก่ท่านชื่อต้น มณฑาดอย หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Manglietia Garrettii

เมื่อนายแกแรตได้พรรณไม้มาแล้ว จะนำมาอบแห้งแล้วเขียนรายละเอียดของพรรณไม้ด้วยปากกาคอแร้งอย่างปราณีตสวยงาม ซึ่งขณะนี้พรรณไม้ต่าง ๆ ที่ท่านได้รวบรวมไว้เก็บรักษาอยู่ที่หอพรรณไม้กรุงเทพและสวนพฤกษศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ

dsc_6564

กลุ่มพรรณไม้ในภาคเหนือที่นายแกแรตได้สำรวจมีอยู่มากมายหลายที่ ส่วนใหญ่นักพฤกษศาสตร์จะนิยมไปเก็บตัวอย่างพรรณไม้ที่บริเวณดอยหลวงเชียงดาวและดอยอินทนนท์ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ อีกทั้งยังปราศจากการรบกวนจากฝีมือมนุษย์

 

ขณะเดียวกันความหลากหลายทางชีวภาพบนเทือกดอยทางภาคเหนือเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงอยู่ของพรรณไม้ ด้วยอุณหภูมิและสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้พรรณไม้ป่าหายากบางชนิดดำรงอยู่ได้ในระบบนิเวศ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่อุณหภูมิและสภาพอากาศได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ก็ตาม เชื่อแน่ว่าวงจรชีวิตของพรรณไม้ป่าที่ยังสำรวจไม่พบอีกจำนวนมากจะต้องสูญพันธ์ไปอย่างแน่นอน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น