สกู๊ปหน้า 1…เชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้

1111 จังหวัดเชียงใหม่ จับมือศูนย์ศิลปกรรมและกิจกรรมพิเศษ คณะวิจิตรศิลป์ มช. แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ เชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (Chiang Mai Learning Society) มุ่งหวังพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้สู่การศึกษาในทศวรรษที่ 21 นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อผลักดันประเทศก้าวสู่อาเซียน

ที่หอนิทรรศการศิลปะวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการเปิดตัวโครงการ เชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (Chiang Mai Learning Society) ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วีระพันธ์ จันทร์หอม หัวหน้าศูนย์ศิลปกรรมและกิจกรรมพิเศษ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ และ นายธนกร สมฤทธิ์ คณะทำงานโครงการฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์ศิลปกรรมและกิจกรรมพิเศษ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้น ซึ่งในวันนี้มีทางคณะสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

โดยทาง นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพิ่มความเท่าเทียมในสังคม สร้างอาชีพ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งนี้ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านทั้งทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงระบบการศึกษาที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ก่อให้เกิดความทันสมัยในองค์ความรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่ง UNESCO ได้สรุปทักษะสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ ต้องรู้อ่าน รู้เขียน รู้คณิตคิดเป็น และรู้ด้าน ICT และที่สำคัญต้องมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โลก เข้าใจการปฎิบัติการเชิงธุรกิจทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เป็นผู้มีสุขภาพดี และร่วมมือกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์สำคัญ การศึกษาในศตวรรษที่ 21

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับทุกประเภทโดยดำเนินงานให้สอดคล้องกับกระแสหลักของสังคมที่ต้องการเปลี่ยนเป็นสังคมคุณภาพ (Quality Social) เพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เจริญก้าวหน้าสามารถเข้าสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้ซึ่งในแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดตำแหน่งการพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ด้านหนึ่ง คือ การเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub) โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ จังหวัดเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางบริการการศึกษาของภาคเหนือ และสามารถเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติได้ โดยจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมการจัดการศึกษา มุ่งพัฒนาการศึกษา ภายใต้กรอบแนวคิดหลักคุณภาพและความเท่าเทียมรวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดคลอบคุมทั้ง 4 โอกาส คือ 1.โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน 2. โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ขึ้นกับฐานะของผู้ปกครอง 3. โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนนักศึกษาทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริงผ่านการเรียนรู้บนฐานการทำกิจกรรม 4. โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้เทคโนโลยี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ศูนย์วัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ  ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วีระพันธ์ จันทร์หอม ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ว่า เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายในการพัฒนาคนและสังคมของจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีคุณภาพจนนำไปสู่การกำหนดตำแหน่งการพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ด้านหนึ่ง คือ การเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub) ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดกลยุทธ์ ที่จะดำเนินการให้บรรลุตามนโยบาย คือ การสร้างสังคมแห่งวัฒนธรรม ความรู้ ภูมิปัญญา จิตสาธารณะ และพัฒนาศักยภาพของคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ของจังหวัดเชียงใหม่มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อนโยบายของชาติ และทิศทางการพัฒนาของจังหวัด สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติศูนย์ศิลปกรรมและกิจกรรมพิเศษ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้

2222

โดยมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการเพื่อ กำหนดแนวทางในการพัฒนาเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วนของการทำงาน ป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน รวมถึงประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของจังหวัดลดข้อผิดพลาดและเกิดผลสัมฤทธิ์ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีทักษะครอบคลุมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นี้ และเป้าหมายในการดำเนินโครงการ ในครั้งนี้คือ เพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่มีการวางแผนปฎิบัติการพัฒนาสู่สังคมแห่งการเรียนรู้แบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา และสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมสู่การเรียนรู้ของจังหวัดเชียงใหม่ และบุคลากรด้านการศึกษามีความรู้ความเข้าใจในด้านการวางแผนพัฒนาการเรียนรู้สู่สังคมมากขึ้น รวมถึงเพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่มีต้นแบบแนวทางการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่อื่นได้

ด้าน นายธนกร สมฤทธิ์ ได้กล่าวเสริมถึงกิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ว่า ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการจะครอบคลุมกิจกรรมต่างๆได้แก่ 1.การศึกษารวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมแห่งการเรียนรู้ ในส่วนนี้จะรวมไปถึงการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ 3 ประเทศได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และ ประเทศสิงคโปร์ 2. การศึกษาและรวบรวมข้อมูลแนวทางการศึกษาในปัจจุบันของจังหวัดเชียงใหม่ 3. วิเคราะห์รูปแบบการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้จากการศึกษา นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับจังหวัดเชียงใหม่ 4. พัฒนาตัวแบบแนวทางการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับจังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามแนวทางการศึกษาและทักษะ ทั้ง 3 ด้านคือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ 5. จัดกิจกรรมพัฒนาต้นแบบ โดยนำตัวแบบที่พัฒนาได้มาปรับใช้กับองค์ความรู้ 1 เรื่อง โดยภายในกิจกรรมนี้ จะมีกิจกรรมย่อยคือ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Learning by doing) จำนวน 3 ครั้ง กำหนดกลุ่มเป้าหมายร่วมกิจกรรมครั้งละไม่น้อยกว่า 30 คนครอบคลุมประชากร กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ในระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มประชาชนทั่วไป และการศึกษานอกระบบเช่น โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ชมรมศิลปวัฒนธรรมล้านนา กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน โรงเรียนผู้สูงอายุแกนนำชุมชนหรือสภาเยาวชนเป็นต้น

และนอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนจากการจัด กิจกรรมที่ได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาและต้นแบบเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ การจัดกิจกรรม Open House จำนวนหนึ่งครั้งเพื่อนำเสนอแผนพัฒนาเริ่มต้นแบบเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบที่น่าสนใจเช่น การเยี่ยมชุมชนทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่และการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ผลงานเป็นต้น จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์แผนพัฒนาเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในรูปแบบ Pocket Book ประชาสัมพันธ์แผนพัฒนาเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆประกอบด้วยการจัดแถลงข่าวกรมประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีโทรทัศน์สถานีวิทยุเพื่อสังคมออนไลน์และการจัดทำสารคดีสั้นซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะตอบสนองกลุ่มเป้าหมายในโครงการคือจังหวัดเชียงใหม่มีการวางแผนปฏิบัติการพัฒนาสู่สังคมแห่งการเรียนรู้แบบบูรณการจากทุกภาคส่วน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็น รูปประธรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ จนนำไปสู่การมีต้นแบบแนวทางการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น