“เบิ่งเวียงจันทน์” เมื่อคราวออกพรรษา เที่ยวงานบุญของคน เมืองลาว

dsc_5955

ในบรรดาประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ผมว่าประเทศลาวเป็นประเทศที่เดินทางเข้าออกได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับพม่าและกัมพูชา ด้วยความที่ลาวเป็นประเทศเล็ก ๆ น่ารักในสายตาของนักเดินทาง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางไปเยือนประเทศลาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เมืองหลวงพระบาง ว่ากันว่าเป็นเมืองในอุดมคติของใครหลาย ๆ คน

ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภาษาพูดของลาวที่คล้ายคลึงกับไทย จึงทำให้ลาวเป็นประเทศเดียวในโลกที่คนไทยไปเยือนโดยไม่ใช้ล่าม และนับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา เมื่อมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงความยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตรเศษ เชื่อมแผ่นดินสองฝั่งคือ ที่บ้านจอมมณี จังหวัดหนองคายของไทยกับบ้านท่านาแล้ง จังหวัดกำแพงนครเวียงจันทน์ของลาว โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณกว่า 30 ล้านเหรียญดอลลอร์หรือราว 750 ล้านบาทจากรัฐบาลออสเตรเลีย รวมกับเงินงบประมาณของรัฐบาลไทยอีกราว 400 ล้านบาท รวมมูลค่าแล้วมากกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งผู้สันทัดกรณีประเมินว่าจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพี่น้องสองฝั่งโขงและทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้อย่างหาค่ามิได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ในยุค “Wind of Change”

dsc_5983

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย เป็นสะพานแรกสุดที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศในประวัติศาสตร์ของแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร ทั้ง ๆ ที่แม่น้ำสายนี้คือแม่น้ำนานาชาติที่ไหลลงมาตั้งแต่ธิเบต จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม แต่ไม่เคยมีสะพานข้ามมาก่อนเลย ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาของจีนมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง (จีนเรียกแม่น้ำหลันชาง) ที่เมืองเชียงรุ่งแต่ก็เป็นเพียงสะพานในประเทศเท่านั้น นี่คือที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ของ “ขัวมิดตะพาบ” ที่ควรบันทึก

เวียงจันทน์ในวันนี้ดูไม่ต่างอะไรกับเมืองเชียงใหม่ของเรา เพราะอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็เพื่อขยับขยายและพัฒนาไปสู่เมืองแห่งการท่องเที่ยว กว่าร้อยละ 90 ของบรรดาคนไทยที่ข้ามไปเที่ยวเวียงจันทน์ ผมว่าไม่ได้ข้ามไปเพื่อชมแหล่งท่องเที่ยวหรอก เพราะถ้าหากจะเข้าไปชมแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม วัดวาอารามของลาวที่มีอยู่ดาษดื่น และหากจะเที่ยวแบบให้ลึกซึ้ง 3 วัน 3 คืนก็ชมไม่หมด แต่ไปเพราะความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าของในเวียงจันทน์ราคาถูก ก็ไปเพื่อช็อปปิ้งกันนั่นแหละ แต่แท้จริงแล้วในเวียงจันทน์ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกมากมายdsc_6021

ตัวเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองเล็ก ๆ ชาวลาวเรียกว่า “กำแพงนะคอนเวียงจันทน์” เป็นเหมือนเขตเมืองหลวง ในตัวเมืองมีถนนสายหลักอยู่สองสายคือ ถนนสามแสนไทยและถนนไชยเชษฐา เป็นถนนสายที่ว่ากันว่าสวยงามมากมีต้นมะฮอกกานีใหญ่ร่มครึ้มอยู่สองฟาก ส่วนถนนสายสำคัญที่สุดของเวียงจันทน์คือ ถนนล้านช้าง ที่เริ่มต้นจากถนนไชยเชษฐาตรงหน้า “หอคำ” หรือทำเนียบประธานประเทศตรงไปยังวัดพระธาตุหลวง เป็นถนนสายใหญ่ทำเป็น 2 เลน มีเกาะอยู่กลางถนน เจตนาจะให้เหมือนถนนชองเอลิเซ่ (Champ Elese’s) ของปารีส หรือ ถนนสีลมบวกราชดำเนินของเวียงจันทน์ สองฟากถนนมีสถานที่สำคัญมากมาย เริ่มตั้งแต่วัดสีสะเกด อยู่ตรงหัวมุมถนน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเวียงจันทน์

ในวันที่ผมเดินทางไปนั้นตรงกับงานเทศกาลออกพรรษา สังเกตมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าไปเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ภายในวัดนอกจากมีศิลปกรรมสวยงามโดยเฉพาะพระพุทธรูปนับร้อยองค์ที่เรียงรายอยู่ในระเบียงคต ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรวบรวมของมีค่าหายากหลายชนิด

นอกจากนั้นริมถนนล้านช้างยังมีอาคารตึกเก่าแบบโคโลเนียล ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสยังปกครองลาวอยู่หลายตึกที่สวยคลากสิกมาก ส่วนใหญ่เก่าแก่ทรุดโทรมเพราะถูกทอดทิ้งมานาน ระหว่างกึ่งกลางของถนนเป็นที่ตั้ง อนุสาวรีย์นักรบเก่าของลาว หรือ ประตูชัยเวียงจันทน์ สร้างขึ้นเลียนแบบประตูชัยปารีส ที่ชองเอลิเซ่อีกนั้นแหละ แต่ไม่ได้เหมือนทั้งหมด ประตูชัยนี้เป็นศิลปะแบบลาวแท้ จะคล้ายกันเฉพาะท่อนล่างที่เป็นฝรั่ง ส่วนท่อนบนเป็นลาว ภายในประตูชัยมีบันไดขึ้นเพื่อไปชมวิวของเวียงจันทน์ ระหว่างทางขึ้นจะมีร้านขายของที่ระลึกไว้เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวด้วยบรรดาเสื้อยึดที่ระลึกของลาวหลากหลายรูปแบบ

dsc_6022ฝั่งตรงข้ามประตูชัยเวียงจันทน์ หากมองไกล ๆ จะเห็นทำเนียบรัฐบาลของลาว หรือ อาคารสภาประชาชนซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่ขนาดใหญ่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศลาว ใกล้กับอาคารสภาประชาชนคือพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ของลาวประดิษฐานอยู่ องค์พระธาตุหลวงเป็นเจดีย์ศิลปแบบพระธาตุพนมขนาดใหญ่ มีประวัติตำนานเก่าแก่ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย เมื่อ พ.ศ.270-311 มีกระบูรณะในปี พ.ศ.1611 เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นสมเด็จพระไชยเชษฐาทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองหลวงพระบางมาอยู่นครเวียงจันทน์ โปรดฯ ให้บูรณะใหม่สร้างพระเจดีย์ธาตุหลวงครอบองค์เดิม และถือเป็นปูชนียสถานสำคัญสุดของเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุหลวงยิ่งใหญ่ในคืนวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของไทย
เสน่ห์และความน่ารักของลาวไม่ได้อยู่ที่วิถีวัฒนธรรมของผู้คน ที่ปัจจุบันมักเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผมว่าเสน่ห์อันน่ารักของลาวอยู่ที่ภาษาพูดมากกว่า คำบางคำที่เราไม่คาดคิดก็มีความหมายที่เป็นแบบฉบับของลาว จนทำให้คนที่ได้ยินอดยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปตามกัน นี่แหละคือเสน่ห์ของลาวที่ตราตรึงใจนักท่องเที่ยวเสมอมา

dsc_6034

มีคำเปรียบเปรยในภาษาลาวที่ฟังแล้วเกิดความรู้สึกอัศจรรย์ในความงดงามของภาษาที่บรรดาหนุ่ม ๆ มักจะใช้เกี้ยวพาราสีกับหญิงสาวตอนหนึ่งว่า “อยากสิแปงขัวข้ามเป็นสะพานทองเทียวท่อง อยากสิเป็นพี่น้องใกล้สายไส้แห่เดียว” มีความหมายว่าจังได๋ เว้ากันซื่อ ๆ เพิ่นว่า อยากทอดสะพานข้ามมาหาเพื่อร่วมเป็นเครือญาติกัน หรืออย่าง “กินน้ำร่วมท่า กินปลาร่วมห้วย กินกล้วยร่วมหวี กินปลีร่วมกาบ อาบน้ำร่วมวัง นั่นบ่แม่นไผ ไทย – ลาวนั่นเอง..” ฟังแล้วให้ความรู้สึกลึกซึ้งถึงกึ๋นดีแท้

แต่เมื่อคราวที่ผมมีโอกาสเดินทางเข้าไปเยือนประเทศลาวที่ผ่านมา ทำให้ผมประทับใจกับภาษาลาวที่ใช้คำได้อย่างสละสรวยจากไกด์ผู้นำทางสาวสวย และมีบางคำที่พอได้ยินได้ฟังก็ชวนหัวเราะเสียกระไรนี่

จะสังเกตว่าผมชอบหยิบเอาคำภาษาลาวมาเขียน ไม่ใช่เพียงแค่เฮฮาประการเดียว แต่โดยนัยแล้วอยากจะบอกว่า แม้ไทย-ลาวจะเป็นสองชาติที่คุยกันโดยไม่ต้องใช้ล่าม ไปมาหาสู่กันแบบไม่ต้องมีพาสปอร์ต ทั้งรูปร่างหน้าตา ภาษาพูดก็เกือบจะแยกไม่ออก แต่เอาเข้าจริง ๆ ผมก็พบว่ายังมีศัพท์เฉพาะอีกหลายคำที่ไทย-ลาวพูดไม่เหมือนกัน
เรื่องของ “ไทยบ่ฮู้ซาว ลาวไม่รู้ยี่สิบ” นั้นยังมีมากมายหลายคำ เมื่อครั้งที่นั่งรถเข้าไปในเวียงจันทน์ ก็ได้ “อีนางอะดิ้ง” ไกด์สาวชาวลาวนี่แหละที่เรียกเสียงหัวเราะเกี่ยวกับภาษาลาวให้กับคณะลูกทัวร์บนรถ อย่างคำว่า “หน้าตาดี” ของผู้ชาย สาวลาวจะเรียก “เจ้าชู้” แต่ถ้าบังเอิญไปเดินในตลาดเช้าเวียงจันทน์แล้วได้ยินสาวลาวพูดว่า “อ้าย ๆ เฮ็ดหยั๋ง เจ้าชู้ ฉิบหาย” ก็อย่างพึ่งตกใจคิดว่าเขาด่าล่ะ นั่นน่ะเขากำลังชมคุณว่า หน้าตาดีจังเลย ส่วนคำว่า “ปี้” ความหมายในภาษาไทยออกจะหยาบโลนสักหน่อย แต่ภาษาลาวหมายถึง “ตั๋ว” ที่เวียงจันทน์ ผมมีโอกาสไปเที่ยวชมประตูชัย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของนครเวียงจันทน์ ซึ่งรัฐบาลคณะปฏิวัติม่วนซื่นสร้างขึ้นโดยจำลองประตูชัยของฝรั่งเศส แต่จำหลักลวดลายด้วยศิลปะล้านช้างตามแบบฉบับของลาว ที่ประตูชัยนั้นนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์มุมสูงของนครเวียงจันทน์ ที่ด้านล่างจะมีโต๊ะจำหน่ายตั๋วซึ่งเขียนว่า “บ่อนขายปี้” ในราคาค่าดูไม่แพงคนละ 500 กีบ หรือ 2 บาทกว่า ๆ ไทย

อีกคำที่สับสนกันพอสมควรก็คือ “จอก” กับ “แก้ว” ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งกลางนครเวียงจันทน์ หลังจากที่ถึงเวลารับประทานอาหารเที่ยง คณะทัวร์จึงแวะรับประทานอาหารที่ “พัดตาคานน้ำของ” เพราะความเคยชินลูกทัวร์คนหนึ่งจึงสั่งเบียร์ด้วยความกระหาย “..น้อง เอาเบียร์ลาว 1 แก้ว”

สักพักพนักงานของร้านนำเบียร์ 1 ขวดมาเสริฟ์ให้ เพราะคำว่า “แก้ว” ของลาวแปลว่า “ขวด” ส่วนถ้าจะบอกว่าเอาเบียร์ 1 แก้วต้องสั่งว่า “เอาเบียร์มาหนึ่งจอก” ก็คงเหมือนกับคำว่า “ถ้วย” กับ “ชาม” บังเอิญถ้าคุณไปสั่งก๋วยเตี๋ยวในประเทศลาวว่า “..แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม..” รับรองว่าคุณไม่มีวันจะทานก๋วยเตี๋ยวนั้นหมด เพราะแม่ค้าจะนำก๋วยเตี๋ยวใส่ในกาละมังมาให้ เพราะคำว่า “ชาม” ในภาษาลาวแปลว่า “กะละมัง” ฉะนั้นจึงต้องสั่งว่า “ก๋วยเตี๋ยว 1 ถ้วย”

เสียงของไกด์สาวชาวลาวยังคงอธิบายถึงเกร็ดความรู้และเรื่องชวนหัวอย่างต่อเนื่อง ผมเองพอจับใจความได้บางตอนสำหรับอุบัติเหตุในนครเวียงจันทน์อย่างตั้งใจว่า “เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในเวียงจันทน์ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกรถชน เพราะที่ผ่านมามีแต่เพียงถูกรถตำเท่านั้น” ภาษาลาวไม่มีคำว่า “รถชน” แต่จะใช้คำว่า “รถตำ” แทน

ยังมีกลุ่มคำศัพท์ภาษาลาวอีกหลายกลุ่มซึ่งไม่ใช่ภาษาลาวดั้งเดิม แต่เป็นภาษาที่วิวัฒน์ขึ้นใหม่โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นภาษาทางการที่ใช้อย่างแพร่หลาย นับตั้งแต่เมื่อลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2518 เช่นคำว่า “พัวพัน” ถึงกับมี “กระทรวงพัวพันการค้าต่างประเทศ” หรืออย่างคำว่า “โอ้โลม” หมายถึงการสนทนาปราศัย “ซุกยู้” หมายถึงส่งเสริมสนับสนุน

แต่มีอยู่คำหนึ่งซึ่งเรียกเสียงหัวเราะจากคณะทัวร์ในรถเป็นอย่างดีก็คือ “สัญญาณไฟจราจร” ที่ลาวจะเรียกว่า “มอดไฟ” ส่วนสัญญาณไฟแดง ลาวจะเรียก “ไฟอำนาจ” สัญญาณไฟเขียวเรียก “ไฟเสรี” ก็จริงอย่างเขาว่าน่ะ

เมื่อไปลาวนักท่องเที่ยวต่างไม่พลาดที่จะหาซื้อของฝาก ซึ่งมีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภครวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมาจากจีน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ นักช็อปผู้สันทัดกรณีต่างลงความเห็นกันว่า สินค้าในประเทศลาวนั้นถูกกว่าเมืองไทยเยอะ แหล่งจำหน่ายสินค้าในลาวมีอยู่ 2 ที่คือที่ตลาดเช้าในเวียงจันทน์ เป็นตลาดขายสินค้าสารพัดชนิด ซึ่งจะเปิดตั้งแต่เช้าถึงเย็น สินค้าขึ้นชื่อที่จำหน่ายได้แก่ ผ้าไหม ผ้าทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องถ่ายรูปและสินค้าจากอินโดจีน ส่วนใครที่ชอบสินค้านำเข้าปลอดภาษีก็ต้องไปที่ร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ใกล้กับด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งลาว เพราะมีสินค้าจำน่ายตั้งแต่ สุรา เบียร์ ไวน์ บุหรี่และขนมจากอินโดจีน

dsc_6014

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น