ผุดแผนยุทธศาสตร์ “ชาวนาอัจฉริยะ”

b2-w41-5h5
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นเหนือ เปิดสัมมนาระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่และสามารถประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน พร้อมแผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.2560-2564 ดันเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้เป็น “Smart Farmer” และ “Smart Group” รวมถึงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็น “Smart Product”

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดการสัมมนาระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF และแผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.2560-2564 ณ โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยการสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในระบบส่งเสริมการเกษตร MRCFและแผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.2560-2564 ให้กับเจ้าหน้าที่ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 214 คน โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ พร้อมนี้ได้จัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF ของภาคเหนือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำไปประยุกติใช้ในการขับเคลื่อนในพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่และสามารถประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของนักส่งเสริมการเกษตร โดยมีหลักการสำคัญคือ 1.เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและพื้นที่เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงาน 2.นักส่งเสริมการเกษตร เป็น Smart Extension Officer ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการเกษตรในพื้นที่และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอที่เป็น Smart Office 3.การทำงานอยู่บนพื้นฐานของหลักการเรียนรู้และหลักการมีส่วนร่วม และ 4.ประเด็นที่มุ่งเน้นที่สำคัญ คือ การพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และSmart Group การพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็น Smart Product และการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน

นายโอฬาร กล่าวต่อว่า องค์ประกอบที่สำคัญของระบบงานนี้มี 4 องค์ประกอบ คือ 1. M:Mapping คือการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเตรียมเข้าทำงานในพื้นที่โดยเน้นการใช้ข้อมูลแผนที่ 2. R:Remote Sensing คือการประสานและให้บริการเกษตรกรด้วยวิธีการติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลจากระยะไกล 3. C:Community Participation คือการใช้วิธีการจัดเวทีชุมชนในการทำงานและร่วมดำเนินการกับเกษตรกร ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแบบมีส่วนร่วม 4. F:Specific Field Service หรือ Focus คือจุดมุ่งเน้นสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้นและการเข้าทำงานในพื้นที่แบบเฉพาะเจาะจง โดยมีเป้าหมายและจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ซึ่งในแต่ละองค์ประกอบมีส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ 1.สาระ คือ หัวใจหรือเนื้อหาหลักขององค์ประกอบนั้นในการนำไปใช้งาน 2.รูปแบบ คือ รูปธรรมหรือสิ่งที่จับต้องได้ในการนำองค์ประกอบนั้นไปใช้งาน และ 3.จุดมุ่งหมาย คือ ผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการนำองค์ประกอบนั้นไปใช้งาน สำหรับการปฏิบัติงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF นั้น เป็นการปฏิบัติงานตามกระบวนงานที่เป็นพื้นฐาน 4 ส่วนคือ การวิเคราะห์ การวางกลยุทธ์ การขับเคลื่อนและการเกิดผลสำเร็จ โดยใช้ MRCF เป็นเครื่องมือในแต่ละกระบวนงานดังกล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.2560-2564 ว่า การทำงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.2560-2564 มีจุดมุ่งเน้นที่สำคัญคือการใช้เครื่องมือส่งเสริมการเกษตรในการดำเนินงาน มองภาพการทำงานที่เชื่อมโยงกัน ทั้งในมิติของ พื้นที่-คน- สินค้า เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายของงานส่งเสริมการเกษตร คือ เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้เป็น Smart Farmerและ Smart Group และการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็น Smart Product ซึ่งดำเนินการโดย Smart Officer และ Smart Office เป็นฐานในการปฏิบัติงาน อันส่งผลต่อเนื่องให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้และสินค้าเกษตรมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ นำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน”

b7-w12h8-1

จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้นำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเกษตร 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1การพัฒนาเกษตรกร พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง : เป็นการพัฒนางานตามบทบาทภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรมีแนว ทางการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1.พัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร 2.พัฒนาการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตร และ 3.ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยใช้เครื่องมือส่งเสริมการเกษตร : เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการใช้เครื่องมือส่งเสริมการเกษตรในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.การใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้และให้บริการ 2.การใช้แปลงใหญ่เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการผลิตและจัดการสินค้าเกษตร และ 3.การใช้เครื่องมือส่งเสริมการเกษตรอื่นๆสนับสนุนการทำงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการเกษตรโดยใช้ Smart Officer และ Smart Office : มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานโดยใช้ระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF 2.เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรกรมส่งเสริมการเกษตร 3.พัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของชุมชนในงานส่งเสริมการเกษตร และ 4. พัฒนาระบบข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้

ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์เป็นการบอกทิศทางและสิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรต้องมุ่งเน้นดำเนินการในช่วง ปี พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งการนำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ผู้รับผิดชอบในแต่ละประเด็นต้องกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งโครงการ/กิจกรรม เป้าหมาย ตัวชี้วัดและแนวทางการปฏิบัติงานและมีการควบคุมกำกับการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จต่อไป นายโอฬาร กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น