เครื่องสำอางไทย ขึ้นแท่น แชมป์อาเซียน

b1-w14h8-2กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มูลค่าตลาดรวม 2.1 แสนล้านบาท โดยในปี 2559 กสอ.ได้จัดกิจกรรม “Thailand Cosmetic Contest 2016” มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานของ กสอ. พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยต้องแก้ปัญหาหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ปัญหาด้านนวัตกรรม 2.ปัญหาด้านมาตรฐาน 3.ปัญหาด้านภาพลักษณ์และการสร้างตราสินค้า 4.ปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถิติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทุกเพศทุกวัยต่างหันมาให้ความใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพ ความงาม รวมทั้งการดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ธุรกิจด้านความงาม คลินิกดูแลรักษาผิวพรรณ เครื่องสำอางแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับกับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย มีมูลค่าตลาดรวม 2.1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% คิดเป็นมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 40% คิดเป็นมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2558) ถือเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย โดยเป็นรองแค่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เท่านั้น

ทั้งนี้ ในปี 2559 มีจำนวนผู้ประกอบการเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางที่จดทะเบียนทั่วประเทศ 1,781 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทจํากัด 1,572 ราย ห้างหุ้นส่วนจํากัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 206 ราย และบริษัทมหาชน 3 ราย (ข้อมูลจาก : กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เพิ่มขึ้นจากในปี 2557 ที่มีจำนวน 762 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม เช่น สมุนไพร เคมี อาหาร สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว พลาสติก โดยจากข้อมูลพบว่ามีสัดส่วนการขยายตัวในการส่งออกต่อเนื่องในกลุ่มอาเซียน

การที่จะทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านเครื่องสำอางของโลกได้นั้น ต้องแก้จุดอ่อนของการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กสอ. พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางต้องแก้ปัญหาหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ปัญหาด้านนวัตกรรม 2. ปัญหาด้านมาตรฐาน 3. ปัญหาด้านภาพลักษณ์และการสร้างตราสินค้า 4. ปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านนวัตกรรมถือเป็นปัญหาใหญ่ในทุกภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น กสอ.จึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งแก้ไขและพัฒนา ในปัญหาดังกล่าว โดยในปี 2559 ได้ร่วมมือกับ “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง” ผู้ประกอบการการเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมต่อเนื่อง หน่วยงานวิชาการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “Thailand Cosmetic Contest 2016” โครงการประกวดสุดยอดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทย ซึ่งเป็นการเฟ้นหาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการทั่วไปได้ โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อที่จะสามารถสร้างการแข่งขันกับประเทศชั้นนำของโลกที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยการตั้งต้น การพัฒนาจากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์

ด้านนายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ให้ความเห็นว่า นับเป็นปีที่ 2 แล้ว ที่มีการจัดตั้งคลัสเตอร์นี้ เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้ธุรกิจเครื่องสำอางไทยสามารถไปได้ไกลในระดับนานาชาติ ซึ่งผลจากการรวมกลุ่มทำให้ตลาดต่างประเทศเกิดการตอบรับในตัวสินค้าไทยได้เป็นอย่างดี โดยภาพรวมแล้วเครื่องสำอางไทยมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี มีความได้เปรียบในเรื่องคุณค่าจากวัตถุดิบ แต่ยังเสียเปรียบในเรื่องของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าที่ยังขาดความเป็นสากล รวมทั้งนวัตกรรมในการผลิตที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งตนมองว่าการรวมกลุ่มภายใต้การส่งเสริมของ กสอ. จะช่วยให้เกิดการแบ่งปันแนวทางและประสบการณ์ในการพัฒนา และการร่วมมือกันทำงานในลักษณะกลุ่มเช่นนี้ จะช่วยให้เติบโตได้ในลักษณะหมู่คณะ ไม่ใช่แค่สินค้าของใครเพียงคนเดียว ทั้งนี้ เป้าหมายต่อไปของคลัสเตอร์ฯ คือการจับมือกับประเทศมหาอำนาจในด้านเครื่องสำอางได้แก่ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งตนเชื่อว่าในอีกระยะไม่กี่ปีข้างหน้า เครื่องสำอางไทยจะก้าวสู่ระดับมหภาคอย่างแน่นอน

ในมุมมองของนางลักษณ์สุภา ประภาวัต กรรมการผู้จัดการบริษัท อมาโทส จำกัด และอุปนายกสมาคมนักเคมีเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้ภูมิปัญญาแบบไทยกับการผสมผสานกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้สินค้าเครื่องสำอางไทยมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันตลาดต่างประเทศมีความชื่นชอบในผลิตภัณฑ์ที่ดัดแปลงจากสมุนไพรไทยซึ่งจัดว่าเป็นวัตถุดิบที่มีคุณค่าระดับโลกเป็นอย่างสูง สำหรับสินค้าของตนเกี่ยวข้องกับการดูแลร่างกายด้วยสมุนไพร 100 เปอร์เซ็นต์ มีความต้องการในประเทศนอร์เวย์ และประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตดังกล่าวเกิดจากการวิจัยเพื่อยืนยันผลเทียบค่ากับมาตรฐานสากล มีการศึกษาทิศทางและกำลังซื้อของผู้บริโภค และการก้าวทันกระแสโดยเฉพาะการดูแลสุขภาพและการออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวและศึกษาตลอดเวลา รวมทั้งนำความได้เปรียบเหล่านั้นมาเป็นอาวุธที่สำคัญเพื่อการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดมูลค่าและการเป็นที่ยอมรับต่อไปได้ในระดับสากล

ร่วมแสดงความคิดเห็น