ใต้ร่มพระบารมีปกเกล้า พระราชดำริฯเพื่อแผ่นดิน

ประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้สร้างความภาคภูมิใจสืบทอดต่อกันต่อจากรุ่นสู่รุ่น เป็นประเทศที่มีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คงคู่แผ่นดิน
มีเอกราช มีความเป็นหนึ่งเดียว มีศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ
ศรัทธา เชื่อมั่นในวิถีธรรม วิถีพุทธ คิดดี ทำดี ได้ดี
เทิดทูน นบนอบ ในสามัญสำนึกแห่งความเป็น “ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน” ทุกรัชสมัย
และทุกรัชกาล ได้ปกครอง อาณาประชาราษฎร์ ยังความสุขสถิตย์ สถาพร

3-jpg
” ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ยอมให้ใครข่มขี่ สละเลือด ทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทย ทวี มีชัย ชโย”
แม้วันเวลาจะเปลี่ยน -เลื่อน- เคลื่อนไปตามกาล แต่ “พสกนิกร” ใต้ร่มพระบารมี ยังยืนหยัด คงมั่น ในการร้อยหลอมรวมใจเพื่อ”พระองค์”
โครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ ทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริฯที่”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระราชทานพระราชดําริโดยตรง
ตลอดจนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริฯที่เกิดจากการที่ราษฎรได้น้อมทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ และ ทรงรับไว้ ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยมีหน่วยงานต่างๆ สนองงาน ตามแนวพระราชดำริ
ซึ่งมีทั้งโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ การเกษตร สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการสังคม การศึกษา การพัฒนาแบบบูรณาการสู่โครงการ หลากรูปแบบ
ประเทศไทย ได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็น เมืองน้ำท่าอุดมดี เป็นอู่ข้าว อู่น้ำในแถบถิ่นอุษาคเนย์ จนวาดฝันก้าวไกล นำครัวไทยสู่ครัวโลก
มีการวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแผนพัฒนาชาติบ้านเมือง ภายใต้ หลักการและทฤษฎีอันทรงคุณค่าอเนกอนันต์ กับผลสัมฤทธิ์ต่างๆในโครงการตามแนวพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น ปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้าน ดิน น้ำ ลม

8-jpg
พระองค์ทรงค้นพบ ค้นคิดการรังสรรค์ต้นทุนธรรมชาติที่มีอยู่มาสู่การสร้างสรรค์งานเชิงคุณภาพ ก่อเกิดประสิทธิผลมากมายมหาศาล ดังตัวอย่าง ทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินโดยหญ้าแฝก พืชจากพระราชดำริ : กำแพงที่มีชีวิตในการอนุรักษ์และคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน
ด้วยทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการสูญเสียหน้าดิน ที่อุดมสมบูรณ์ ทรงวิริยะ อุตสาหะ ศึกษาทดลองเกี่ยวกับศักยภาพของ“หญ้าแฝก”ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของไทย
จนนำไปสู่ การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ขยายผลไปทั่วทุกภูมิภาค
ศูนย์การศึกษา 6 แห่งในประเทศ กลายเป็น แหล่งเรียนรู้ ดูงาน
ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ ” ฝนหลวง ” ซึ่งทรงค้นหา ค้นพบวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ กับทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้ “ฝนหลวง” หรือ “ฝนเทียม”
ฝนจากฟ้าเย็นทั่วหล้า ทั่วแผ่นดิน
จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่ทรงงาน ซึ่งทุกๆครั้ง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนิน แปรพระราชฐาน ณ  พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถตลอดจน พระบรมวงศานุวงศ์
ทุกพระองค์ เสด็จฯไปทุกถิ่นทุรกันดาร เมื่อรอยพระบาทยาตรา ก็นำมาซึ่งความปิติสุข ในผืนแผ่นดินนั้น
ก่อเกิดโครงการ ตามแนวพระราชดำริ ต่างๆมากมาย”
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำพระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
นับเป็นบุญของพสกนิกรชาวไทย ไม่ว่า”พระองค์” เสด็จพระราชดำเนินไปในทุกๆที่เมื่อทรงพบและทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของราษฎร “พระองค์”จะมีพระราชดำริให้ความช่วยเหลือทันที
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 40 โครงการ หากจัดแบ่ง จำแนกประเภทแล้วจะมีด้วยกัน แบ่งเป็น 9 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.โครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
2. โครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
3. โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ เช่นที่บ้านแม่ตุงติง อำเภอสะเมิง และบ้านดงเย็น อำเภอจอมทอง
4. โครงการช่วยเหลือราษฎร
5. โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่
6. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง
7.โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์
8.โครงการตามแนวพระราชดำริ
9. โครงการพระราชดำริในพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า
“…ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทยเรานี่ก้าวหน้าดี การเงิน การอุตสาหกรรม การค้าดีมีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่า เรากำลังเสื่อมลงไป
ส่วนใหญ่ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้น ๆ มีการกู้เท่านั้น ๆหมายความว่า เศรษฐกิจก้าวหน้าแล้วก็ ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้น ไม่มีทาง…”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2536)

2-jpg
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง
การพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ บนพื้นฐาน ความพอเพียง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ซึ่งต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ
และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการวางแผน …ดำเนินการ

4-jpg
“คำที่พ่อสอน “…แนวพระราชดำริ ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการต่างๆทั่วทุกภูมิภาค เป็นองค์ความรู้ เป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่
ไม่มี พ่อ แม่ คนไหน ไม่ต้องการเห็นความสมบูรณ์พูนสุขของลูกๆ
แผ่นดินทอง ผืนนี้ บรรพชนร่วมปกป้องรักษา
ใต้ร่มพระบารมี บนแผ่นดินพ่อ แผ่นดินแม่
ชาตินี้ ชาติไหน หาใดเปรียบปาน
ขอพระองค์…สถิตย์คู่ฟ้า คู่แผ่นดิน นิรันดรกาล….

ร่วมแสดงความคิดเห็น