“กษัตริย์เกษตร”ธ ทรงพัฒนา แผ่นดินไทยเป็น”แผ่นดินทอง”

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช  เสด็จฯขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา พระองค์ทรงมุ่งมั่นประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยและความเจริญของประเทศไทย
สมดังพระราชปณิธานที่ว่า“เราะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

1-jpg
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ของราษฎร สภาพภูมิประเทศ รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ
พระองค์ทรงนำประสบการณ์และข้อมูลเหล่านี้มาประกอบพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยในการพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่เหล่าราษฎร เป็นผลให้เกิดโครงการพัฒนาและกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเกษตร พระองค์ทรงมีพระราชดำริในแนวทาง การพัฒนาเกษตรในที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งคือโครงการพัฒนาชาวเขาที่ทราบกันดีว่าเป็นโครงการหลวง และโครงการพัฒนาเกษตรในชนบท
สำหรับโครงการหลวง เป็นโครงการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ ทรงตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปีพศ.2512 เป็นโครงการส่วนพระองค์ เพื่อปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ลดการทำลายป่าไม้และต้นน้ำลำธาร

2-jpg
ในระยะแรก เริ่มด้วยการศึกษา วิจัย หาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชในที่สูง วิธีการ ชนิดของพืชรวมทั้งการตลาด
ช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้ ผ่านองค์ความรู้ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงแม่สอด และสถานีเกษตรหลวงปางดะ ซึ่งเป็นสถานที่วิจัยพืชเมืองหนาวไม้ดอก ไม้ผล พืชไร่
ทำการฝึกอบรม ส่งเสริมการปลูก การพัฒนาเกษตรในที่สูงแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยการศึกษาพื้นที่ความเหมาะสมในการปลูกพืช สร้างระบบระบายน้ำ ทำฝาย สร้างถนนเพื่อการขนส่งพืชไปสู่ตลาด มีศูนย์พัฒนาพืชใหม่ๆ ดูแลหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และลำพูน

7-jpg
ส่วนโครงการพัฒนาเกษตรในชนบทนั้นจะมีสองลักษณะคือโครงการส่วนพระองค์ ซึ่งทรงดำเนินการเพื่อเป็นแบบอย่าง และเผยแพร่สู่เกษตรกรในชนบท เป็นโครงการที่โปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นในบริเวณพระตำหนัก สวนจิตรลดา เริ่มตั้งแต่พศ. 2503
ภายในพระราชวังสวนจิตรฯจะมี โครงการป่าไม้สาธิต โครงการนาข้าวทดลอง โครงการเลี้ยงปลานิล โครงการยุ้งฉางข้าว โครงการบดแกลบและอัดแท่ง เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น
ส่วนโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรในชนบทนั้นจะ เป็นโครงการซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการในพื้นที่ทุรกันดาร และมีปัญหาเกี่ยวกับที่ดินและน้ำ ทรงนำผลการค้นคว้าทดลอง ไปใช้ในพื้นที่ซึ่งเหมาะสมแก่การปลูกพืชพันธ์ใหม่ๆ เช่น หม่อน ยางพารา ปลูกพืชเพื่อการบำรุงดิน เช่น หญ้าแฝก พืชที่เป็นประโยชน์ต่อการบริโภคและใช้เป็นยา เช่น สมุนไพร
นอกจากปลูกพืชแล้วยังมีการเลี้ยงสัตว์ โดยใช้พันธุ์สัตว์ที่เหมาะสม เช่น โคนม โคเนื้อ แพะ แกะ ปลา ทรงแนะนำวิธีปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อน ราคาถูก เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้

6-jpg
ในการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎรนั้น พระองค์ทรงวางรากฐานการพัฒนา การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรสามารถ “ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน” และพอมีกินมีใช้ มีความสุขในสภาพแวดล้อมของตนเอง เช่นในปี 2518 พระองค์ทรงริเริ่มให้มีการปฏิรูปที่ดินกว่าห้าหมื่นไร่ ในที่นาของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในภาคกลาง
ก่อนจะขยายผลในโครงการจัดสรรและปฏิรูปที่ดิน พัฒนาที่ดินที่ว่างเปล่า เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ดินได้ทำกิน ตลอดไปในพื้นที่ทั่วประเทศโดยสปก. และหน่วยงานด้านเกษตร หน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพด้านเกษตร จัดตั้งหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร

3-jpg
ทรงพระราชทานแนวคิด แนวทางการปฏิบัติ ต่างๆ ให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ในทุกระดับ ให้รอดพ้นจากวิกฤติและดําเนินอยู่ในสังคมได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

5-jpg
” แผ่นดินไทยอุดมสมบูรณ์
สุขเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตดี
เพียงก้าวตามรอยองค์ภูมี
แผ่นดินนี้แผ่นดินทองของ..ทุกคน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น