สกู๊ปพิเศษ ชุมชน”สองแควพัฒนา” ร่วมใจ ลดใช้สารเคมี

b-3-jpg
การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ทำให้ความเจริญย่างกลายเข้าสู่ชุมชน จากที่เคยปลูกพืช ทำการเกษตรเพื่อยังชีพ เหลือกินก็แบ่งปัน กลายเป็นปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อส่งขาย สร้างรายได้ คำนึงถึงปริมาณของผลผลิตเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมี ปุ๋ย ยา เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ปริมาณมากๆ
บ้านสองแควพัฒนา หมู่ 12 ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก ก็เช่นกัน หมู่บ้านแห่งนี้ผู้ติดกับเขตจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 3,500 ไร่ มีประชากร 642 คน 153 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก 130 ครัวเรือน ปลูกกล้วยไข่ มะละกอ ฝรั่ง และนาข้าว
ชาวบ้านสองแควพัฒนาที่มีวิถีการผลิตปลูกพืชเพื่อขาย จึงเผชิญกับปัญหาสุขภาพ เนื่องจากใช้ปริมาณสารเคมีทางการเกษตรสูงเกินกว่ามาตรฐาน ดังนั้นชุมชนจึงจัดทำ “โครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่บ้านสองแควพัฒนา” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแก้ไขปัญหาโดยลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและใช้สารอินทรีย์ทดแทน อันจะส่งผลให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดรายจ่ายในครัวเรือน และสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านดีขึ้น
ทรงกลด ไชยวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสองแควพัฒนา บอกว่าหมู่บ้านของเขามีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 400 ไร่ ครึ่งหนึ่งจะเป็นที่นาที่เหลือจะเป็นสวนกล้วยและปลูกผักบ้างเล็กน้อย ที่ผ่านมาชาวบ้านจะใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตส่งขายได้เงินเยอะๆ เพราะคิดว่าจะได้อยู่ดีกินดีการใช้สารเคมีแบบขาดการยั้งคิดมานาน ทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคผิวหนังจากการใช้สารเคมีจำนวน 20 ราย และผลตรวจสุขภาพเกษตรกรจำนวน 260 ราย อยู่ระดับไม่ปลอดภัยและมีภาวะเสี่ยงจำนวน 58 ราย
ยิ่งกว่านั้น เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คลองส่งน้ำเน่าเสีย ในน้ำก็มีแต่สารปนเปื้อน แค่ลงไปในน้ำก็เกิดผื่นคันแล้ว สัตว์น้ำ เช่น ปู ปลา ตาย ปลาในคลองมีแผลที่ผิวหนัง ในนาข้าว ไม่มีปลาอาศัยอยู่ เพราะมีสารเคมีตกค้าง ทั้งๆ ที่ในอดีตชาวบ้านเคยหาปูหาปลาในนา ในห้วย ในคลอง มากินได้ขณะเดียวกัน รายจ่ายครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นๆ เกิดภาวะหนี้สินในครัวเรือน เพราะต้องหมดเงินไปกับการซื้อปุ๋ยซื้อยาที่แพงขึ้นๆ คนที่ไม่มีเงินซื้อก็ใช้สินเชื่อก่อร่างสร้างหนี้อีกไม่น้อย
ดังนั้นจึงได้เข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ของ สสส. เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สารเคมี เพราะชาวบ้านยังขาดความรู้เรื่องเกษตรปลอดสารพิษและผักปลอดสารพิษ การทำบัญชีครัวเรือน และชุมชนไม่มีการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ในเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ แต่จะให้ชาวบ้านเลิกใช้คงเป็นไปได้ยาก จึงทำลักษณะการรณรงค์ลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง และส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทน
ผู้ใหญ่ฯ ทรงกลด เล่าถึงการเริ่มทำโครงการว่า สิ่งแรกที่ต้องทำ คือจัดตั้งสภาผู้นำชุมชน เพื่อขับเคลื่อนโครงการและชุมชน มีสมาชิกที่มาจากทุกภาคส่วนจำนวน 35 คน มีการประชุมทุกเดือน จากนั้นจัดประชาคมเพื่อหาข้อสรุปการทำโครงการร่วมกับชาวบ้าน เพราะการขับเคลื่อนโครงการต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ คน จากนั้นพัฒนาศักยภาพคณะทำงานด้วยการไปศึกษาดูงานเกษตรปลอดสารพิษและนำมาประชุมจัดแผนงาน
กิจกรรมที่จัดอบรมให้กับชาวบ้าน ได้แก่ การทำปุ๋ยชีวภาพ ทำน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง อบรมพร้อมสาธิตพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ รณรงค์และการให้ความรู้เรื่องเกษตรปลอดสารพิษ อบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดสารพิษ อบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกลุ่มสมุนไพร กิจกรรมบัญชีครัวเรือนและสหกรณ์ชุมชนผักปลอดสารพิษ เป็นต้น
ด้าน ประยูร แย้มแบน ประธานสภา อบต.ยกกระบัตร กล่าวว่า การจะไปบอกให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในทันที ก็เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อทำโครงการกับสสส. ช่วยให้หลายคนลดการใช้สารเคมีลงไปบ้าง และใช้สารอินทรีย์ทดแทนในบางส่วน เช่น น้ำหมักชีวภาพไล่แมลงและปุ๋ยหมัก เป็นต้น พร้อมทั้งทำแปลงนาสาธิตไว้เป็นตัวอย่างให้คนที่สนใจได้ไปแวะเวียนดูด้วย
เมื่อภาพรวมทำได้ยาก ประธานฯประยูร จึงมามองจุดเล็กที่สามารถเป็นจุดเริ่มต้นได้ นั่นคือ การปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน เพราะปกติชาวชุมชนสองแควพัฒนาจะปลูกผักไว้กินในครัวเรือนอยู่แล้ว เหลือก็เก็บขาย เก็บแบ่งปันเพื่อนบ้าน ผักส่วนใหญ่ปลูกตามฤดูกาล เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำ บล็อกโคลี่ มะเขือ ฟัก บวบ กะเพราะ โหระพา ถั่ว พริก ผักบุ้ง ฯลฯ โดยมีชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการด้วยการปลูกแบบปลอดสาร จำนวน 72 ครัวเรือน ใช้ปุ๋ยหมัก น้ำยาสมุนไพรไล่แมลง ผักที่ปลูกเน้นกินสวยไม่สวยไม่เป็นไร ไม่เน้นขาย ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน และที่สำคัญคือ ชาวบ้านได้กินผักที่ปลอดสารพิษและดีต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ชุมชนยังได้จัดมหกรรมตลาดนัดเกษตรปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ ในงานมีการประกวดพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ประกวดอาหารปลอดสารพิษจากผลผลิตของชุมชน ประกวดผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประกวดเกษตรกรอินทรีย์ตัวอย่าง จัดนิทรรศการเกษตรปลอดสารพิษ พร้อมทั้งจัดประกวดคำขวัญและภาพวาดเกษตรปลอดสารพิษโดยนักเรียน เดินรณรงค์ภายในหมู่บ้านเพื่อสร้างกระแสให้ชุมชนได้ตื่นตัว
“ปัจจุบันมีครัวเรือนที่ลดใช้สารเคมีจำนวน 80 ครัวเรือน จาก130 ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมถือว่าลดลง แต่ที่ยังลดไม่ได้คือ ปุ๋ย ส่วนใหญ่ที่ลดคือ ส่วนของกำจัดวัชพืช เราหวังว่าแปลงผักปลอดสารพิษจะเป็นตัวจุดประกายให้เขาได้ลดสารเคมีต่อไปในอนาคต” ประยูร กล่าว
รพ.สต. ก็เป็นอีกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อน “โครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่บ้านสองแควพัฒนา” เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงเรื่องของสุขภาพ
จิตราพร ทิอุด พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.แม่ระวาน กล่าวว่า แนวทางส่งเสริมสุขภาพ เอาเกณฑ์ ของสปสช.เป็นตัวออกแบบ เมื่อชาวบ้านต้องการลดใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม จึงเริ่มให้เก็บข้อมูลด้านสุขภาพ จากนั้นก็เข้าไปพูดคุย ประชุมหลายเวที จากที่ไม่รู้มาก่อน ชาวบ้านก็ค่อยๆ รู้ และร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้น
“การแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเป็นระบบและทำอย่างจริงจัง โดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นฐาน แม้ว่าเราจะลดสารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรมไม่ได้ ก็ให้เขาลดในส่วนที่กินเข้าไป เช่น พืชปลักในครัวเรือน ถ้าทำได้ก็ถือว่าสำเร็จระดับหนึ่ง” หมอจิตราพร ของชาวบ้านสองแควพัฒนากล่าว
“บ้านสองแควพัฒนา” ถือเป็นชุมชนที่มีผู้นำที่แข็งแกร่ง และมีมวลชนพร้อมให้การสนับสนุน ที่เล็งเห็นปัญหาของการใช้สารเคมี จึงได้รีบปรับตัวช่วยกนแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้นานไป สุขภาพของคนในชุมชนก็คงแย่ลงเรื่อยๆ จนเกินเยียวยา.

ร่วมแสดงความคิดเห็น