จุดพลุ ปล่อยโคม ไม่ขออนุญาต ติดคุก ประกาศราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว

 

img_8667

วันที่ 18 ต.ค.59 เวลา 14.00 น. ที่ห้องราชพฤษณ์ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายพุฒิพงษ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เรียกประชุมนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ริม อ.สันทราย อ.หางดง อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันป่าตอง และ อ.แม่ออน เพื่อซ้กซ้อมแนวทางปฏิบัติในการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ซึ่งออกตามคำสั่ง คสช.ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน

img_8664ห้ามจุดพลุ ปล่อยโคมนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค.59 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 ฉบับ และให้มีผลบังคับใช้แล้ว ประกอบด้วย ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการจุดและปล่อยพลุ หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกับพลุ ขึ้นไปสู่อากาศ ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้ตะไล หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ และ ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน (ว่าวฮม) หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ
ทั้งนี้ในส่วนของประกาศที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่โดยตรง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ก็คือ ประกาศจังหวัดในเกี่ยวกับเรื่อง โคม โดยมาสาระพอสรุปได้ว่า การปล่อยโคมลอยหรือโคมควัน ให้ปล่อยได้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันกระทงเล็กของเชียงใหม่ โดยปล่อยได้ในระหว่างเวลา 10.00 น.ถึงเวลา 12.00 น. เพียงวันเดียวเท่านั้น ส่วนโคมอีกประเภทที่เรียกว่า โคมลอยหรือโคมไฟ คือโคมที่ต้องจุดไฟในโคมแล้วปล่อยลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ในประกาศอนุญาตให้ปล่อยได้ 3 วัน วันแรกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันกระทงเล็ก วันที่ 2 วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 หรือวันกระทงใหญ่ และวันที่ 3 ที่อนุญาตให้ปล่อยคือ วันที่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยทั้ง 3 วันที่อนุญาตให้ปล่อยโคมลอยหรือโคมไฟนี้ ปล่อยได้ระหว่างเวลา 19.00 น. ถึงเวลา 01.00 น. เท่านั้น
ส่วนโคมที่จะปล่อยได้นั้น โคมไฟ ต้องให้ได้มาตรฐาน มผช.808/2552 ตัวโคมต้องมีขนาดไม่เกิน 1 ลบ.ม. มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 ซม. สูงไม่เกิน 140 ซม. และทำจากวัสดุธรรมชาติ ในส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงให้ทำจากกระดาษชุบเทียนขี้ผึ้งหรือพาราฟิน น้ำหนักไม่เกิน 55 กรัม มีระยะเวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ส่วนโคมควันที่จะปล่อยได้ต้องทำจากกระดาษว่าวขนาดไม่เกิน 72 แผ่น ปากโคมมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 60 ซม. และให้หลีกเลี่ยงการใช้กระดาษสีเดียวกับท้องฟ้า เช่น สีฟ้า สีขาว หรือสีเทา
สำหรับประกาศฉบับที่เกี่ยวกับการจุดหรือปล่อยปั้งไฟ มีกำหนดให้ปล่อยได้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมเท่านั้น แต่ละหมู่บ้านให้จุดและปล่อยได้แค่ 1 วันต่อปี โดยหมู่บ้านใดไม่เคยจัดให้มีการปล่อยปั้งไฟมาก่อนที่จะมีประกาศนี้ ห้ามจัดให้มีการปล่อยปั้งไฟเป็นอันขาด และกำหนดให้จุดและปล่อยได้ระหว่างเวลา 13.00 น.ถึงเวลา 17.00 น.เท่านั้น ส่วนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต้องไม่เกิน 3.5 นิ้ว ยาวไม่เกิน 280 ซม. ส่วนประกาศฉบับที่เกี่ยวกับการจุดและปล่อยพลุ อนุญาตให้จุดและปล่อยได้ในงานพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร วันลอยกระทงทั้งวันขึ้น 15 ค่ำและวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี โดยอนุญาตให้จุดและปล่อยได้ระหว่างเวลา 19.00 น. ถึงเวลา 01.00 น. นอกจากนี้ยังกำหนดให้จุดและปล่อยได้ในงานอวมงคล งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานแข่งขันกีฬา หรืองานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เคยมีประวัติในการจุดและปล่อยพลุมาก่อน พร้อมกับกำหนดขนาดของพลุไว้ที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อไม่เกิน 12 นิ้ว และจุดปล่อยได้ไม่เกิน 500 นัดต่อวัน ยกเว้นการจุดพลุในวันจุดเทียนชัยถวายพระพร
ส่วนประกาศฉบับที่เกี่ยวกับการจุดและปล่อยตะไล กำหนดให้จุดและปล่อยได้ในงานอวมงคลเท่านั้น โดยกำหนดขนาดกระบอกของตะไลไม่เกิน 1.5 นิ้ว และเส้นผ่านศูนย์กลางของตะไลไม่เกิน 12 นิ้ว ปล่อยได้ไม่เกิน 40 วงต่อ 1 ใบอนุญาต ส่วนวัสดุที่นำมาผลิตต้องเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและไม่มีส่วนผสมของโลหะ ทั้งนี้การจะจุดและปล่อยปั้งไฟ พลุ ตะไล โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายกัน ต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอในพื้นที่ก่อนจึงจะจุดหรือปล่อยได้
ทั้งนี้คำสั่ง คสช.ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายอำเภอแห่งท้องที่ ซึ่งรับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่จะจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใดนั้น ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตของนายอำเภอแห่งท้องที่ และให้จังหวัดจัดทำประกาศจังหวัดโดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะกรมการจังหวัดและสภาวัฒนธรรมจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาและมีผลบังคับใช้แล้ว 4 ฉบับ ซึ่งการจัดกิจกรรมที่ต้องมีการจุดหรือปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอก่อน ซึ่งคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืน ไม่ขออนุญาตนายอำเภอก่อน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 4 ฉบับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น