ดันรร.เถื่อนเข้าระบบ แก้ปัญหาตัดราคา

b5-w9h6-10มหาดไทย-สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ดันแก้ไขกฎหมาย หวังดึง “โรงแรมเถื่อน” เข้าระบบ เพื่อแก้ปัญหาการแข่งกัน “ตัดราคา” จนทำให้ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถปรับราคาห้องพักได้

นายบัณฑูร นริศรางกูร ผู้อำนวยการส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ปลดล็อก-โอกาสสุดท้าย ทำโรงแรมให้ถูกกฎหมาย” ว่า ที่ผ่านมา พ.ร.บ.โรงแรมเพิ่งผ่านการปรับปรุงเพียงแค่ครั้งเดียว เมื่อปี 2547 หลังจากใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2478 โดยแบ่งโรงแรมเป็น 4 ประเภท คือ 1.โรงแรมที่มีห้องพักอย่างเดียว 2.โรงแรมที่มีห้องพักและห้องอาหาร 3.โรงแรมที่มีห้องพัก ห้องอาหาร และห้องประชุม หรือสถานบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง และ 4.โรงแรมที่มีครบทั้ง 4 ฟังก์ชั่นดังกล่าว

พร้อมกำหนดคำนิยามใหม่ว่า โรงแรมคือสถานที่พักซึ่งจัดตั้งขึ้น มีประสงค์ทางธุรกิจ ให้ที่พักชั่วคราวแก่บุคคลเดินทางและบุคคลอื่นใด โดยแลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทน ไม่นับรวมกับสถานที่ราชการ สถานที่พักให้เช่ารายเดือนขึ้นไป และสถานที่พักซึ่งมีห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง และเข้าพักไม่เกิน 20 คน

ซึ่งตามคำนิยามนี้ สถานที่พักที่ให้เช่าต่ำกว่ารายเดือนก็ถือเป็นโรงแรม ดังนั้นผู้ประกอบการที่ให้บริการที่พัก อาทิ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์, เกสต์เฮาส์, โฮมสเตย์, หอพัก, ตึกเช่า, ห้องแถว และอื่นๆ หากเปิดให้เช่าต่ำกว่ารายเดือน ถือว่าได้ประกอบธุรกิจโรงแรม

“เมื่อปี 2551 มหาดไทยผ่อนปรนให้ธุรกิจที่พักที่ต้องการจะจดทะเบียนเป็นโรงแรม ให้มายื่นขอใบอนุญาตได้ภายใน 1 ปี หรือภายในปี 2552 และมีธุรกิจที่พักมายื่นขอจดทะเบียนเป็นโรงแรมมากถึง 3,710 แห่ง แต่สุดท้ายยังเข้าระบบไม่ได้ เพราะกฎกระทรวงไปอิงกฎหมาย 4 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ. ผังเมือง, พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.สาธารณสุข ต้องทำให้ถูกต้องทั้ง 4 ฉบับก่อน จึงจะได้รับอนุญาตเป็นโรงแรมถูกต้องตามกฎหมาย”

ทั้งนี้เมื่อปี 2554 มหาดไทยจึงตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรงแรมผิดกฎหมาย ขึ้นมา และได้ข้อสรุปว่าเกิดจาก 3 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาผังเมือง เกิดจากโรงแรมไปตั้งอยู่ในผังเมืองที่ไม่สามารถอนุญาตให้สร้างโรงแรมได้ ปัญหาที่จอดรถ เพราะโรงแรมขนาดเล็กหลายแห่ง ไม่ได้มีเงินทุนและพื้นที่มากพอ กรมโยธาธิการฯ จึงออกกฎกระทรวง อนุญาตให้โรงแรมขนาดเล็ก ประเภท 1 และ 2 หากพื้นที่ห้องโถงและพื้นที่พาณิชย์ไม่เกิน 300 ตารางเมตร ไม่ต้องมีที่จอดรถได้ และปัญหาจากตัวอาคาร เนื่องจากการก่อสร้างโรงแรมขนาดเล็กส่วนใหญ่ใช้วัสดุที่ต่ำกว่าสเป็กที่กฎหมายกำหนด ก็ได้มีการปรับสเป็ก เช่น เรื่องวัสดุทนไฟให้เหมาะสมกับขนาดโรงแรม โดยยังอยู่ภายใต้ความปลอดภัยเป็นสำคัญ

สิ่งที่กระทรวงต้องเร่งทำตอนนี้ คือ การดึงโรงแรมนอกระบบ ตามสถิติของกรมการท่องเที่ยว ระบุมีกว่า 10,382 แห่ง หรือประมาณ 5.26 แสนห้อง ให้เข้ามาจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50% ของจำนวนดังกล่าว

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.โรงแรม ฉบับล่าสุดเมื่อปี 2547 แต่ตอนนั้นธุรกิจโรงแรมยังไม่บูมมาก เพิ่งจะมาบูมเมื่อปี 2552 ช่วงปี 2552-2558 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวบูมถึงขีดสุด ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติขยับจาก 14 ล้านคน และเพิ่มเป็น 30 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 16-17% ต่อปี

“เมื่อข้อจำกัดด้านผังเมือง ที่จอดรถ และตัวอาคาร ได้รับการแก้ไขเรียบร้อย แล้วสมาคมหวังอย่างยิ่งว่าจะเห็นโรงแรมจำนวนมากเข้ามายื่นคำขอจดทะเบียน และพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา”

จากนี้ไป 6 เดือน หากโรงแรมนอกระบบยังไม่ยื่นขอจดทะเบียน สมาคมจะผลักดันให้มหาดไทยนำจับอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 44 ของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร เพื่อระงับการใช้อาคารในกรณีใช้อาคารผิดประเภท พร้อมเสนอให้แก้ พ.ร.บ. โรงแรม ด้วยการเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับให้หนักขึ้น

“การจดทะเบียนอย่างถูกต้อง มีข้อดีหลายๆ อย่าง อาทิ ทำให้สามารถประกอบธุรกิจโรงแรมและโปรโมตได้อย่างที่ต้องการ และสามารถใช้ใบอนุญาตเป็นเครื่องมือในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับภาครัฐได้ ฯลฯ หลังจาก 5 ปีนับจากนี้ สมาคมคาดว่าจะเห็นการแข่งขันที่ยุติธรรมขึ้นของโรงแรม โดยเฉพาะในเรื่องราคาห้องพัก และหนุนให้ภาพรวมรายได้ธุรกิจโรงแรมของประเทศไทยเติบโตมากขึ้น”

ร่วมแสดงความคิดเห็น