ไฟเขียวยกเว้น ภาษีเครื่องจักร เครื่องมือแพทย์

b3-w9h7-9

BOI เตรียมยกเว้นภาษีเครื่องจักรเก่าผลิตเครื่องมือแพทย์ พร้อมปรับสิทธิประโยชน์จาก A3 เป็น A2 ได้สูงสุดจาก 5 ปีขึ้นไป เป็น 8 ปี เตรียมประกาศร่างใหม่ พ.ย.นี้

นายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านความเห็นชอบยกเว้นภาษี ลดหย่อนอากรการใช้เครื่องจักรเก่า ที่นำเข้ามาเพื่อใช้ผลิตเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เห็นชอบและเสนอมาเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ทางกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพได้ทำเรื่องเสนอขอไป ทั้งนี้ ตามขั้นตอนทางบีโอไอต้องไปดำเนินการปรับแก้เงื่อนไขในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยรายละเอียด ของร่างประกาศสิทธิประโยชน์การลงทุนใหม่ที่จะให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้เครื่องจักรเก่าในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ จะได้รับการยกเว้นภาษีเครื่องจักรเก่าจะกำหนดตามระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำยกเว้นภาษีเครื่องจักรจากเดิม 2 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี รวมทั้งปรับให้กลุ่มชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ซึ่งปกติกำหนดเป็นประเภทกิจการ A3 จะได้สิทธิประโยชน์ 5 ปี ได้ปรับขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม A2 ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเป็น 8 ปี อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะส่งผลให้นักลงทุนมีโอกาสที่จะเพิ่มกำลังการผลิต และพัฒนาสินค้าส่วนของชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ขึ้นอีกมาก

“เดิมบีโอไอไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์นี้ และมองว่าเครื่องจักรเก่าจะผลิตเครื่องมือแพทย์ไม่ได้มาตรฐาน เราชี้แจงว่าเครื่องจักรใหม่นำเข้าแต่ละครั้งแพงมาก และเครื่องจักรเก่าที่ได้สิทธิประโยชน์จะมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบว่า ต้องมีอายุงานกี่ปี กำลังการผลิตต้องตามที่กำหนดเท่านั้น”

ปัจจุบันบีโอไอแบ่งกลุ่มสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ โดยกลุ่ม A คือ จะได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล เครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร สำหรับกลุ่ม A2 ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และกลุ่ม A3 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี เป็นสัดส่วน 100% ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ฯ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมในประเทศทุกผลิตภัณฑ์ ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และนำเข้า 1 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2559 จะเติบโตได้สูงถึง 15% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตเพียง 10% เป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมต่างๆ และสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ การร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการใช้การวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงการรวมกลุ่มของสมาชิกที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้สามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

จากการร่วมมือกันของภาคเอกชนและรัฐบาล อุตสาหกรรมทางการแพทย์ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2-3 แสนล้านบาท (ยกเว้นถุงมือยาง เข็มฉีดยา เป็นต้น) จากปี 2558 มีมูลค่า 71,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 40,000 ล้านบาท และมูลค่านำเข้า 31,000 ล้านบาท

หลังการรวมกลุ่มจัดตั้งสมาคมขึ้นมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 45 ราย จากผู้ประกอบการในประเทศที่ขึ้นทะเบียน 480 บริษัท แม้ว่าจะยังน้อย แต่การรวมกลุ่มกลับทำให้อำนาจการต่อรอง และการร่วมมือบูรณาการกันมีมากขึ้น โดยที่ผ่านมาทางกลุ่มได้พาสมาชิกร่วมเดินทางไปจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว กว่า 30 บริษัท คาดว่าหลังจากนี้จะเห็นความร่วมมือกันในระยะเริ่มต้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมการแพทย์บริการ (Medical Hub Service) ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งไทยสามารถเติบโตในระดับอาเซียนได้ ล่าสุดได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ จากภาควิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกันส่งเสริมและแก้อุปสรรคในการทำมาตรฐานสากล รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสร้างศูนย์ทดสอบ หรือห้องแล็บใช้ในประเทศ ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งไปทดสอบยังสิงคโปร์สูงถึง 10 ล้านบาท/ผลิตภัณฑ์/ครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น