เปิดประตูค้า ดูดนักลงทุนไทย-บังคลาเทศ

b4-w14h9-1ไทย-บังกลาเทศลุยหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์แจงบังกลาเทศนับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทางด้านการค้าและการลงทุนของไทย เนื่องจากมีตลาดแรงงานจำนวนมากและค่าจ้างแรง งานตํ่า ชูมีบริษัมจากไปไทยเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศแล้วถึง 8 บริษัท ชี้บังกลาเทศ เป็นคู่ค้าอันดับ 44 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วนี้ Ms. Saida Muna Tasneem เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ได้เข้าพบเพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ประเทศไทยและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากบังกลาเทศนับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทางด้านการค้าและการลงทุนของไทย เพราะมีที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีตลาดแรงงานจำนวนมากและค่าจ้างแรงงานต่ำ ซึ่งสินค้าและบริการจึงเป็นเป้าหมายของไทยในบังกลาเทศ ได้แก่ อาหาร เครื่องจักรกลและเครื่องจักรกลการเกษตร บริการก่อสร้าง อัญมณี และเครื่องประดับ บริการโลจิสติกส์ ทั้งนี้ทางบังกลาเทศต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนในสาขาการท่องเที่ยว เนื่องจากบังกลาเทศมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่ง

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า โดยทางภาครัฐมีกลไลการหารือ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ คือ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ เพื่อเป็นเวทีในการหารือแนวทางการขจัดปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและมีการจัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในบังกลาเทศแล้ว เช่น บริษัท ซีพี จำกัด, บริษัท Thai Classical Leather จำกัด, บริษัท ไทยน้ำแร่ จำกัด, บริษัท ไทยเพรสซิเดนส์ฟู้ด จำกัด, บริษัท สยามซีเมนต์กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท Double A จำกัด และบริษัท บางกอก เคเบิ้ล จำกัด

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ประเทศบังกลาเทศ เป็นคู่ค้าอันดับ 44 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย และปากีสถาน ตามลำดับ ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มีการค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 965.61 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 902.79 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.20 ของการค้าทั้งหมดของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ปูนซีเมนต์ เส้นใยประดิษฐ์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เหล็ก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูปและกึ่งแปรรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งจากผัก ผลไม้ ด้าย และเส้นใย พืช และผลิตภัณฑ์จากพืช สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น