ปีหน้าติวเข้ม สารตกค้าง ผักผลไม้ไทย

b2-w4-5h5-13
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กระทรวงเกษตรฯ เผยแผนปี 60 ลุยลดการปนเปื้อนสารตกค้างในผักและผลไม้ มุ่งครอบคลุมทุกด้านทั้งแหล่งผลิตและปัจจัยการผลิต พร้อมพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจชนิดสารได้มากขึ้น เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบ GAP ที่มีแต่สินค้าปลอดภัย ตอกย้ำการเป็นเมืองที่มีแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ หวังช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตร มีภารกิจตามนโยบายอาหารปลอดภัยในด้านที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบรับรองแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญในการกำกับดูแลรับผิดชอบในเรื่องปัญหาการปนเปื้อนของสารตกค้างในผักและผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง

b1-w27h9-14ด้านนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินการผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1.การทวนสอบระบบรับรองการผลิตเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทำแผนสุ่มตรวจสินค้า โดยเฉพาะผักและผลไม้ในตลาดโดยในปี 2559 มีการสุ่มตัวอย่างผลผลิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากแหล่งผลิตและจำหน่ายรวม 9,483 ตัวอย่าง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเกษตรกรยังปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในระบบ GAP พร้อมกับพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารตกค้างให้สามารถตรวจสอบชนิดสารได้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิม 140 สาร เพิ่มเป็น 172 สารในปีนี้อีกด้วย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ส่วนข้อ 2.การให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้สารที่ถูกต้อง รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรรู้จักการลดการใช้สารเคมี ผ่านระบบการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยการใช้ชีวภัณฑ์มาเพิ่มเฉพาะในส่วนที่จำเป็น ซึ่งดำเนินการขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ (ศพก.)โดยในปี 2560 ตั้งเป้าหมาย จะขยายความรู้เรื่องชีวภัณฑ์ในพื้นที่ ศพก. อย่างน้อย 30 ศูนย์ และ3.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะด้านการควบคุมคุณภาพปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตรจะส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรออกตรวจสอบในแหล่งผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทั้งประเทศ โดยในปี 2560 มีเป้าหมายในการตรวจวัตถุอันตรายนำเข้า 550 ตัวอย่าง ตรวจโรงงานผลิตวัตถุอันตราย 100 โรงงาน ตรวจร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการปัจจัยการผลิตคุณภาพหรือร้าน Q-shop และร้านค้าที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 23,570 ร้านค้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างทั้งปุ๋ยและวัตถุอันตรายมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งยังมีแผนตรวจติดตามคุณภาพวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนแล้ว นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรจะตรวจรับรองร้านค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สมัครเข้าร่วมโครงการร้าน Q-shop อีกจำนวน 1,580ร้าน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ยังมีแผนการดำเนินงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การทดลอง และทดสอบสารเคมี เพื่อใช้ทดแทนสารเดิมที่มีข้อมูลมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยทดแทนสารเคมีเดิม รวมทั้งการทดลอง ทดสอบ ชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพควบคุมศัตรูพืช เพื่อให้ได้ชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช และยังทำการทดลองเพื่อกำหนดค่าปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ไม่เกินค่าความปลอดภัย (MRL)ในผักและผลไม้ เช่น คะน้า ถั่วฝักยาว ทุเรียน มะม่วง มะเขือ พริก และลำไย เพื่อเป็นเกณฑ์ในการยอมรับแทนการใช้ค่าของสารตกค้างซึ่งเป็นค่าต่ำสุดที่ประเทศนั้น ๆ กำหนดยอมให้มีได้ในผลิตผล ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับผู้นำชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน ในการแจ้งเบาะแสกับทางภาครัฐ เพื่อยับยั้งกระบวนการขายและจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป นายสุวิทย์ กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น