ลุ่มน้ำแม่อาว ลำพูน โครงการพระราชดำริ ในหลวง

2-jpg
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณาสำรวจและวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย เพื่อช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่ให้มีน้ำใช้เพาะปลูก ใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดปี
พระองค์ทรงมีรับสั่งความตอนหนึ่งว่า “ที่เกิดเรื่องที่โครงการใหญ่ ๆ เขาเกิดเรื่องอะไร เอะอะเดินขบวนกัน เพราะว่าคนที่ย้ายไปแล้ว ก็ย้ายไปในที่ที่ทำกินไม่ได้ เขาต้องร้องเรียน นี่ถ้าร้องเรียนอย่างนั้นแก้ยาก แต่ถ้าเราไม่ละเลยเมื่อเขาย้ายไปแล้ว ก็จะมีที่ที่จะทำมาหากินได้ ก็ตอนแรกก็ยังไม่เห็นด้วย แต่เราก็พิสูจน์ได้ แล้วโครงการเล็ก ๆ นี้ก็เป็นโครงการตัวอย่าง”
ทั้งนี้ในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว ดำเนินการในลักษณะโครงการร่วม โดย กรมป่าไม้ ดำเนินการเกี่ยวกับการจำแนกประเภทป่าเสื่อมโทรม บริเวณที่ราบดินยังมีคุณภาพดี เพื่อจัดสรรให้ราษฎรไม่มีที่ทำกินได้เข้าอยู่เป็นการถาวร แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า
ส่วนพื้นที่ดอย พื้นที่เนินสูง หรือภูเขาต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่ที่ดินคุณภาพไม่ดี และเสียสภาพป่า ให้ดำเนินการปลูกป่าทดแทน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดระเบียบชุมชน และจัดแบ่งพื้นที่ทำกินและพื้นที่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากจน กรมชลประทาน ดำเนินการเกี่ยวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำแม่อาว พิจารณาก่อสร้างแหล่งน้ำกระจายทั่วพื้นที่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ สระเก็บน้ำ ฝายเก็บกักน้ำ ตามลำน้ำสายต่างๆ รวมทั้งปรับปรุง ขุดลอกคลองบึง ที่มีทั้งหมดในเขตโครงการ
กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการเกี่ยวกับการจำแนก และวางแผนการใช้ประโยชนที่ดิน การปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดิน การแก้ไขปัญหาการชะล้างและพังทลายของหน้าดิน สำนักงาน กปร. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานโครงการฯ ในอดีตบริเวณพื้นที่มีปัญหาหลักๆคือขาดแคลนน้ำ น้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม ขาดที่ดินทำกิน คุณภาพดินมีกรวดทราย ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินตื้น เป้าประสงค์ของโครงการฯจะเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว ให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์ ยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่รวมทั้งสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการลุ่มน้ำ
โครงการนี้มีเนื้อที่ 127,058 พื้นที่ ใน 32 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านเหล่าป่าก๋อย,บ้านห้วยอ้อ,บ้านไร่ดง,บ้านน้ำดิบน้อย,บ้านน้ำดิบหลวง,บ้านป่ารกฟ้า,บ้านจำชมพู,บ้านสันป่าฮัก,บ้านสันเจริญ,บ้านใหม่ป่าฝาง,บ้านไร่ดงเหนือ,บ้านหนองหมู,บ้านแม่อาวน้อย,บ้านหนองสร้อย
และบ้านพระบาทตากผ้า,บ้านใหม่บวกคะยอม,บ้านหนองสมณะ,บ้านแม่อาว-โทกน้ำกัด,บ้านปางกอตัน,บ้านโป่งรู,บ้านห้วยไฟ,บ้านนครเจดีย์,บ้านบวกกอห้า,บ้านสันห้างเสือ,บ้านน้ำย้อย,บ้านผาเงิบ,บ้านหนองสมณะใต้,บ้านหนองเจดีย์,บ้านเหล่ายาวเหนือ,บ้านหนองยวง,บ้านหัวห้วย,บ้านร้องเครือกวาวราษฎรร่วมหมื่นครัวเรือนได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และโครงการยังเป็นต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้ ดูงาน สร้างคุณานุประโยชน์ อเนกอนันต์ ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศิริ อันทรินทร์ เรียบเรียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น