ฟ้อนพื้นเมืองเชียงใหม่

dscf01733การฟ้อนและงานบุญของคนเมืองถือเป็นของคู่กัน ทุกครั้งที่มีงานบุญหรืองานปอยก็มักจะต้องมีการฟ้อน การฟ้อนเล็บถือกันว่าเป็นการฟ้อนเพื่อทำบุญอย่างหนึ่ง ช่างฟ้อนส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นหรือเป็นศรัทธาของวัด เวลามีงานปอยที่วัดก็จะมีการฟ้อนเล็บต้อนรับหัววัดต่าง ๆ ที่มาเข้าร่วมขบวนแห่ครัวทาน

เชียงใหม่นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานประเภทวัดวาอารามเก่าแก่และวัฒนธรรมประเพณีอันโดดเด่นแล้ว ศิลปะการฟ้อนรำพื้นเมืองของหญิงสาวชาวเชียงใหม่ในอดีตก็เป็นอีกภาพที่น่าประทับใจ สำหรับผู้คนที่มาเยือน จนก่อเกิดเป็นตำนานรักพื้นบ้านน้อยไจยา,วังบัวบานและสาวเครือฟ้ามาแล้ว

การฟ้อนรำของคนในอดีตถือเป็นแม่แบบของการฟ้อนในปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเยื้องกายไปทางไหนที่มีงานบุญก็มักจะพบเห็นว่ามีการฟ้อนรำอยู่เสมอ จนเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมต่าง ๆ หรือแม้แต่ตามศูนย์วัฒนธรรมก็มักจะมีการฟ้อนรำให้นักท่องเที่ยวได้ชมพร้อม ๆ กับการรับประทานอาหารแบบพื้นเมือง จนเรียกได้ว่าการฟ้อนรำพื้นเมืองเชียงใหม่ถือเป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมืองไปแล้ว

ในอดีตเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จเลียบมณฑลพายัพ ในครั้งนั้น ทางเชียงใหม่ก็ได้มีการจัดถวายรับเสด็จด้วยการฟ้อนของเจ้านายฝ่ายเหนือเชียงใหม่

การฟ้อนของล้านนานั้นมีหลายแบบหลายประเภท ช่างฟ้อนมีทั้งผู้หญิงผู้ชาย คนหนึ่งอาจจะมีความสามารถฟ้อนได้หลายแบบ แต่เวลาแสดงช่างฟ้อนจะเลือกฟ้อนแต่แบบใดแบบหนึ่งเป็นเฉพาะคราวไป ไม่นำมาฟ้อนต่อกันเหมือนกับการซอ เพราะการฟ้อนแต่ละแบบจะมีการแต่งกายและใช้เครื่องดนตรีที่ต่างกันไป

dscf0172

การฟ้อนรำแบ่งออกได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ฟ้อนพื้นเมือง ฟ้อนม่านและฟ้อนเงี้ยว ซึ่งแต่ละประเภทก็มีแตกย่อยไปอีก ส่วนในเชียงใหม่ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นการฟ้อนแบบพื้นเมืองนั่นเอง

รูปแบบการฟ้อนพื้นเมืองที่คนทั่วไปรู้จักก็ได้แก่ “การฟ้อนเล็บ” ซึ่งสัญลักษณ์สำคัญที่คนรู้ได้ก็คือ นิ้วทั้งสองมือยกเว้นนิ้วหัวแม่มือของช่างฟ้อนจะสวมกรวยทองเหลือง โค้งยาว เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบด้วยกลองแอว ฆ้องและฉาบ เวลาตีจะมีทำนอง ต๊ะ ตึง โมง ซึ่งเป็นทำนองช้า ๆ อาศัยการเคลื่อนไหวที่อ่อนช้อยงดงาม
การฟ้อนและงานบุญของคนเมืองถือเป็นของคู่กัน ทุกครั้งที่มีงานบุญหรืองานปอยก็มักจะต้องมีการฟ้อน การฟ้อนเล็บถือกันว่าเป็นการฟ้อนเพื่อทำบุญอย่างหนึ่ง ช่างฟ้อนส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นหรือเป็นศรัทธาของวัด เวลามีงานปอยที่วัดก็จะมีการฟ้อนเล็บต้อนรับหัววัดต่าง ๆ ที่มาเข้าร่วมขบวนแห่ครัวทาน การที่วงฟ้อนเล็บมารับใช้งานของทางวัด วัดจึงกลายเป็นเจ้าของวงฟ้อน โดยมากจะใช้ชื่อวัดนั้น ๆ ในอดีตวงฟ้อนเล็บของวัดพระสิงห์ ซึ่งมาจากสายเจ้าดารารัศมีนับว่ามีชื่อเสียงในเชียงใหม่ แต่เดี๋ยวนี้บางคนว่าต้องจากวัดเจ็ดยอดถึงจะดี

การฟ้อนดาบ ถือเป็นศิลปการฟ้อนรำพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ผสมเอาศิลปการต้องกันตัวเข้ามามีส่วนในการฟ้อนด้วย การฟ้อนดาบเป็นการรำที่ใช้ดาบเป็นเครื่องประกอบ คล้ายกับการรำกระบี่กระบองของภาคกลาง ส่วนฟ้อนเจิงหรือฟ้อนเชิง เป็นการฟ้อนแสดงท่าทางการต่อสู้ด้วยมือเปล่า คล้ายกับการแสดงสิละทางภาคใต้ สองอย่างนี้มักจะใช้ผู้ชายเป็นหลัก มีลวดลายท่วงท่าหลายชั้นเชิง โดยใช้เครื่องดนตรีกลองปู่เจ่ ฉาบและฆ้อง ปัจุบันการฟ้อนทั้งสองอย่างนี้ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย การฟ้อนทั้งหมดนี้ถือเป็นการฟ้อนแบบดั่งเดิมของคนเชียงใหม่

dscf01766
เจ้าดารารัศมี

ส่วนการฟ้อนแบบสมัยใหม่ที่เจ้าดารารัศมีทรงนำมาดัดแปลงนั้นมีหลายอย่าง โดยทรงหัดลูกหลานของเจ้านายฝ่ายเหนือที่เข้ามาถวายตัวอยู่ในคุ้มให้เป็นช่างฟ้อนประจำคุ้ม ในการฝึกฟ้อนเจ้าดารารัศมีทรงนำครูสอนรำจากกรุงเทพขึ้นมาสอนด้วย ทำให้การฟ้อนรำในเวลาต่อมาได้รับอิทธิพลการรำแบบกรุงเทพฯที่มีความเคร่งครัดในเรื่องจังหวะและท่าทางการวางมือวางเท้าเป็นสำคัญ ต่อมาการฟ้อนแบบนี้ก็แพร่กระจายออกมาสู่ภายนอกคุ้ม ชาวบ้านเรียกการฟ้อนแบบนี้ว่า “แบบราชสำนัก” หรือ “แบบคุ้มเจ้าหลวง”

การฟ้อนตามแบบคุ้มเจ้าหลวง นอกจากการฟ้อนเล็บซึ่งมีลักษณะโดยทั่วไปคงเหมือนเดิมและบางส่วนได้นำอิทธิพลของการรำแบบกรุงเทพเข้ามาผสมแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่มักได้พบเห็นบ่อย ๆ ก็คือ “การฟ้อนเทียน” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งรับเสด็จล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ในครั้งนั้นเจ้าดารารัศมี มีพระประสงค์จะจัดฟ้อนถวายในการเสด็จมาเสวยพระกระยาหารเย็น ซึ่งหากใส่กรวยหรือเล็บฟ้อนก็ทรงจะทอดพระเนตรไม่เห็น จึงเปลี่ยนเป็นถือเทียนข้างละเล่มแทน จากนั้นก็ถือเป็นแบบอย่างมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ถ้าหากฟ้อนกลางวันจะใช้การฟ้อนเล็บ หากเป็นกลางคืนก็จะใช้ฟ้อนเทียน
นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ที่เจ้าดารารัศมีทรงคิดขึ้นเพื่อจัดรับเสด็จในคราวเดียวกัน การฟ้อนชุดนี้ทรงดัดแปลงท่ารำจากฟ้อนกำเบ้อหรือระบำผีเสื้อของพม่า

ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นจากพระดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่ทรงตั้งพระทัยจะให้เป็นการฟ้อนที่แปลกไปจากการฟ้อนที่เคยมีอยู่ ดังนั้นจึงรับสั่งให้หาตัวระบำของพม่ามารำถวาย โดยทรงคิดว่า ถ้าท่ารำของพม่าสวยงามเหมาะสมก็จะดัดแปลงและนำมาผสมกับท่ารำของไทย เป็นรำพม่าแปลงสักชุดหนึ่ง จึงได้นักแสดงชายชาวพม่าและนักแสดงหญิงชาวมอญ ชื่อเม้ยเจ่งตา มารำถวายทอดพระเนตร จึงทรงรับไว้เป็นครูฝึกอยู่ระยะหนึ่ง การถ่ายทอดแต่ละครั้งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีจะเสด็จมาควบคุมอย่างใกล้ชิดและทรงเห็นว่าท่ารำของผู้ชายไม่ค่อยน่าดูมากนัก จึงรับสั่งให้ครูฝึกผู้หญิงแสดงท่ารำของระบำพม่าที่เคยแสดงในที่รโหฐานของกษัตริย์พม่าให้ทอดพระเนตร ซึ่งทรงพอพระทัยมากจึงทรงดัดแปลงท่าฟ้อนร่วมกับครูฟ้อนชาวพม่า ชื่อสล่าโมโหย่ หรือโกโมโหย่ (เจ้าอินทนนท์ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐเรียก ปู่ชะโหย่) กลายเป็นระบำหรือฟ้อนชุดใหม่ ทรงให้ผู้ฟ้อนทั้งหมดแต่งกายเป็นกำเบ้อ หรือ ผีเสื้อ สวมใส่เสื้อผ้าถุง ติดปีกแบบนก ติดหนวดที่ศรีษะแบบผีเสื้อเป็นสีน้ำเงินให้เป็นการฟ้อนเลียนแบบพม่า เรียกว่า “เหว่ยเสี่ยนต่า” หรือ “เหว่ยเสี่ยนต่านานโบ่ง” แบบของการฟ้อนนี้มาจากราชสำนักพม่า โดยใช้เพลง “เหว่ยเสี่ยนต่า” ประกอบการฟ้อน เรียกกันแต่แรกว่า “ฟ้อนกำเบ้อ” (ผีเสื้อ) แสดงครั้งแรกในงานฉลองพระตำหนักของพระองค์ ที่สร้างขึ้นใหม่บนดอยสุเทพและจะใช้วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่บรรเลงประกอบการฟ้อน

dscf0174

เมื่อคราพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลพายัพและได้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำ พระราชชายาฯจึงได้จัดฟ้อนชุดนี้แสดงให้ทอดพระเนตร แต่ทรงเปลี่ยนเครื่องแบบจากชุดผีเสื้อ มาเป็นระบำในที่รโหฐาน ตามคำบอกเล่าเดิมจึงได้กลายเป็น “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา” เมื่อปีพ.ศ.2469 นี้เอง
หลังจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแต่งตัวของผู้ฟ้อนเกิดขึ้นทำให้กลายเป็น 2 แบบ คือ

แบบที่ 1. ผู้แสดงทั้งหมดเป็นสตรีล้วน แต่งกายแบบพม่าคือนุ่งผ้าถุงแบบพม่ายาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนยาวชายเสื้อสั้นแค่เอวเล็กน้อยมีผ้าแพรสีต่าง ๆ คล้องคอ ชายผ้ายาวถึงระดับเข่า เกล้าผมมวยกลางศรีษะปล่อยชายลงมาข้างแก้ม มีดอกไม้สดประดับมวยผมและมีอุบะห้อยลงมากับชายผม

แบบที่ 2. ผู้แสดงแต่งกายเป็นชายพม่าแถวหนึ่ง สตรีพม่าแถวหนึ่ง หม่อมแส หัวหน้าครูฝึกได้ทูลถามว่า ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตานี้ จะใช้การแต่งกายชาวแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่งจะสมควรไหม ทรงมีรับสั่งตอบว่า “…เราซ้อมตามแบบอย่างระบำในที่รโหฐานของเขาก็ต้องรักษาระเบียบประเพณีของเขาไว้ ระบำชุดนี้ต้องใช้หญิงล้วนตามธรรมเนียม หากว่าท่ารำซ้ำกันจะตัดออกเสียบ้างก็ดีจะได้ไม่เบื่อตา การรักษาประเพณีเดิมเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าอยากใช้การแต่งกายเป็นพม่าชายบ้าง ก็ดัดแปลงเป็น “ม่านเม่เล้” เป็นชายแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่งก็ได้…”

เพลงที่ใช้บรรเลงมีสำเนียงแบบพม่า จึงเรียกกันว่า “เพลงม่าน” แต่ชาวพม่าเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงโยเดีย” (ไทยอยุธยา) และไม่สามารถสืบหาความเป็นมาของเพลงได้

คำร้องของเพลงประกอบการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา จะเป็นสำเนียงพม่าแต่ชาวพม่าบอกว่าไม่ใช่ภาษาพม่า มอญก็บอกว่าไม่ใช่ภาษามอญ สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นภาษาพม่า แต่จากการรับช่วงสืบต่อกันมาหลายทอด จึงทำให้อักขระวิบัติกลายรูปจนเจ้าของภาษาดั่งเดิมฟังไม่เข้าใจก็อาจเป็นไป

ปัจจุบันฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ถือได้ว่าเป็นการฟ้อนชุดเดียวที่เรายังคงพบเห็นได้บ่อยครั้งกว่าการฟ้อนชุดอื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเภทฟ้อนม่าน และได้กลายเป็นต้นแบบของการฟ้อนพื้นเมืองในปัจจุบัน ความสวยงามของท่ารำและเพลงร้องของฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตานี้ นับได้ว่าเป็นกระบวนการผสมผสานและประดิษฐ์ท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบบการฟ้อนในราชสำนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่สมควรจะได้รับการถ่ายทอดและอนุรักษ์รูปแบบให้คงความถูกต้องไว้สืบทอดต่อไป.

เอกสารประกอบ
ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา ดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านเชียงใหม่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น