แบกเป้ไปนอนนับดาวที่ “ดอยอ่างขาง” ทุ่งดอกไม้หลากสี กับวิถีชีวิตคนบนภูสูง

dsc_0041ใครที่เคยคิดว่าหากจะมีเที่ยวที่ดอยอ่างขาง ต้องขึ้นมาในช่วงฤดูหนาวเท่านั้นถึงจะได้สัมผัสกับอากาศอันแสนหนาวและทุ่งดอกไม้ที่สวยงาม ต่อไปนี้คงต้องเปลี่ยนความคิดแบบเก่า ลบภาพเดิมออกไปจากความทรงจำ เพราะดอยอ่างขางในวันนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางขึ้นมาเที่ยวได้ทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะหนาว ร้อน ฝน

วันเวลาในแต่ฤดูกาลทำให้ดอยอ่างขาง มีเสน่ห์ยวนใจให้คนค้นหา เริ่มจากฤดูหนาวที่อุณหภูมิเฉลี่ย 10 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอากาศหนาวเย็นต้องขึ้นมาเที่ยวในฤดูนี้และโดยเฉพาะความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาวที่ปลูกอยู่รายรอบก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้ดอยอ่างขางได้ไม่น้อย สีสันของอ่างขางจะเพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ต้นไม้ทั้งป่าจะเปลี่ยนสีเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่นักผจญภัยนิยมขึ้นมาเที่ยวในฤดูนี้ เพราะคนไม่พลุกพล่าน ส่วนในฤดูฝนป่าทั้งป่าจะเขียวขจีสลับกับกลุ่มเมฆหมอกฝนแผ่ปกคลุม ก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่ชวนให้หลงใหล

dsc_0058

“อ่างขางจึงเป็นแดนมหัศจรรย์ของนักท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล”

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอแดง บ้านห้วยผักไผ่ ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นบริเวณอ่างขางซึ่งเป็นหุบเขาก้นกระทะ ทงมีพระราชดำริว่า พื้นที่นี้มีอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่น
มาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและมีสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก น่าจะใช้เป็นที่สำหรับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่น เมื่อทรงมีพระราชดำริเช่นนี้ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้จัดเตรียมเป็นแปลงทดลองปลูกพืชต่างๆ ขึ้น ต่อมาในปี 2513 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการมูลนิธิโครงการหลวงได้ทรงขอให้คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอาสาสมัครปฏิบัติงานสนองตามพระราชดำริในการทดลองพันธุ์ไม้เมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ขึ้น เพื่อนำไปส่งเสริมแก่ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น โดยครั้งแรกได้ตั้งเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาว ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

Cr.ภาพ : http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home
Cr.ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home

จากนั้นมาดอยอ่างขาง จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว

นักเขียนชื่อดังอย่าง ภ.ณ. ประมวญมารค ได้กล่าวถึงดอยอ่างขางว่าเป็นดินแดนมหัศจรรย์ ครั้งหนึ่งท่านได้มีโอกาสนั่ง เฮอริคอปเตอร์ไปหมู่บ้านตีนดอย หลังจากที่ท่านเสร็จภารกิจแล้วก็ขอให้นักบิน นำเครื่องบินข้ามเขาที่เป็นขอบขึ้นไป เขาแถวนั้นมีรูปร่างแปลกมาก มนๆ เพราะเป็นเขาหินปูน ตอนที่คมๆ ถูกนํ้าค่อย ๆ ซะและเมื่อข้ามส่วนที่เป็นขอบไปแล้วก็จะเห็นข้างในเป็นหุบยาวๆ คล้ายแอ่งก้นกระทะ คนเมืองเรียกว่า “อ่างขาง”

ท่านเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยพานักบินชาวอเมริกันบินไปยังพื้นที่นี้ เมื่อบินผ่านขอบอ่างเห็นหุบข้างใน นักบินฝรั่งก็เปล่งอุทานออกมาว่า SHANGRI-LA เมื่อได้เข้าไปครั้งแรกก็เห็นไร่ฝิ่นสวยงามมาก “เราเก็บลูกท้อจากต้นที่สูงยังกับยักษ์ เราเจอพวกมูเซอจาก 2 หมู่บ้านในฤดูปลูกฝิ่น เขาอพยพขึ้นไปบนดอยและจูงหมาตามไปด้วย เพราะถ้าทิ้งไว้ก็ไม่มีใครเลี้ยง…

มาเที่ยวดอยอ่างขาง ไม่ว่าฤดูไหน นักท่องเที่ยวจะต้องไม่พลาดการเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนบนภูสูง อันมีหลากหลายชนเผ่า เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอบ้านขอบด้ง หมู่บ้านขอบด้งในยามนี้แม้จะมีชีวิตชีวา แต่ก็แฝงไว้ด้วยความสงบนิ่งอยู่ในที บ้านทุกหลังมีควันไฟสีขาวลอยกรุ่นออกมาจากช่องหลังคาที่มุงด้วยหญ้าคา คลุ้งเคล้าปะปนกับไอหมอกฝนที่พัดผ่านมาเป็นระยะๆ ที่นี่เองคณะของเราได้รู้จักกับมัคคุเทศก์น้อยที่อาสาเป็นไกด์พาคณะเราเดินชมรอบหมู่บ้าน ที่นี่มีการจำลองบ้านของมูเซอให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชม ก่อนที่จะไปชมลานจะคึ ซึ่งเป็นลานศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน จะมีพิธีในตอนเทศกาลกินวอ หรือประเพณีปีใหม่ของมูเซอ หนุ่มสาวหลายคู่จะมาเต้นกันที่นี่ และมีหลายคู่ที่อยู่กินแต่งงานกันไปก็เนื่องจากการเต้นจะคึนั่นเอง

Cr.ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home
Cr.ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home

จากลานจะคึบ้านขอบด้ง เดินลัดเลาะป่าจนมาถึงหมู่บ้านนอแล ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวปะหล่องที่อยู่ติดชายแดนพม่า บริเวณนี้มีฐานปฏิบัติการทหารตั้งอยู่ จากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองข้ามฝั่งเห็นฐานทัพทหารพม่าตั้งอยู่ห่างไม่เกิน 100 เมตร ถือเป็นสถานที่ๆ นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้

จากหมู่บ้านชายแดนมาถึง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่นี่มีไม้เมืองหนาวมากกว่า 200 ชนิดปลูกอยู่ บางส่วนก็ไว้จำหน่ายสำหรับนักท่องเที่ยว จากแปลงเพาะชำไม้เมืองหนาวเราเดิน ต่อไปยังสวนบอนไซ  ซึ่งเก็บรักษาบอนไซ ไม้แคระและสนเมืองหนาวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ซึ่งเอกอัครราชทูตหลายประเทศนำมาถวาย รวมทั้งที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงนำมาจากต่างประเทศ โดยปลูกประดับไว้ในหุบเขาสวนหินธรรมชาติอย่างสวยงาม ที่สวนบอนไซยังมีโดมอนุรักษ์และจัดแสดงพืชภูเขาเขตร้อน ภายในโดมมีพรรณไม้ต่างประเทศและไม้พื้นเมืองเขตภูเขาสูงปลูกแต่งในสภาพธรรมชาติ ซึ่งล้วนน่าศึกษาชื่นชมอย่างยิ่ง

Cr.ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home
Cr.ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home

ดอยอ่างขางนอกจากจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวในช่วงฤดูหนาวแล้ว ฤดูร้อนและฤดูฝนก็มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะอากาศในช่วงหน้าร้อนที่เย็นสบาย ผู้คนไม่พลุกพล่าน อีกทั้งในช่วงหน้าร้อนยังเป็นช่วงฤดูออกผลของผลไม้เมืองหนาวหลายชนิด เช่น บ๊วย ท้อ สาลี่ กีวี เหตุนี้จึงเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวอ่างขางมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นแต่เฉพาะฤดูหนาว ฤดูไหนก็มาเที่ยวอ่างขางได้ ยิ่งถนนหนทางสะดวกสามารถเดินทางมาจากเชียงใหม่ใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว

อ่างขางในวันนี้จึงไม่ได้มีชื่อในเรื่องการปลูกฝิ่นอีกแล้ว หากแต่อ่างขางเป็นชื่อของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามที่สุดและสำคัญของเชียงใหม่ไปแล้ว รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาวิถีชีวิตของชาวเขารวมถึงพันธุ์พืชเมืองหนาวและท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ต้องที่ดอยอ่างขางดินแดนมหัศจรรย์ของนักผจญภัย

Cr.ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home
Cr.ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home

dsc_0118 dsc_0111

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น