ข้าวราคาร่วง ชาวนาครวญ เชียงใหม่จัดตลาดนัดฯ เร่งช่วยเกษตรกร

“ปวิณ” เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกเหนียวราคาตกต่ำ หลังชาวนาครวญราคาข้าวเหลือแค่ตันละ 6,100 บาท ด้านพาณิชย์เร่งจัดตลาดนัดข้าวเปลือกจัดเพิ่มเป็น 6 ครั้ง หวังกระตุ้นการแข่งขัน พร้อมเสนอให้จัดสร้างไซโลขนาดยักษ์แก้ปัญหาเรื่องความชื้นสูง ผลผลิตออกมากช่วงพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงธันวาคมนี้คาดจะมีอยู่ราว 2.7 แสนตัน ส่วนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในการชะลอการขายข้าวช่วยได้แค่ 1,700 ตันเท่านั้น

ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4/2559 โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากขณะนี้ภาวะราคาซื้อขายข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว หรือข้าวเหนียวสันป่าตอง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากตลาดผู้ค้าข้าวเปลือกเหนียวปลายทาง เช่น จังหวัดพะเยา ชัยนาท กำแพงเพชร สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา ชะลอการรับซื้อ เพราะผลผลิตข้าวในพื้นที่จังหวัดปลายทางออกสู่ตลาด ประกอบกับผู้ประกอบการมีสต๊อกข้าวเปลือกเหนียวปีการผลิต 2558/2559 ที่รับซื้อไว้คงเหลืออยู่ในมือ ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อสูงไม่สามารถระบายสินค้าได้ จึงทำให้ขาดสภาพคล่องในการรับซื้อผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 และเกษตรกรในพื้นที่แหล่งผลิต เช่น อำเภอแม่ริม ฝาง และดอยสะเก็ด แจ้งขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือกรณีราคาข้าวเปลือกเหนียวตกต่ำ จึงกำหนดให้มีการประชุมในครั้งนี้ขึ้น

ด้านนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ รายงานถึงสถานการณ์การผลิตข้าวนานาปี 2559/2560 ของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 431,910 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร 624 กิโลกรัม คาดว่าจะผลผลิตรวมราว 269,312 ตัน โดยเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวเหนียวร้อยละ 82.17 ของพื้นที่ ซึ่งกลุ่มพันธุ์ข้าวที่ปลูกประกอบด้วยข้าวเจ้า 54,370 ไร่ ผลผลิต 32,972 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 606.43 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเหนียว 347,560 ไร่ ผลผลิต 218,962 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 629.99 ไร่ และข้าวหอมมะลิพื้นที่ปลูก 29,980 ไร่ ผลผลิต 17,378 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 579.65 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงที่เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเดือนตุลาคมมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วประมาณร้อยละ 12 ของพื้นที่ปลูกคิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 51,829 ไร่ โดยช่วงที่จะมีการเก็บเกี่ยวมากที่สุดอยู่ในช่วงเดือนพ.ย.ถึงเดือนธ.ค.59

ทั้งนี้ในแนวทางการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกเหนียวปีการผลิต 2559/2560 ของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากนั้น ทาง อ.แม่ริม จะมีปัญหาราคาข้าวเหนียวตกต่ำมากเนื่องจากโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกในราคาตันละ 6,100 บาท ส่วน อ.ฝางเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ.ฝาง ประสบกับภาวะขาดทุนเนื่องจากราคาข้าวตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกับ อ.ดอยสะเก็ดที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันจึงเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยหาแนวทางแก้ไขโดยด่วน

ด้านนางนิยดา หมื่นอนัตน์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 ปัญหาก็คือ จำนวนยุ้งฉางมีน้อยและขีดความสามารถในการดูดซับข้าวเปลือกในระบบยุ้งฉางของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ที่สามารถรับข้าวแห้ง 15 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ประมาณ 37,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดซึ่งมีอยู่ราว 269,180 ตัน และศักยภาพในการทำเป็นข้าวแห้ง 15 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณการจัดเก็บคือ 37,000 ตัน ซึ่งแนวทางแก้ไข คือ ขอให้มีการสนับสนุนให้มีเครื่องอบลดความชื้น ให้แก่สถาบันเกษตรกร รวมทั้งการสร้าง Grain Conditioning Silo เพื่อเก็บข้าวเปลือกให้ได้คุณภาพตามความต้องการตลาด และควรให้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และสนับสนุนการอบลดความชื้นข้าวเปลือกให้เกษตรกร

ผู้แทนจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า ปีนี้มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในการชะลอการขายข้าว ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีการสำรวจศักยภาพการรวบรวมข้าวเปลือกและมียุ้งฉางรองรับ โดยมีสหกรณ์การเกษตรที่รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อขายรวม 5 แห่ง แต่ผ่านเกณฑ์เพียง 4 แห่งคือ สหกรณ์การเกษตรฝาง รวบรวมข้าวหอมมะลิ 1,500 ตัน สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดรวบรวมข้าวเหนียว 8,000 ตัน สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง ข้าวเปลือกเหนียว 1,150 ตัน ข้าวหอมมะลิ 1,000 ตันและสหกรณ์การเกษตรพร้าวข้าวหอมมะลิ 6,000 ตัน ขณะที่สหกรณ์นิคมพร้าวเครดิตไม่ผ่านเกณฑ์ จึงเข้าร่วมดำเนินการไม่ได้

ด้าน นางภูษณิศ ไชยมณี ผอ.กลุ่มกำกับดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการของทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ จะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2559/60 ขึ้นมา 6 ครั้ง เพื่อให้เกิดกลไกการแข่งขันการรับซื้อผลผลิตข้าวเปลือกของเกษตรกรให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการจำหน่ายข้าวเปลือกช่วงผลผลิตออกมา คือวันที่ 9-11 พ.ย.ที่สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง วันที่ 14-16 พ.ย. ที่ท่าข้าวสันกำแพง วันที่ 12-14 พ.ย. ที่ อ.ฝาง โดยสถานที่จะมีการกำหนดอีกครั้ง วันที่ 17-19 พ.ย.ที่สหกรณ์การเกษตร อ.ดอยสะเก็ด วันที่ 21-23 พ.ย. ที่สหกรณ์การเกษตรแม่ริม และวันที่ 28-30 พ.ย. ที่ท่าข้าวพรพาณิชย์ สาขาเจดีย์แม่ครัว

ทั้งนี้มีข้อแนะนำให้เกษตรกรที่จะเอาข้าวเปลือกมาจำหน่ายให้เกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึงหรือข้าวที่ครบอายุการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพตรงความต้องการของตลาด ซึ่งกำหนดเปิดตลาดเวลา 10.00-17.00 น.

ร่วมแสดงความคิดเห็น