“ธ.ค.” ต่อเนื่อง “ม.ค.” คาดเหนือหนาวเหน็บ ผอ.ศูนย์อุตุฯ ยัน มีน้ำค้างแข็งแน่

14606557_10207676833467258_1498053222659234453_n

กลางธันวาคมต่อเนื่องถึงกลางมกราคมอากาศจะหนาวจริง ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือฟันธง เชียงใหม่ยังมีโอกาสสัมผัสหนาวเฉียบพลัน อุณหภูมิลดลงมากกว่า 5 องศาทันที หากลมมรสุมตะวันตกพาดผ่านเร็ว พร้อมเตือนหนาวนี้มีโอกาสเจอฝนพ่วงด้วยพายุลูกเห็บได้ ส่วนปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งมีให้เป็นแน่นอน ยันปรากฏการณ์ลาณิย่าผ่านไปแล้วเข้าสู่สภาวะปกติเป็นกลาง จะส่งผลช่วงแล้งปีหน้าไม่รุนแรง คาดมีฝนได้ในช่วงแล้งหน้า เชื่อแล้งไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา

ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ นายเมธี มหายศนันท์ ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ แถลงถึงการคาดหมายสถานการณ์สภาพอากาศ จ.เชียงใหม่ ว่า ในปีนี้ปริมาณฝนทั้งปี มีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ในปีนี้มีปริมาณที่มากกว่าปีที่แล้ว เชื่อว่าภัยแล้งปีนี้ไม่น่าห่วงเหมือนปีที่ผ่านมา ปีนี้ความถี่ของฝนมีมากกว่าปีที่แล้วด้วยเช่นกัน เป็นเหตุให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัยในหลายๆ ครั้ง แต่หากเทียบกับปี 2554 จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยที่ 2 เดือนก่อนหน้านั้น ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แต่เมื่อรวมกันทั้งปีปริมาณฝนมีค่าเท่ากับค่าเฉลี่ยพอดี ฝนปกติของเชียงใหม่จะอยู่ที่ราว 1,230 มม.ต่อปี ขณะนี้ปริมาณฝนรวมของปี 2559 มีอยู่ราว 1,060 มม. ต่างกันแค่ 100 กว่ามิลลิเมตร ซึ่งไม่ห่างจากค่าเฉลี่ยมาก ส่วนภาพรวมของภาคเหนือปริมาณฝนสะสมทั้งปี มีมากกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ราว 1 % รวมถึงภาพรวมทั้งประเทศด้วย ที่ปีนี้มีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเช่นกัน ส่วนพื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ ได้แก่ จ.น่าน จ.พะเยา จ.ลำ ปาง จ.ลำพูน รวมทั้งบางพื้นที่ตอนบนของ จ.เชียงใหม่ ที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ยอยู่บ้างแต่ก็ไม่สูงมาก

นายเมธีฯ กล่าวต่อว่า สำหรับลักษณะอากาศขณะนี้ฝนส่วนใหญ่จะไปตกทางตอนล่างของประเทศ ส่วนตอนบนทั้งภาคเหนือและอีสานฝนจะลดน้อยลงมากแล้ว มีโอกาสที่ฝนจะตกไม่เกิน 10 %ของพื้นที่ นอกจากนี้ลักษณะความกดอากาศสูงจากจีนได้แผ่ลงมาใกล้ถึงประเทศไทยตอนบนเต็มที่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวได้เต็มที่เช่นกัน ในขณะเดียวกันในเวลานี้บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีพายุหมุนก่อตัวขึ้นอีก 1 ลูก คาดว่าจะเข้ามาทางทะเลจีน ใต้ ซึ่งอาจทำให้สภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเหนือแต่อย่างใด

ส่วนการคาดสถานการณ์อากาศในระยะสั้น ช่วงนี้ถึงวันที่ 4 พ.ย.อากาศจะเย็นลงเนื่องจากความกดอากาศสูงแผ่นลงมาส่งผลกระทบ ถัดจากนั้นในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย.จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณปลายแหลมญวน จะทวีกำลังแรงขึ้น โดยจะเคลื่อนมาพาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้ฝนเพิ่มขึ้นรวมทั้งพื้นที่ภาคเหนือด้วยอาจจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ถัดจากนั้นในช่วงการจัดประชุมชลประทานโลก วันที่ 8-12 พ.ย. คาดว่าจะไม่มีฝน แต่หลังจากนั้นฝนอาจมีอีกบ้างแต่จะไม่มาก

นายเมธีฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.59 เป็นต้นมา แต่ในช่วงแรกนี้ยังจะหนาวไม่มาก ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ อุณหภูมิจะลดลงแค่ 1-2 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่บนยอดดอยอุณหภูมิอาจจะลดต่ำลงได้มากกว่า บางพื้นที่อาจต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียสได้ ซึ่งจะเป็นช่วงเริ่มต้นของการท่องเที่ยวตามยอดดอยได้ในช่วงเวลานี้ อากาศยังจะชื้นไม่ถึงกับแห้ง ซึ่งช่วงแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวนี้ยังจะมีฝนอยู่บ้าง หลังจากวันที่ 8 พ.ย.ไปแล้ว ท้องฟ้าจะโปร่งมากยิ่งขึ้น อุณหภูมิจะลดต่ำลงได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 10 พ.ย.ไปแล้ว อากาศจะเย็นลงได้อีก โดยเฉพาะในช่วงลอยกระทงคาดว่าจะไม่มีฝนตก

ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวต่อว่า แม้ว่าฤดูหนาวจะเริ่มแล้ว แต่ช่วงที่อากาศจะหนาวเย็นมากจะอยู่ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นไป จนถึงกลางเดือนมกราคม 2560 โดยอุณหภูมิในพื้นราบบางพื้นที่น่าจะต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ส่วนยอดดอยนั้นจะต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์น้ำค้างแข็งได้ โดยทั่วไปแล้วในช่วงฤดูหนาวนี้อุณหภูมิจะอยู่ในช่วง 12-15 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิในเดือนธันวาคมจะไม่สูงมากนัก ระหว่างวันจะไม่มีความแตกต่างกันมาก คาดว่าอุณหภูมิจะไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส เมื่อเข้าเดือนมกรา คมไปแล้วอุณหภูมิก็จะเริ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ในช่วงเดือนมกราคมนี้จะมีความแตกต่างกันมากในระหว่างวัน ช่วงเช้าอากาศจะหนาวพอสายๆ จะเริ่มร้อนได้

ทั้งนี้ในช่วงฤดูหนาวนี้ยังจะมีฝนเป็นบางครั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่ความกดอากาศสูงจากจีนแผ่กระแทกลงมาแรงๆ อากาศที่มีอยู่เป็นอากาศแห้งเย็นสบายพอคลายลง จะมีความชื้นเบียดเข้ามาแทรกอุณหภูมิก็จะสูงขึ้น เมื่อความกดอากาศสูงเบียดลงมาแรงๆ ส่งให้มีโอกาสที่จะมีฝนได้ อากาศก็จะเย็นลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังจะมีเหตุปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกคือ คลื่นกระแสลมตะวันตกซึ่งฝนจะแรงและเกิดขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว อีกทั้งยังอาจมีลูกเห็บเกิดขึ้นได้ด้วย พอคลื่นกระแสลมตะวันตกผ่านไปแล้ว อุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันโดยจะลดลงได้มากกว่า 5 องศาเซลเซียส ส่วนจะลดลงมากว่า 7-8 องศาฯ ได้หรือไม่ต้องดูปัจจัยอื่นที่มีอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดด้วย

สำหรับในระยะยาวจากสถานการณ์ลาณิย่าลดความรุนแรงลงแล้ว โดยมีสภาวะความเป็นกลางเข้ามาแทนที่ ในปีถัดไปนี้สภาพอากาศของประเทศไทย ก็จะเข้าสู่สภาวะเป็นกลางอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ฝนจะมาตามปกติตามที่ควรเป็นในช่วงฤดูกาล ส่วนฤดูแล้งที่จะถึงนี้ จะมีฝนตกบ้างเป็นบางครั้งในตลอดช่วงฤดูแล้ง โดยจะไม่แล้งแบบไม่มีฝนเหมือนฤดูแล้งในปีที่ผ่านมา โดยอาจจะมีฝนในสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ครั้ง ให้แล้งคลี่คลายได้บ้าง ปรากฏการณ์ลาณิย่าจะไม่มีผลต่อประเทศไทยไปจนถึงกลางปี 2560 โดยจะเข้าสู่สภาวะปกติอย่างต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ นายเมธี มหายศนันท์ ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น