ผลศึกษาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สู่พระเมตตา ธ เกื้อประชา

1-jpg
นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมิน ทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยความห่วงใยในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์
ทรงรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางที่จะพระราชทานพระราชดำริในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการพระราชดำริเริ่มแรกที่พระองค์พระราชทาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนเริ่มขึ้น เมื่อ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจากปีนัง เลี้ยงในสระน้ำพระที่นั่งอัมพรสถาน ทดลองเพาะเลี้ยงในปี พ.ศ.2492 ปรากฏว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนต่อโรคและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว หลังจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศเข้ารับพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศที่ผลิตได้เพื่อนำไปเลี้ยงแพร่ขยายพันธุ์ในตำบล และหมู่บ้าน
นับเป็นการวางรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย ที่ทำให้ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้และสนใจการเลี้ยงปลาขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
ต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาทิโลเปีย นิโลติกา แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุยเดช จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิตและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อเลี้ยงปลานิลเพิ่มอีก 6 บ่อ และทรงย้ายปลานิลจากบ่อเดิมไปเลี้ยงในบ่อใหม่ด้วยพระองค์เอง เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ.2508 ต่อมาได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า “ปลานิล”
พระราชทานลูกปลานิล 10,000 ตัว ให้กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน กรุงเทพมหานคร และที่สถานีประมงต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509
กรมประมงได้ดำเนินการขยายพันธุ์ปลานิลเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2496 จนถึงปัจจุบันปีละเป็นจำนวนหลายล้านตัว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลานิลที่เพาะเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตสมทบแจกจ่ายให้แก่ราษฎรตามความต้องการของราษฎรอีกเป็นประจำ
ปัจจุบันสถานีประมงและเอกชนสามารถผลิตพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้เป็นจำนวนมาก และมีการปล่อยปลานิลลงแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้ปลานิลกลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยในทุกภูมิภาคกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสำหรับราษฎรใน ท้องถิ่น
นอกจากนั้นยังทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงสำรวจหาพันธุ์ปลาทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทุกภูมิภาค และศึกษา วิจัย พัฒนาทางวิชาการด้านการเพาะเลี้ยง สร้างจุดสาธิตให้ราษฎรที่สนใจตามศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกภูมิภาค เป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน อบรมเชิงปฏิบัติการที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้าง อาชีพ
ทำให้การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้ารุดหน้าอย่างต่อเนื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น