เริ่มแล้วประชุม “ชลประทานโลก” จัดยิ่งใหญ่ที่เชียงใหม่

s__2760786

เริ่มแล้วประชุมชลประทานโลกจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ กว่า 1,200 คน จากกว่า 45 ประเทศทั่วโลก ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดเต็มนิทรรศการแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ 13 เรื่อง ย้ำการประชุมให้ความสำคัญระดับรากหญ้า ดึงเกษตรกรไทยถกแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเกษตรกรต่างชาติ เชื่อจะนำไปสู่ความยั่งยืนของเกษตรกรรมไทยในอนาคต อธิบดีกรมชลประทานแจงการประชุมครั้งนี้เพื่อมุ่งหาแนวทางการบริหารน้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศให้สมดุล พร้อมร่วมกำหนดวิธีรับมือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ

วันที่ 6 พ.ย.59 เวลา 10.10 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 หรือ The 2nd World Irrigation Forum : WIF2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 หรือ The 67th International Executive Council Meeting : 67th IEC Meeting ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2559 โดยมีรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมจาก 45 ประเทศ ราว 1,200 คน และเป็นระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับน้ำเข้าร่วมประชุม 9 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศภูฏาน เนปาล เอธิโอเปีย จีน อินโดนีเซีย ปากีสถาน กัมพูชา ลาว และประเทศไทย

s__2760784

ทั้งนี้ก่อนพิธีเปิดการประชุม Dr.Saeed Nairizi ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ หรือ ICID ได้กล่าวสดุดีและเชิญผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนยืนถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 89 วินาที จากนั้นเป็น VTR สาส์นจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีถึงคณะผู้เข้าประชุม การกล่าวต้อนรับของ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ Dr.Saeed Nairizi ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ ปิดท้ายก่อนพิธีเปิดด้วยการกล่าวรายงานการประชุมฯ ของ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน

พล.อ.ฉัตรชัยฯ กล่าวว่า การจัดการประชุมชลประทานโลก และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งนี้ นอกจากจะดำเนินงานตามหัวข้อการประชุมที่กำหนดไว้ คือ “การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร” (Water Management in a Changing World : Role of Irrigation for Sustainable Food Production) แล้ว กระทรวงเกษตรฯยังจัดให้การประชุมในครั้งนี้ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งจัดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมและประชาชน ได้ถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์และลงนามเพื่อแสดงความอาลัย
สำหรับการจัดนิทรรศการจะจัดไว้ในบริเวณ Zone 1 ซึ่งเป็นโซนเฉลิมพระเกียรติ โดยจะนำเสนอผลงานด้านบริหารจัดการน้ำ ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณ พร้อมทั้งนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องน้ำที่มีความตอนหนึ่งว่า “…เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งสัตว์ ทั้งพืชก็ต้องมีน้ำ ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อหรือเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นสิ่งมีชีวิต… ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะได้ให้ทราบว่าทำไมการพัฒนาขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือทำโครงการชลประทานแล้วก็โครงการสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้ อื่น ๆ ก็จะไปได้…” มาจัดแสดงไว้ร่วมกับนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะมีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวม 13 เรื่องด้วยกัน

s__2760785

“นิทรรศการทั้ง 13 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องแรก นิทรรศการฝนหลวงแก้ปัญหาแล้ง เรื่องที่ 2 นิทรรศการป่าต้นน้ำและระบบป่าเปียก เรื่องที่ 3 นิทรรศการฝายต้นน้ำลำธาร หรือ Check dam เรื่องที่ 4 นิทรรศการหญ้าแฝก เรื่องที่ 5 อ่างเก็บน้ำและเขื่อน เรื่องที่ 6 นิทรรศการฝายทดน้ำ อาคารบังคับน้ำและประตูระบายน้ำ เรื่องที่ 7 นิทรรศการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) เรื่องที่ 8 นิทรรศการทฤษฎีใหม่ เรื่องที่ 9 นิทรรศการแก้มลิง เรื่องที่ 11 นิทรรศการระบบป้องกันน้ำเค็ม เรื่องที่ 12 นิทรรศการเครื่องกลเติมอากาศ และเรื่องที่ 13 นิทรรศการการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติ” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

“การประชุมชลประทานโลกในครั้งนี้ ยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรในระดับรากหญ้า โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบชลประทาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรของต่างประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยได้คัดเลือก Smart Farmer หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวน 8 คน เข้าร่วมประชุมและร่วมพบปะหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ กับ Smart Farmers จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ซูดาน อินเดีย อิหร่าน อิรัก และเกาหลีใต้ รวม 16 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกตามนโยบายของรัฐบาล” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน และประธานคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย หรือ THAICID เปิดเผยว่า ในการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 ในครั้งนี้ มีได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 หัวข้อหลักๆ คือ การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง และ เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจน และความหิวโหยโดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร

“การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลกและการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (International Commission on Irrigation and Drainage : ICID) เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ทั่วโลกรับทราบความก้าวหน้าการชลประทานของไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านชลประทานและการระบายน้ำในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอีกด้วย” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น