เชียงใหม่พุ่งเป้าดูดกลุ่ม นักท่องเที่ยวลองสเตย์

b-1
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เชียงใหม่เดินหน้าทำแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ Long Stay ปีพ.ศ. 2560-2564 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 พร้อมวางยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์ ชี้จุดแข็งกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 คือ มีวัฒนธรรมล้านนาที่ทรงคุณค่า ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อภาคเหนือ ที่เอื้อต่อการเข้าพำนักแบบระยะยาว แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของมาตรฐานด้านการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกยังคงมีปัญหาอยู่ และบุคลากรที่ความสามารถ ด้าน รมต.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ย้ำชัดพร้อมเดินหน้าดันเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

เมื่อวันที่ผ่านมา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานปิดการสัมมนา “ผู้พำนักระยะยาวชาวต่างประเทศและชาวไทย หรือ Long – stayer Seminar เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว” และร่วมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายของรัฐกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว” โดยมีอาจารย์ ดร.กรวรรณ สังขกร นักวิจัยชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง แผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ Long Stay ปีพ.ศ. 2560-2564 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวกว่า 200 คน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พุทธศักราช 2558-2560 รัฐบาลมีการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยมีศักยภาพทั้งด้านการแพทย์และการให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังผลักดันให้พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยต่อไป ซึ่งนโยบายของรัฐกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ว่า ขณะนี้นโยบายของรัฐกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวมีผลเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย เพราะฉะนั้นควรมีการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ปรับปรุงและพัฒนาในส่วนต่างๆที่สามารถทำให้ดีขึ้น ในตอนนี้ก็มีการพยายามที่จะปรับปรุงในเรื่องสุขภาพและการบริการทางการแพทย์ ซึ่งก็มองว่าเราควรจะปรับปรุงอย่างไร อาจเป็นในส่วนของสถานที่ การบริการ บุคคล และสิ่งแวดล้อมอีกหลาย ๆอย่าง ที่จะต้องมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นเป้าหมายโดยตรงแต่ว่าเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มของประเทศไทย จากนี้เราก็พยายามปรับปรุงในเรื่องของสุขภาพและการแพทย์ แต่จะมองว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่โรงพยาบาล แต่คือด้านสุขภาพด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำได้มากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำพุร้อน อาหาร หรืออะไรก็ได้ที่สามารถให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทุกคน ที่ผ่านมาสุขภาพและการแพทย์เหมือนกับเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดถึงและไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปาก บางคนเชื่อว่าขนาดคนไทยเองยังไม่สามารถที่จะได้รับยาและรักษาทางการแพทย์ที่ดีพอ จะทำอย่างไรเราจะเข้าถึงวิธีทางการแพทย์สำหรับชาวต่างชาติได้ และให้ชาวต่างชาติได้รับบริการที่ดี เริ่มต้นจากปีนี้การแพทย์และสุขภาพ ทีมของเราได้ตั้งทีมขึ้นมาแล้วระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งสององค์กรได้ทำงานร่วมกันปรับปรุง ข้อมูล เนื้อหา และวิธีการบางอย่างที่จะมาเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว มากขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับตลาดการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นโดย PAP ที่มีการสร้างขึ้นอย่างเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีที่ได้รับความประสบความสำเร็จในกรุงเทพ และเป็นครั้งแรกที่ได้มาทำที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากว่าทาง PAP ได้เร่งเห็นความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และล้านนา และยังมีแผนที่จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อม ในการรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภท รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทพำนักระยะยาว ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เกษียณอายุ และมีความปรารถนาที่จะมาใช้ชีวิตหลังเกษียณในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 รวมไปถึงผู้ที่มาพักอาศัยเพื่อการทำงาน ที่มีระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ที่มาพำนักอยู่ นานแล้ว ตลอดจนชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี และชาวจีน ที่มีผู้พำนักระยะยาวในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเพื่อรับฟังและรับทราบปัญหาต่างๆ จากผู้แทนของผู้พำนักระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ใน 4 จังหวัดของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวแบบระยะยาวให้พำนักแบบมีความสุข ปลอดภัย อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืน ด้านการท่องเที่ยว ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ต่อไป

ซึ่งทางรัฐบาล รวมถึงกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาขยาย ก็พร้อมที่จะสร้างให้เชียงใหม่เจริญเติบโตขึ้นให้มากกว่าเดิม เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีคุณภาพและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทุกคน ทั้งนี้เชื่อว่าจังหวัดเชียงใหม่มีสิ่งดีๆ หลายสิ่งอยู่แล้ว ผู้คนที่เชียงใหม่ สถานที่ต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ เพียงแค่ต้องเพิ่มศุกยภาพพและสร้างมาตรฐานที่ดี โดยมองว่า “เป้าหมายของเราคือ ไม่ใช่จำนวนตัวเลขที่นักท่องเที่ยวเข้ามา แต่คือการให้นักท่องเที่ยวทุกคนเข้ามาอยู่นานขึ้น กลับมาเที่ยวบ่อยๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกๆวัน ” นางกอบกาญจน์ ว่าและกล่าว

“สุดท้ายนี้แผนนโยบายของรัฐกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนับระยะยาวทั้งหมดนี้ อยู่ในเป้าหมายแผนพันธะกิจ 4 ปี ของกระทรวงฯ และของกลุ่มเศรษฐกิจที่ได้วางแผนร่วมกับทีมทำงานของกระทรวงฯ และจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และเป็นจุดเด่นสำหรับเมืองไทย”

b-4

ด้าน อาจารย์ ดร.กรวรรณ สังขกร นักวิจัยชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ Long Stay ปีพ.ศ. 2560-2564 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ว่า เดิมทีแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดเดียว ต่อมาได้ขยายแผนให้ครอบคลุมทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อทำโครงการแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ Long Stay โดยก่อนที่จะออกมาเป็นแผนนี้ได้คิด วิสัยทัศน์ พันธกิจ จุดมุ่งหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ พร้อมมีรายละเอียดของประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และแนวทางการพัฒนา แผนงานโครงการ และนำเสนอกับรัฐบาลเพื่อที่จะได้รับงบประมาณในการดำเนินการ ก่อนที่จะได้แผนนี้มาได้ทำการสำรวจเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งกลุ่ม Long Stayer, กลุ่มภาคธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวกับ Long Stay ต่อมามีการระดมความคิดกันว่าสิ่งที่ทำขณะนี้โดยทำ SWOT ขึ้นมา ว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร สิ่งไหนที่ต้องปรับปรุง สิ่งไหนเป็นโอกาส

อาจารย์ ดร.กรวรรณ กล่าวต่อว่า ในการทำแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจได้รวบรวมนโยบายและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้อง โดยมีของประเทศ ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ของจังหวัดเชียงใหม่ ของ 4 จังหวัด มารวมกันและทำการคิด SWOT ส่วนแผนที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อที่จัดทำแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ 1.แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) มีวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก สามารถสร้างรายได้และกระจายรายได้ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน” จากแนวคิดที่ได้จึงมาจัดทำแผนพัฒนาเพื่อต้องการให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับทุกกลุ่มทางภาคเหนือตอนบน ให้เกิดการแข็งขันการท่องเที่ยว ให้เกิดศักยภาพและคุณภาพกับผู้ที่มาเยือน 2.ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2558-2560 (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) มีวิสัยทัศน์ไว้ว่า “วางรากฐานการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน” 3.แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของประเทศไทย พ.ศ.2554-2560 (กรมการท่องเที่ยว) มีวิสัยทัศน์ไว้ว่า “พำนักระยะยาว เพื่อการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างไทย” (Thailand long Stay for life – long learning and Thai life – style) และ 4.แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 พ.ศ.2557-2560 มีวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน สู่สากล โดดเด่น วัฒนธรรมล้านนา สังคมน่าอยู่ทุกถิ่นที่”

นักวิจัยชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากทั้งหมดนี้ได้เกิดเป็นปัจจัยและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว ได้แก่ 1.การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ได้พยากรณ์ว่าเมื่อถึงปี พ.ศ.2563 จะมีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจำนวน 1,600 ล้านคน ภูมิภาคมีแนวโน้มเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก ผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความพร้อมในด้านเวลา และงบประมาณ สนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 3.การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีการคาดการณ์ว่าภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น 4.ระบบโลจิสติกส์และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว แต่ยังคงมีปัญหา ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดการลงทุนที่เพียงพอต่อการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว รูปแบบการในการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งระหว่างเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 5.สถานการณ์ทางการเมืองยังคงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 6.ความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 7.ความเสี่ยงของโรคระบาด ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8.สภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในอนาคต 9.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังไม่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 10.ทรัพยากรการท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ขาดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ นับเป็นปัญหาที่สะสมมานาน 11.บุคลากรด้านการท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะและองค์ความรู้ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

b-5

อาจารย์ ดร.กรวรรณ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังพบปัญหาในการพัฒนาธุรกิจ Long Stay จะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจ Long Stayer จะพบมากที่จังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด มีจำนวน 10,000 ราย แต่จังหวัดลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน มีน้อยมาก ทั้งนี้ปัญหาที่พบเจอจากการศึกษาพบว่า 1.ความสามารถทางด้านภาษาของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวยังมีน้อย 2.ขาดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการบริหารจัดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 3.มาตรฐานด้านการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ได้มาตรฐานตามที่กลุ่มเป้าหมายคาดหวังไว้ 4.ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา และควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการดำเนินได้ล่าช้า 5.การคมนาคมสาธารณะยังไม่ดีพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ เนื่องจากไม่มีรถสาธารณะสำหรับให้บริการในการเดินทางระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ 6.ยังขาดการส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการสร้างกิจกรรม การประชาสัมพันธ์ และการตลาดในเชิงรุก 7.ขาดการจัดทำฐานข้อมูลบริการด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ 8.ประชากรโดยทั่วไปยังขาดความรู้ ความชำนาญการด้นภาษาต่อประเทศ และขาดสิ่งจูงใจและดึงดูดให้ผู้สัญจรได้มาแวะพัก 9.ขาดการประสานงานร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านต่างๆ ในธุรกิจ

จุดแข็งและจุดอ่อน ที่เอื้อต่อการเข้าพำนักแบบระยะยาว(Long Stay) ในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1

จากที่ศึกษาปัจจัยและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวและปัญหาในการพัฒนาธุรกิจ Long Stay ก็จะได้ SWOT ของ Long Stay ในกลุ่มภาคเหนือตอนบน จุดแข็งพบว่า 1.มีวัฒนธรรมล้านนา 2.เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อภาคเหนือ ส่วนจุดอ่อนพบว่า 1.มาตรฐานด้านการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกยังคงมีปัญหาอยู่ 2.บุคลากรด้านการท่องเที่ยวยังขาดทักษะสำหรับการให้บริการ 3.ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4.การคมนาคมสาธารณะที่ยังไม่เป็นระบบอย่างสมบูรณ์ ส่วนโอกาสที่สามารถจะดึงมาใช้ได้จากเรื่องของ Long Stay พบว่า 1.นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่จะได้เปรียบในเรื่องของค่าครองชีพไม่สูง 2.นโยบายประเทศที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว ทางกลุ่มท่องเที่ยวจังหวัดภาคเหนือตอนบนได้งบประมาณให้ทำโครงการเรื่องของ Long Stay มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งที่อื่นๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก ส่วนภัยคุกคามพบว่า 1.ปัจจัยทางการเมือง 2.การก่อการร้ายระหว่างประเทศ 3.ปัจจัยที่ขัดขวางหรือเป็นปัญหาต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Long Stay 4.แข่งขันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับที่ศึกษา SWOT ในเรื่องของนโยบายและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้งแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง พบว่า “ภาคเหนือตอนบน 1 เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา และมีมาตรฐานในระดับสากล” โดยใช้วิสัยทัศน์นี้ในการทำพันธกิจออกมา 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ตลอดจนปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล 2.เตรียมความพร้อมของภาคบริการและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 3.สร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านการพำนักระยะยาวเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 4.สร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่พื้นที่ 5.บูรณาการงานด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่ และการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ซึ่งมีจุดมุ่งหมายของการพัฒนา จากการกำหนดพันธกิจสามารถนำมากำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาธุรกิจ Long Stay กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในปีพ.ศ.2560-2564 ได้ดังนี้คือ 1.ขีดความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพิ่มขึ้น 2.รายได้จากการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 เพิ่มขึ้น 3.นักท่องเที่ยวมีความประทับใจจ่อการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวตามวิถีชีวิตในแบบวัฒนธรรมล้านนา แหล่งท่องเที่ยว และการบริการการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่มาตรฐานที่มีคุณภาพ

b-3

การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ Long Stay มียุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ พำนักระยะยาว แบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ที่ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาและปรับปรุงระบบโครงข่ายคมนาคมเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงเส้นทางทางท่องเที่ยวภายในพื้นที่กับกลุ่มจังหวัด

แนวทางการพัฒนา 1. พัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมของกลุ่มจังหวัด เน้นการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดและแหล่งท่องเที่ยวรองในชุมชน โดยการบูรณาการการขนส่งทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในพื้นที่ โดยให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย สะดวก สะอาด และมีมาตรฐาน 2. ปรับปรุงป้ายบอกทางแหล่งท่องเที่ยว ป้ายสื่อความหมาย ระบบนำทางด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยให้ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวหลักและแหล่งท่องเที่ยวรองเป็นระบบเดียวกันทั่วกลุ่มจังหวัด และถูกต้องตามหลักสากล พร้อมทั้งการเตรียมการพัฒนาป้ายบอกทางรองรับการท่องเที่ยวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และอาเซียนบวก 6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) 3. พัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกเส้นหลักของกลุ่มจังหวัดให้มีมาตรฐานความปลอดภัยตามหลักสากล และสามารถเชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยวหลักในจังหวัดหนึ่งกับแหล่งท่องเที่ยวหลักอีกหนึ่งจังหวัดของกลุ่มจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ที่ 2 สร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมและระบบเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาค

แนวทางการพัฒนา 1. ผลักดันให้เกิดนโยบายสร้างแรงจูงใจให้สายการบินนานาชาติมาใช้ท่าอากาศยานในประเทศมากขึ้น เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ ในท่าอากาศยานให้มีสัดส่วนลดน้อยลง หรือเลิกเก็บค่าธรรมเนียมบางรายการรวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ในส่วนของการสัญจรทางอากาศระหว่างประเทศคู่สัญญาให้มีแรงจูงใจมากขึ้นเพื่อเสริมศักยภาพของท่าอากาศยานนานาชาติในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการบินของอนุภูมิภาคโดยเฉพาะอาเซียนและอาเซียนบวก 3 และบวก 6 2. พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทางบกเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยขยายเส้นทางเดินรถประจำทาง และผลักดันให้มีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนา และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่ทันสมัย สะดวกและสากล

แนวทางการพัฒนา 1. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์ ลานจอดรถป้ายสื่อความหมาย ทางลาด บันไดเลื่อน ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว ห้องน้ำ ห้องละหมาด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐานตามหลักสากล ทั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและเอกลักษณ์เชิงพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน 1 2. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เช่น การบริการรถเช่า บริษัทประกันภัย การสื่อสาร น้ำสะอาด ทางเดินเท้า ฯลฯ 3. สร้างและพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกจุดผ่านแดน ปรับปรุงสภาพจุดผ่านแดนของจังหวัดให้มีสภาพที่ดีและสะดวกเพื่อรองรับการท่องเที่ยว รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบบริเวณชายแดนให้มีความสะดวกและรวดเร็ว และ 4. พัฒนาศูนย์กลางให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกแบบครบวงจรเบ็ดเสร็จที่สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว ประสานแก้ไขความเดือดร้อนช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย และกระจายให้ครอบคลุมตามสถานที่ท่องเที่ยว

กลยุทธ์ที่ 4 การพัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว
แนวทางการพัฒนา 1. พัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้มีความเข้าใจและมีศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เช่น ทักษะด้านภาษา ด้านการดูแลสุขภาพ อาหารปลอดภัย การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น 2. สร้างทัศนคติที่ดีแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวและส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา และ 3. เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

โครงการที่นำเสนอเพื่อจะทำในอีก 4 ปีต่อมา คือ 1. โครงการศึกษาเชื่อมโยงศูนย์กลางขนส่งของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 สู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 2. โครงการพัฒนาเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 เชื่อมสนามบินในพื้นที่ 3. โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลักกับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ทองทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 1 4. การจัดระเบียบการรถโดยสารสาธารณะบริการนักท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล 5. การจัดทำคู่มือบริการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว 6. โครงการพัฒนาป้ายบอกทางรองรับการท่องเที่ยวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการท่องเที่ยวระดับสากล 7. โครงการศึกษาความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และสาธารณูปการของการจัดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 8. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 9. โครงการอารยสถาปัตย์ทางการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 10. โครงการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกจุดผ่านแดน 11. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดช่องทางพิเศษให้แก่นักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เพื่อขอรับตรวจลงตรา (VISA) 12. โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการท่องเที่ยว ในด้านการบริการที่เกี่ยวข้องกับการพำนักระยะยาว ทั้งด้านภาษาและบริการ 13. โครงการจัดเตรียมบุคลากรทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่เป็นผู้สูงอายุ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านการพำนักระยะยาวเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ คือ

กลยุทธ์ที่ 1 สร้างแนวทางการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานของหน่วยงานหลักด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่

แนวทางการพัฒนา 1. เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานของหน่วยงานหลักด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกันและประสานกับจังหวัดใกล้เคียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะหน่วยงานสนับสนุน เพื่อให้การกำหนดนโยบายและสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ2. การสร้างพันธมิตร หรือเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาให้มีความเป็นรูปประธรรมมากขึ้น ด้วยการอำนวยความสะดวก การลดขั้นตอนในการทำงาน การระดมทุน และการจัดสรรงบประมาณทั้งในมิติของกลุ่มจังหวัด จังหวัด ท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

กลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริม และเสริมสร้างจิตสำนึกผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวให้ร่วมกิจรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่น และสังคมในภาพกว้าง

แนวทางการพัฒนา 1. ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวใช้ประโยชน์จากแรงงานในท้องถิ่นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานท้องถิ่น ให้มีศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวนานาชาติ และ 2. ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวร่วมสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่จัดให้มีขึ้นในสูงจังหวัด

โครงการที่นำเสนอเพื่อจะทำในอีก 4 ปีต่อมา คือ 1. โครงการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว ครอบคลุมพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 2. โครงสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในเส้นทางอารยธรรมล้านนาเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน 3. การสร้างและพัฒนาระบบเครือข่ายการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา 4. โครงการส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 5. โครงการ เสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งของเครือข่ายการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 6. โครงการจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในระดับกลุ่มจังหวัดขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีการบริหารเป็นรูปธรรม 7. โครงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 8. โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวให้ร่วมรับผิดชอบต่อชุมชน ท้องถิ่น และสังคม และ 9. โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับปรับมาตรฐานสินค้า บริการ และปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว แบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ ดังนี้ 

กลยุทธ์ที่ 1 การพัฒนามาตรฐานสินค้า และบริการการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 สู่สากล

แนวทางการพัฒนา 1. พัฒนามาตรฐานบริการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เพื่อใช้เป็นกรอบในการยกระดับคุณภาพของสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับระดับสากล ทั้งนี้เน้นการรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่ดีงามของวัฒนธรรมล้านนา 2. กำหนดมาตรฐานกระบวนการตรวจสอบ และประเมินมาตรฐานที่พักและบริการ และ 3. จัดทำฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวให้ครบถ้วน ทันสมัย เชื่อมโยงหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ และการบริการที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร และตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะมาพำนักระยะยาวอย่างแท้จริง

กลยุทธ์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

แนวทางการพัฒนา 1. พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนามัคคุเทศก์ ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ภาษาอาเซียน ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในด้านอื่นๆ ให้ได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว และการเปิดเสรีภาคการบริการด้านการท่องเที่ยวของประชาคมอาเซียน 2. พัฒนาและผลักดันให้กลุ่มของจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่ภาคเหนือ และ 3. ส่งเสริมให้มีการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น ทั้งทางด้านการปฏิบัติงานเฉพาะทาง วิชาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มจังหวัด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

กลยุทธ์ที่ 3 การเสริมสร้างโอกาสและแรงจูงใจเพื่อพัฒนาการค้า การลงทุนด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

แนวทางการพัฒนา 1. ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว โดย สนับสนุนให้ภาคเอกชนและนักลงทุนชาวไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยภาครัฐต้องจัดให้มีสิ่งจูงใจและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เหมาะสม 2. เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อยของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการ การให้ความรู้และให้คำปรึกษาในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจการพำนักระยะยาว การสร้างแบรนด์ และเอกลักษณ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เป็นต้น และ 3. ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่จูงใจผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวเข้าสู่มาตรฐานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือ และเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยว พร้อมสนับสนุนกิจกรรมด้านการตรวจประเมินและรองรับสถานประกอบการตามแนวทางสากล พร้อมประกาศยกย่องเป็นต้นแบบผู้ประกอบการที่รองรับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว พร้อมจัดหาปัจจัยจูงใจที่เหมาะสม เป็นต้น

กลยุทธ์ที่ 4 ยกระดับคุณภาพการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยว และการบริการการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

แนวทางการพัฒนา 1. จัดร้านให้มีการออกกฎระเบียบ และบทลงโทษที่ชัดเจนในการกำกับดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและการปราบปราม และสอดส่องดูแลการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีการแสดงบทบาท และร่วมรับผิดชอบในการละเมิด หรือการกระทำความผิดของนักท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบการ 2. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสถานพยาบาล และระบบเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค การพัฒนาระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินรองรับนักท่องเที่ยว และ 3. ส่งเสริมคุณภาพอาหารปลอดภัยและเน้นคุณค่าทางโภชนาการในแหล่งท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

โครงการที่นำเสนอเพื่อจะทำในอีก 4 ปีต่อมา คือ 1. โครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 2. โครงการพัฒนาศักยภาพที่พักอาศัยที่รองรับการพำนักแบบระยะยาว 3. โครงการจัดอบรมบุคลากรทางด้านบริการให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริการและวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของนักท่องเที่ยวนานาชาติ 4. โครงการอบรมทางด้านภาษาต่างประเทศ และความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมการบริการการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 5. โครงการพัฒนาให้มีการเปิดด่านถาวรในพื้นที่ที่มีการส่งเสริมให้มีการพำนักระยะยาว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว 6. โครงการจัดทำเว็บไซต์การท่องเที่ยวในเรื่องความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 7. โครงการเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตบุคลากรทางการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 8. การเสริมสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการในการทำการตลาดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 9.โครงการเตรียมความพร้อมสถานประกอบการที่มีมาตรฐานด้านการบริการการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 10. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับ และการตั้งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาออกหนังสือ อนุญาตให้พำนักอยู่ในภายในราชอาณาจักร สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ Long Stay และ 11. โครงการศึกษากลยุทธ์และศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวแบบ Long Stay ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1

b-2

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดของการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 สร้างและเผยแพร่ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 ที่มีมาตรฐานสากล

แนวทางการพัฒนา 1. กระตุ้นการสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว และสร้างความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายทั้งในภาพรวมและในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการดำเนินการที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มนักท่องเที่ยว 2. เผยแพร่และสื่อสารภาพลักษณ์ของนักท่องเที่ยว แบบพำนักระยะยาวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ให้แพทย์ในทุกช่องทางและครอบคลุม ทั่วถึงอย่างต่อเนื่องโดยจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรับรู้ให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดใหม่ในระดับโลก และ 3. สร้างสื่อช่องทางเพื่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

กลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่/ตลอดทั้งปี มุ่งสร้างรายได้ให้เข้าพื้นที่จากนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว

แนวทางการพัฒนา 1. ส่งเสริมการกระจายการตลาดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 อย่างสมดุลทั้งในเชิงพื้นที่ และกลุ่มตลาดที่สอดคล้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาระบบตลาดสินค้าทางการท่องเที่ยวสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและรสนิยมของนักท่องเที่ยวแบบพำรักระยะยาว 2. ประชาสัมพันธ์การสร้างจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เช่น การสนับสนุนวัฒนธรรม การสรรค์สร้างความ ความคิดสร้างสรรค์ทางการท่องเที่ยว การรักษาซึ่งความมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมล้านนา และการส่งเสริมกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเฉพาะ เป็นต้น 3. การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว การจับจ่าย การท่องเที่ยวทั้งปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และ 4. ส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาเว็บไซต์สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความอำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร เพื่อให้บริการข้อมูลการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์รวดเร็วทันสมัย เช่น การจองที่พัก การเดินทาง เป็นต้น ด้วยพัฒนาให้มีความหลากหลายภาษาเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

โครงการที่นำเสนอเพื่อจะทำในอีก 4 ปีต่อมา คือ 1. โครงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว 2. โครงการจัดทำเว็บไซต์การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลทุกด้านของการท่องเที่ยวแบบพำนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 3. จัดทำคู่มือสำหรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 4. โครงการศึกษาการตลาดของกลุ่มนักท่องเที่ยวต้องหมายที่จะมาพำนักระยะยาว เพราะนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติมีความต้องการที่แตกต่างกัน 5. โครงการศึกษาวิจัยการตลาดด้านการท่องเที่ยวแบบทำนักระยะยาว เพื่อเทียบเคียงกับคู่แข่งทางการตลาด 6. โครงการส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่กลุ่มจังหวัด 7. โครงการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว 8. โครงการศึกษาโปรแกรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่/ตลอดทั้งปี 9. โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา รวมทั้งการดำเนินการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบบูรณาการให้มีความเป็นเอกภาพ ทางด้านการสื่อสารผ่านโฆษณา สื่อ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต Social Network และสื่อกระแสต่างๆ และ 10. โครงการพัฒนาสร้างสรรค์กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวระยะยาว

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ ดังนี้ 

กลยุทธ์ที่ 1 การพัฒนากลไกการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

แนวทางการพัฒนา 1. ส่งเสริมจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในระดับกลุ่มจังหวัดขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีการบริการเป็นรูปธรรม โดยมีภาครัฐ เอกชน ชุมชน และประชาสังคมในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 2. สร้างความเข้มแข็งให้ภาคีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว โดยการส่งเสริมการทำงานเชิงเครือข่าย และ 3. ผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนาการตรวจลงตรา (VISA) เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว

กลยุทธ์ที่ 2 การบูรณาการการบริการจัดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวแบบมีส่วนร่วม

แนวทางการพัฒนา 1. เชื่อมโยงบทบาทและภารกิจของหน่วยงานหลักด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกัน ประสานกับจังหวัดใกล้เคียงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะหน่วยงานสนับสนุน เพื่อให้การกำหนดนโยบายและสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของกลุ่มจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2. ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องและอำนวยประสิทธิผลต่อการบริหาร จัดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในปัจจุบันและในอนาคต และ3. บูรณาการด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานและการสั่งการในการป้องกัน เฝ้าระวังเตือนภัย การดูแลสุขอนามัยทางอาหาร การกำกับดูแล และ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ทั้งในกรณีก่อน- หลังเกิดเหตุฉุกเฉินทางการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว

โครงการที่นำเสนอเพื่อจะทำในอีก 4 ปีต่อมา คือ 1. โครงการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานการปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวแบบบูรณาการ 2. โครงการเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว 3. การบูรณาการแผนการดำเนินการท่องเที่ยวแบบ Long Stay กับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด เพื่อการส่งเสริมกิจการ Long Stay และอุตสาหกรรมบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมกลุ่มจังหวัด 4. โครงการจัดทำแผนงานจัดตั้งหน่วยงานองค์กรซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมและธุรกิจด้าน Long Stay ของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 5. โครงการจัดตั้งหน่วยงานประสานงานสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบ Long Stay ของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 และ
6. โครงการศึกษาดูงานบริหารจัดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวแบบบูรณาการ

รายงาน โดย

นายพีระพล ขันตี นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
นางสาว ศกลวรรณ ใจบุญเรือง นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
นางสาว สุรัสวดี ดลโสภณ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา

ร่วมแสดงความคิดเห็น