“ชุมชนเมืองสาตรหลวง” แหล่งผลิตโคมขึ้นชื่อของเชียงใหม่

22

โคมล้านนาหลากรูปแบบ ทั้งโคมลอย โคมไฟ ที่ถูกนำมาประดับประดาตามวัดวาอารามและท้องถนนในช่วงวันสำคัญต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวันลอยกระทง วันขึ้นปีใหม่ คงคุ้นตาของนักท่องเที่ยวแทบทุกคน ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของเชียงใหม่หลายคนคงไม่รู้ว่าโคมแทบทั้งหมดที่เราเห็นนั้น ถูกผลิตขึ้นมาจากชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่นั่นคือ “ชุมชนเมืองสาตรหลวง” ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นแหล่งผลิตโคมที่มีชื่อเสียงที่สุดของภาคเหนือ และยังมีการผลิตโคมเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าไปในชุมชนเมืองสาตรหลวง คือภาพของโคมล้านนาหลากสีสันที่แขวนอยู่ตามรั้วบ้านแทบทุกบ้านในชุมชน และเมื่อมองผ่านรั้วบ้านเข้าไป ก็จะพบหญิงสาวทั้งสูงวัยและอ่อนวัย นั่งอยู่บนพื้นบ้านไม้ กำลังบรรจงประดิษฐ์โคมรูปแบบต่างๆ

โดยในปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็น“กลุ่มทำโคมล้านนาเมืองสาตร จังหวัดเชียงใหม่” โดยผลิตโคมทั้งรูปแบบดั้งเดิม และโคมประยุกตร์ที่ทำเป็นรูปสัตว์ สิ่งของต่างๆ ซึ่งมีทั้งวางจำหน่ายโดยตรง และผลิตตามความ
ต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ บ้านที่ถือเป็นต้นแบบในการผลิตโคมของชุมชนเมืองสาตรหลวงแห่งนี้ คือบ้านของแม่บัวไหล คณะปัญญา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการผลิตโคม และคิดค้นการทำโคมรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาจนกระทั่งมีชื่อเสียง และได้สอนวิธีการทำโคมให้กับชาวบ้านในละแวกชุมชน จนทำให้ในปัจจุบันชุมชนเมืองสาตรหลวงกลายเป็นชุมชนสำคัญให้การผลิตโคมในที่สุดในช่วงเทศกาลที่จะมาถึงธุรกิจขายโคมลอย โคมไฟได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก โดยราคาที่จำหน่ายมีตั้งแต่ราคาหลัก สิบไปจนถึงหลักร้อย หลักพัน ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมของคนไทยที่จะนำโคมไปจุดในช่วงเทศกาลนี้

88

แม่บัวไหล คณะปัญญา ชาวเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมการทำโคมแขวนล้านนา เริ่มประดิษฐ์โคมไฟขึ้นหลายรูปแบบ เช่น โคมธรรมจักร หรือโคมแปดเหลี่ยม โคมรูปเพชร โคมรูปดาว โคมหูกระต่าย โคมปักเป้า โคมผัด (หมุนรอบๆ ได้) โคมด้วง และโคมมะฟัก ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นโคมอีกหลายรูปแบบ เช่น โคมจ้อง หรือโคมร่ม โคมเอว หรือโคมต่อ (โคมหลายใบต่อกัน) และโคมญี่ปุ่น

แม่บัวไหลได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโคมเพิ่มเติมอีกว่า โคม แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ โคมถือ เช่น โคมดอกบัว รูปร่างเหมือนกับดอกบัว ใช้สำหรับบูชาพระ โคมหูกระต่าย ใช้ถือเดินในขบวนแห่เพื่อนำไปประดับรอบวิหาร พระอุโบสถ หรือหน้าบ้านโคมแขวน ได้แก่ โคมเพชร หรือโคมไห หรือโคมดิ่ง โคมดาว รูปทรงเป็นรูปดาว โคมทรงกระบอกและโคมงวงช้าง ใช้สำหรับจุดบูชาพระประธาน โคมแปดเหลี่ยม หรือโคมธรรมจักร โคมเจียระไน หรือโคมเงี้ยว โคมรูปสัตว์ และโคมผัด หรือโคมหมุน โดยใช้ความร้อนจากควันเทียนทำให้ด้านในซึ่งมีกระดาษลวดลาย 12 นักษัตรหมุนได้

โคมลอย ทรงกลม หรือสี่เหลี่ยม มีขนาดใหญ่ ทำจากกระดาษว่าว ใช้ไม้ไผ่ขดเป็นวงกลม ใช้ไม้พันผ้าชุบนํ้ามัน จุดไฟให้เกิดควันด้านในโคม เพื่อให้โคมเบาตัวแล้วลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า การปล่อยโคมนี้มีความเชื่อว่าเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์

วัสดุที่ใช้สำหรับประดิษฐ์โคม ได้แก่ กระดาษสา กระดาษแก้ว กระดาษตะกั่ว และกระดาษว่าว สีสดๆ ผ้าดิบหรือผ้าโทเร กาว และไม้ไผ่

วิธีทำก็คือ นำไม้ไผ่มาขึ้นโครง จากนั้นนำผ้า หรือกระดาษที่ตัดเป็นรูปแบบต่างๆ มาติดเข้ากับโครงไม้ไผ่ แล้วนำผ้า หรือกระดาษที่ตัด หรือฉลุลายเรียบร้อยแล้วมาตกแต่งที่บริเวณชายโคมเป็นอันเสร็จสิ้น

ราคานั้นก็มีให้เลือกซื้อหาตั้งแต่สิบบาทขึ้นไปจนถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของงานแต่ละชิ้น ที่ต้องใช้เวลาในการประดิษฐ์ต่างกันไปตามรูปแบบ

ปัจจุบัน แม่บัวไหล ในวัยกว่าเจ็ดสิบปี ยังคงทำโคมอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังรับหน้าที่เป็นวิทยากรในงานต่างๆที่ได้รับเชิญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฝรั่งเศส และยังเปิดบ้านเพื่อสอนวิธีการทำโคมให้กับผู้สนใจที่แวะเวียนเข้ามายังชุมชนแห่งนี้อีกด้วย สำหรับคนที่สนใจในเอกลักษณ์และประเพณีของชาวเชียงใหม่ หากได้ลองแวะเวียนมาที่ชุมชนเมืองสาตรหลวงแห่งนี้

หากใครอยากจะหาชมแสงประทีปจากโคมล้านนารูปทรงต่างๆ ก็สามารถหาชมได้ในช่วงงานประเพณียี่เป็ง ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองที่จังหวัดเชียงใหม่รับรองสวยไม่เหมือนที่ใดๆ ค่ะ

สนใจผลิตภัณฑ์ หรือต้องการเรียนรู้วิธีทำโคม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่แม่บัวไหล คณะปัญญา เลขที่ 19 ซอยกุหลาบ ชุมชนเมืองสาตรหลวง ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองหอย

อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000 โทรศัพท์ 0-5327-9721 หรือที่โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญา เลขที่ 35 ถนนรัตนโกสินทร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100 โทรศัพท์ 0-5324-4231-2

ร่วมแสดงความคิดเห็น