ค้นหาเพชรเม็ดงามนาม “เวียงจันทน์”

dsc_5996

หลายต่อหลายครั้งที่ผมมีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งจากนักวิชาการ ทั้งจากมัคคุเทศน์และจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ทำให้พบว่าสถานที่ ๆ นักท่องเที่ยวทั้งหลายผวิลหาไม่ใช่เมืองเชียงใหม่อย่างที่หลายท่านคิดเอาไว้ อาจเป็นเพราะเชียงใหม่นั้นมีส่วนคล้ายกับกรุงเทพมากขึ้น ผู้คนจำนวนมากเบื่อหน่ายกับปัญหารถติดและมลพิษทางอากาศเสียมากกว่า

ดังนั้นในระยะหลังนักท่องเที่ยวหลายคนจึงเลือกมุ่งหน้าสู่เมืองเชียงรายหรือไม่ก็เมืองน่านที่เงียบสงบอบอุ่นด้วยวัฒนธรรม ไม่งั้นก็ฉีกตัวเองไปเยือนเมืองสามหมอกแม่ฮ่องสอนเสีย พอจะเป็นรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวที่ไม่ซ้ำซากจำเจและไม่ต้องมากระจุกอยู่ในเชียงใหม่เท่านั้น

ทว่าเมื่อไม่นานผมได้รับทราบข้อมูลใหม่จากเพื่อนที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาตินิยมเดินทางไปเยือนเมืองเวียงจันทน์ นครหลวงของลาวกันมากขึ้น ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากภาวะการเงินในบ้านเราคล่องขึ้นบวกรวมกับกระแสข่าวที่ว่า สินค้าต่าง ๆ ในตลาดที่ประเทศลาวนั้นมีราคาถูกเหลือเกิน อาจเป็นไปได้ว่านักท่องเที่ยวที่เลือกไปลาวส่วนใหญ่ต้องการเข้าไปซื้อของ หรืออาจเป็นเพราะความคิดถึง “อดีต” เลยทำให้คนเดินทางไปเยือนประเทศลาวซึ่งไม่อาจมีสถานที่ไหนพอจะทำให้คนเห็นรากเหง้าเผ่าพันธุ์ตนได้ดีเท่าลาวอีกต่อไป ซึ่งผมเองก็ชักไม่แน่ใจเสียแล้วdsc_5958

เมืองเวียงจันทน์ หรือ กำแพงนะคอนเวียงจันทน์ นั้นก็เป็นแขวงหนึ่งใน 17 แขวงของลาวที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะความที่เป็นเมืองเล็กๆในอุดมคติของนักเดินทางหลายคน วิถีชีวิตผู้คน สภาพบ้านเมืองและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ก่อนเดินทางเข้าเวียงจันทน์ จะต้องข้ามสะพานมิตรภาพฯอันเป็นเสมือนปราการด่านแรก สมัยก่อนที่ยังไม่มีสะพานนักท่องเที่ยวจะต้องลงเรือข้ามฟากที่บ้านท่าเสด็จ จังหวัดหนองคาย หลังการเปิดสะพานมิตรภาพฯ ทำให้การเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศนี้รวดเร็วยิ่งขึ้น

จะว่าไปแล้วขัวมิดตะพาบ หรือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นสะพานแรกสุดที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศในประวัติศาสตร์ของแม่น้ำโขงที่มีความยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร ทั้ง ๆ ที่แม่น้ำสายนี้คือแม่น้ำนานาชาติที่ไหลลงมาตั้งแต่ธิเบต จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม แต่ไม่เคยมีสะพานสากลที่ใช้ข้ามมาก่อนเลย ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาของจีนมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง (จีนเรียกแม่น้ำหลันชาง) ที่เมืองเชียงรุ่งแต่ก็เป็นเพียงสะพานในประเทศเท่านั้น นี่คือที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ของ “ขัวมิดตะพาบ” ที่ควรบันทึก

dsc_5962

8 เมษายน 2537 สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตรเศษ เชื่อมแผ่นดินสองฝั่งคือ ที่บ้านจอมมณี จังหวัดหนองคายของไทยกับบ้านท่านาแล้ง จังหวัดกำแพงนะคอนเวียงจันทน์ของลาว โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณกว่า 30 ล้านเหรียญดอลลอร์หรือราว 750 ล้านบาทจากรัฐบาลออสเตรเลีย รวมกับเงินงบประมาณของรัฐบาลไทยอีกราว 400 ล้านบาท รวมมูลค่าแล้วมากกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งผู้สันทัดกรณีประเมินว่าจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพี่น้องสองฝั่งโขงและทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้อย่างหาค่ามิได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ในยุค “Wind of Change”

ประเทศลาวในวันนี้ดูไม่ต่างอะไรกับเมืองเชียงใหม่ของเรา แต่เป็นเชียงใหม่เมื่อ 40 – 50 ปีที่แล้ว กว่าร้อยละ 90 ของบรรดาคนไทยที่ข้ามไปเที่ยวเวียงจันทน์ ผมว่าไม่ได้ข้ามไปเพื่อชมแหล่งท่องเที่ยวหรอก เพราะถ้าหากจะเข้าไปชมแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม วัดวาอารามของลาวที่มีอยู่ดาษดื่น หากจะเที่ยวแบบให้ลึกซึ้ง 3 วัน 3 คืนก็ชมไม่หมด แต่ไปเพราะความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าของในเวียงจันทน์ราคาถูก ก็ไปเพื่อช็อปปิ้งกันลูกเดียวแหละ แต่แท้จริงแล้วในเวียงจันทน์ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกมากมายบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของอดีตราชธานีแห่งนี้

dsc_6005

ตัวเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองเล็ก ๆ ชาวลาวเรียกว่า “กำแพงนะคอนเวียงจันทน์” เป็นเหมือนเขตเมืองหลวง ในตัวเมืองมีถนนสายหลักอยู่สองสายคือ ถนนสามแสนไทยและถนนไชยเชษฐา เป็นถนนสายที่ว่ากันว่าสวยงามมากมีต้นมะฮอกกานีใหญ่ร่มครึ้มอยู่สองฟาก ส่วนถนนสายสำคัญที่สุดของเวียงจันทน์คือ ถนนล้านช้าง ที่เริ่มต้นจากถนนไชยเชษฐาตรงหน้า “หอคำ” หรือทำเนียบประธานประเทศตรงไปยังวัดพระธาตุหลวง เป็นถนนสายใหญ่ทำเป็น 2 เลน มีเกาะอยู่กลางถนน เจตนาจะให้เหมือนถนนชองเอลิเซ่ (Champ Elese’s) ของปารีส หากนึกภาพไม่ออกก็ให้นึกถึงถนนสีลมบวกกับถนนราชดำเนิน

สองฟากถนนมีสถานที่สำคัญมากมาย เริ่มตั้งแต่วัดสีสะเกด อยู่ตรงหัวมุมถนน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเวียงจันทน์ ในวันที่ผมเดินทางไปนั้นสังเกตมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไปเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ภายในวัดนอกจากมีศิลปกรรมสวยงามโดยเฉพาะพระพุทธรูปนับร้อยองค์ที่เรียงรายอยู่ในระเบียงคต ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรวบรวมของมีค่าหายากหลายชนิด

dsc_5992

นอกจากนั้นริมถนนล้านช้างยังมีอาคารตึกเก่าแบบโคโลเนียล ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสยังปกครองลาวอยู่หลายตึกที่สวยคลากสิกมาก ส่วนใหญ่เก่าแก่ทรุดโทรมเพราะถูกทอดทิ้งมานาน ระหว่างกึ่งกลางของถนนเป็นที่ตั้ง อนุสาวรีย์นักรบเก่าของลาว หรือ ประตูชัยเวียงจันทน์ สร้างขึ้นเลียนแบบประตูชัยปารีส ที่ชองเอลิเซ่อีกนั้นแหละ แต่ไม่ได้เหมือนทั้งหมด ประตูชัยนี้เป็นศิลปะแบบลาวแท้ จะคล้ายกันเฉพาะท่อนล่างที่เป็นฝรั่ง ส่วนท่อนบนเป็นลาว ภายในประตูชัยมีบันไดขึ้นเพื่อไปชมวิวของเวียงจันทน์ ระหว่างทางขึ้นจะมีร้านขายของที่ระลึกไว้เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวด้วยบรรดาเสื้อยึดที่ระลึกของลาวหลากหลายรูปแบบ

ฝั่งตรงข้ามประตูชัยเวียงจันทน์ หากมองไกล ๆ จะเห็นทำเนียบรัฐบาลของลาว หรือ อาคารสภาประชาชนซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่ขนาดใหญ่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศลาว ใกล้กับอาคารสภาประชาชนคือพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ของลาวประดิษฐานอยู่ องค์พระธาตุหลวงเป็นเจดีย์ศิลปแบบพระธาตุพนมขนาดใหญ่ มีประวัติตำนานเก่าเล่าว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย เมื่อ พ.ศ.270-311 และมีการบูรณะในปี พ.ศ.1611 เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นสมเด็จพระไชยเชษฐาทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองหลวงพระบางมาอยู่นครเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2106) โปรดฯให้บูรณะใหม่สร้างพระเจดีย์ธาตุหลวงครอบองค์เดิม และถือเป็นปูชนียสถานสำคัญสุดของเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุหลวงยิ่งใหญ่ในคืนวันเพ็ญเดือน 12 หรือราวเดือนพฤศจิกายน นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเดินทางเข้าไปร่วมงานนมัสการพระธาตุหลวงได้ ว่ากันว่าสมัยก่อนเมื่อลาวยังมีเจ้ามหาชีวิต งานธาตุหลวงนั้นเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติ มีการออกร้านแสดงสินค้า มีมหรสพการแสดงมากมาย ยิ่งใหญ่ขนาดที่เจ้ามหาชีวิตลาวเสด็จฯมาเที่ยวชมนั่นแหละ

อย่างไรก็ตามเวียงจันทน์ในวันนี้ จึงเป็นเวียงจันทน์ในยุคใหม่ (Wind of Change) ที่คราคร่ำได้ด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินกันสลอน เมื่อไปเวียงจันทน์ก็อย่าแปลกใจที่เห็นแต่รถป้ายทะเบียนจากเมืองไทยวิ่งกันขวักขไวอยู่ในเวียงจันทน์ ทั้งรถยนต์ รถบัส รถตู้ ก็เพราะเวียงจันทน์กำลังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงและเชื่อแน่ว่าในอีก 2-3 ปีเวียงจันทน์จะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น…ไม่เชื่อคอยดูdsc_6000

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น