คกก.บูรณาการผสมผสานวัณโรคและเอดส์

666

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการบูรณาการผสมผสานวัณโรคและเอดส์ ระดับประเทศ ครั้งที่ 1/2560 ว่า จากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดทำรายชื่อประเทศที่มีภาระโรคสูง ปี 2558 โดยแบ่งเป็นปัญหาวัณโรค, ปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และปัญหาวัณโรคร่วมเอชไอวี ซึ่งพบว่า มี 14 ประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ภาระโรคสูงทั้งสามเรื่อง และประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศดังกล่าว ดังนั้น วัณโรคร่วมเอชไอวียังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องการการประสานงานระหว่างแผนงานวัณโรคและแผนงานโรคเอดส์ เพื่อลดภาระโรคให้น้อยลง และมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์และวัณโรคในอนาคต

ข้อมูลปี 2557 ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 9.6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้พบ 1.2 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 12 ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย และขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั่วโลกประมาณ 37 ล้านคน จะเป็นวัณโรคแฝงประมาณหนึ่งในสาม ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีโอกาสสูงถึง 26 เท่าที่จะป่วยเป็นวัณโรค เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อและป่วยด้วยวัณโรคจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับแรกในผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งของทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งเกือบหนึ่งในสามของการติดเชื้อฉวยโอกาสของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในไทยเกิดจากวัณโรค นอกจากนี้ หากวัณโรคถูกวินิจฉัยและเริ่มการรักษาที่ล่าช้าโดยเฉพาะในผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเนื่องจากวัณโรคดื้อยา

ส่วนในประเทศไทย จากระบบรายงานผู้ป่วยวัณโรค ปี 2557 พบว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่สมัครใจตรวจหากการติดเชื้อเอชไอวี 51,925 ราย (ร้อยละ 93 ของผู้ป่วยรายใหม่) และในจำนวนที่สมัครใจตรวจนี้ มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย 6,992 ราย (ร้อยละ 13) และจากจำนวนที่วินิจฉัยพบดังกล่าวได้เริ่มการรักษาด้วย ARV (Antiretroviral) หรือเรียกว่ายาต้านไวรัสเอดส์ จำนวน 4,742 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ซึ่งยาต้านนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีชีวิตยืนยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ป่วยด้วยวัณโรค (ข้อมูล ณ ปี 2557) ที่เริ่มการรักษาด้วย ARV มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ยังไม่เริ่มยาต้านไวรัสเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 40 (ลดลง 5 เท่า) สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรงเมื่อแรกวินิจฉัย และการเริ่มยาต้านไวรัสที่ล่าช้า รวมถึงการวินิจฉัยโรคที่ต้องเพิ่มศักยภาพทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยวัณโรคนอกเหนือจากการตรวจภาพทางรังสีทรวงอก เพื่อช่วยการวินิจฉัยที่แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบข้อมูลเพื่อใช้ติดตามกำกับการปฏิบัติงานอาจต้องเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวกับวัณโรคร่วมเอชไอวีให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินงานด้านวัณโรคและเอดส์ โดยกำหนดทิศทางและแนวทางการบูรณาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์และวัณโรคของประเทศไทย และขับเคลื่อนการบูรณาการระบบบริการด้านเอชไอวีและ
วัณโรคในระดับจังหวัด รวมถึงการกำกับติดตามการดำเนินงานผสมผสานด้านวัณโรคและเอดส์ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีความก้าวหน้าในโครงการวัณโรคและเอดส์ เช่น 1.การให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มผู้ป่วยวัณโรค และการค้นหาวัณโรคอย่างเข้มข้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ 2.การขยายการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสฯ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคร่วมกับโรคเอดส์ ลดลงอย่างมาก

“อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานยังข้อจำกัด โดยเฉพาะการดำเนินงานร่วมกันระหว่างวัณโรคและโรคเอดส์ยังมีน้อยในทุกระดับ และความล่าช้าในการเริ่มการรักษาผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสฯ ส่งผลให้การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ป่วยเป็นวัณโรคร่วมยังคงมีจำนวนมาก เพราะฉะนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์และวัณโรค ต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น