ล่องแพชมเขื่อนดิน ชิมปลาน้ำจืด ที่หมู่บ้านประมงท่าเรือ อุตรดิตถ์

dscf0416

การล่องแพเหนือเขื่อนดินถือเป็นท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกทางหนึ่ง คล้ายกับการล่องแพของอำเภอดอยเต่า จะที่มีเรือลากแพแล้วไปผูกติดกับเกาะกลางทะเลสาบ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสถึงธรรมชาติป่าเขา สายน้ำได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวต้องการนั่งเรือไปชมวิถีชีวิตการจับปลาของชาวบ้านก็จะมีเรือเล็กมารับนักท่องเที่ยวไปตามจุดต่าง ๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถที่จะหาซื้อปลาที่จับได้สดนำกลับมาทำเป็นอาหารได้อีกด้วย

dscf0461

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีชื่อเสียง นอกจากอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวและเขื่อนสิริกิติ์แล้ว บริเวณหมู่บ้านท่าเรือซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงเหนือเขื่อนดิน อำเภอท่าปลา ก็นับเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ว่ากันว่าจะคึกคักด้วยนักท่องเที่ยวที่มาหาซื้อปลาน้ำจืดและมาขึ้นแพเพื่อล่องชมความงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนดิน
เขื่อนดินเป็นเขื่อนกักน้ำขนาดใหญ่ สร้างขึ้นโดยกรมชลประทานเมื่อปี พ.ศ.2510 เพื่อใช้ในการเกษตรของชาวบ้าน 3 อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอท่าปลาและอำเภอตรอน บริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนดินเคยเป็นที่ตั้งของอำเภอท่าปลามาก่อน เมื่อกรมชลประทานได้ทำการสำรวจสร้างเขื่อนได้มีการอพยพชาวบ้านขึ้นมาอยู่ในพื้นที่สูงก็คือ อำเภอท่าปลาในปัจจุบัน หลังการสร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำทำให้เขื่อนดินกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ กรมชลประทานได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพการทำประมงให้กับชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีการนำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายสิบชนิด อาทิ ปลากดคังซึ่งเป็นปลาที่มีชื่อของเขื่อนดิน ปลากระสูบ ปลากระบาน ปลายี่สก ปลาสวายรวมถึงกุ้งก้ามกามมาปล่อยไว้ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพประมงให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือเขื่อนดิน
บ้านท่าเรือ นับเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีอาชีพทำการประมง เพราะตั้งอยู่ติดกับเขื่อนดิน ทุก ๆ วันจะมีชาวบ้านออกเรือไปหาปลาอยู่กลางทะเลสาบ มีการสร้างนั่งร้านบนแพหาปลาแบบง่าย ๆ วิธีการตกปลาของชาวบ้านท่าเรือก็นับเป็นวิธีการที่เรียบง่ายและไม่เหมือนใคร โดยจะนำข้าวโพดมาโรยเพื่อล่อปลารอบ ๆ แพ ก่อนที่จะนำเชือกติดตะขอเบ็ดผูกไว้กับปลายมือ ชาวบ้านบอกว่าส่วนใหญ่ปลาที่ตกได้จะเป็นปลากดคังโดยจะนำไปขายที่ท่าเรือและมีพ่อค้ามารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท แต่ถ้าหากเป็นกุ้งก้ามกามจะมีราคาสูงถึง ก.ก.ละ 300 บาททีเดียว
นอกเหนือจากอาชีพประมงที่สร้างรายได้เป็นล่ำเป็นสันให้กับชาวบ้านท่าเรือแล้ว การล่องแพเพื่อเที่ยวชมความงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนดินก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักในธรรมชาติ คุณวิโรจน์ เจ้าของกิจการล่องแพวิโรจน์ฟิชชิ่งทัวร์ หนึ่งในหลาย ๆ ร้านที่เปิดกิจการที่นี่บอกว่าการล่องแพเที่ยวชมความงามของเขื่อนดินก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านท่าเรือนอกเหนือจากการทำประมง เพราะแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศเดินทางมาขึ้นแพที่นี้ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่เป็นจำนวนมาก จนบางครั้งทำให้จำนวนของแพไม่เพียงพอกับนักท่องเที่ยว
การล่องแพเหนือเขื่อนดินถือเป็นท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกทางหนึ่ง คล้ายกับการล่องแพของอำเภอดอยเต่า จะที่มีเรือลากแพแล้วไปผูกติดกับเกาะกลางทะเลสาบ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสถึงธรรมชาติป่าเขา สายน้ำได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวต้องการนั่งเรือไปชมวิถีชีวิตการจับปลาของชาวบ้านก็จะมีเรือเล็กมารับนักท่องเที่ยวไปตามจุดต่าง ๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถที่จะหาซื้อปลาที่จับได้สดนำกลับมาทำเป็นอาหารได้อีกด้วย
คุณวิโรจน์บอกอีกว่า นักท่องเที่ยวสามารถล่องแพแบบค้างคืนหรือแบบไปเช่าเย็นกลับก็ได้ โดยล่องแพแบบค้างคืนนั้น สนนราคาประมาณ 2,500 บาท สำหรับนักท่องเที่ยว 5 – 10 คน ส่วนล่องแพแบบไปเช้าเย็นกลับราคาคนละ 100 บาท นอกจากนั้นคุณวิโรจน์ยังบอกอีกว่า การล่องแพของชาวบ้านท่าเรือสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเป็นชาวอุตรดิตถ์ บางครั้งมีนักท่องเที่ยวที่มาจากเชียงใหม่ พิษณุโลก แพร่ น่าน
ด้วยความที่บ้านท่าเรือเป็นหมู่บ้านที่ทำอาชีพประมงอีกทั้งยังเป็นจุดล่องแพชมทะเลสาบเหนือเขื่อนดิน ดังนั้นจึงทำให้หมู่บ้านประมงแห่งนี้ไม่เคยเงียบเหงาจากผู้มาเยือน ที่เข้ามาเพื่อสัมผัสความงามของธรรมชาติ เข้ามาเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวประมงหรือเข้ามาเพื่อหาซื้อปลาน้ำจืดเพื่อไปรับประทาน
นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวประมงบ้านท่าเรือ ชิมปลาน้ำจืด สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ทุกฤดูกาล บ้านท่าเรือตั้งอยู่บริเวณเหนือเขื่อนดิน อำเภอท่าปลา อยู่ห่างจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปทางทิศตะวันออกตามถนนสายอุตรดิตถ์ – ท่าปลา ประมาณ 20 กิโลเมตร จะมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าเขื่อนดินอีก 10 กิโลเมตร เมื่อไปถึงตัวอำเภอท่าปลาจะมีทางเข้าไปหมู่บ้านท่าเรืออีกประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณท่าเรือจะมีบริการแพนำเที่ยวเปิดตลอดทุกวันนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อลงเรือได้ที่นี่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
23/2/58

ร่วมแสดงความคิดเห็น