ปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ ม.นอร์ท-เชียงใหม่

4

5

รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2558 มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ อายุ 66 ปี เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร เกียรตินิยม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท 2 สาขาวิชา ได้แก่ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Master of Engineering (Industial Engineering) Asian Institute of Technology ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยรังสิต
รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้สร้างประโยชน์ต่อวงการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยไว้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโปรแกรมประมวลผลคำภาษาไทยที่ชื่อว่า Thai Easy Writer รวมถึงการพัฒนารหัสภาษาไทยที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า รหัสเกษตรฯ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมการวิชาการร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อพัฒนารหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์
นอกจากผลงานด้านโปรแกรมประมวลผลคำแล้ว ยังเป็นผู้บุกเบิกการใช้ฐานข้อมูลพจนานุกรมสำหรับการแบ่งคำภาษาไทยและการแปลภาษาด้วยเครื่อง รวมถึงได้จัดทำอรรถาภิธานภาษาไทย (Thai Theasurus) เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบการวิเคราะห์และสังเคราะห์คำและประโยชน์สำหรับการตรวจตัดสะกดด้วยคอมพิวเตอร์ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างระบบเครือข่าย และระบบเครือข่ายไร้สายภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนำระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสงมาใช้ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสงมาใช้
ในด้านการพัฒนาการศึกษา รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ เป็นผู้ริเริ่มในการสอนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก และสร้างความเข้าใจให้ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญเกี่ยวกับศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์มากกว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการใช้ ดังนั้น จึงมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาในสาขาคอมพิวเตอร์ อย่างหลากหลาย อาทิ เป็นผู้ที่ดำเนินค่ายคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กเล็ก “คอมพิวเตอร์สมองแก้ว” เป็นกรรมการในการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ การเป็นผู้บรรยาย ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา กรรมการ ให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงการมีผลงานเขียนหนังสือและตำราด้านคอมพิวเตอร์และด้านอื่นๆ กว่าอีกห้าสิบรายการ และได้รับการยอมรับมานานว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย
จากผลงานและการค้นคว้าที่ผ่านมาของ รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ถือได้ว่าเป็นผลงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก ทำให้สภาวิจัยแห่งชาติได้มอบรางวัลผลงานคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ในปี พ.ศ.2526, พ.ศ.2527, พ.ศ.2529, พ.ศ.2530, พ.ศ.2531, พ.ศ.2533 และ พ.ศ.2535 รวมทั้งสิ้น 7 ปี
นอกจากผลงานทางด้านวิชาการแล้ว รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ยังเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 13 ปี จนเกษียณราชการ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายแห่ง

ดร.สว่าง ประจักษ์ธรรม ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ พิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2558 มหาวิทยาลัยนอร์ท – เชียงใหม่
ดร.สว่าง ประจักษ์ธรรม ประธานกรรมการ บริษัท ไทย ออพติคอล กรุ๊ป (มหาชน) อายุ 72 ปี เกิดเมื่อวันที่ 21 เดือน เมษายน 2487 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) (MSCE: Master of science civil engineering) และ ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแอเคริน สหรับอเมริกา
บริษัท ไทย ออพติคอล กรุ๊ป (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และบริการเลนส์สายตาพลาสติกอย่างครบวงจร ให้กับผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตเลนส์สายตาอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และเครื่องหมายการค้าของลูกค้า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสมดุลระหว่างอุตสาหกรรม ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ชุมชน และยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีจริยธรรม เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพัฒนาและสร้างรากฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ถึงแม้ว่า บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม ดร.สว่าง ประจักษ์ธรรม ยังคงต้องนำพาบริษัทเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Essilor, Hoya, Sola และ Rodenstock ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกรวมประมาณร้อยละ 80 ที่จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง ส่วนปริมาณความต้องการอีกร้อยละ 20 เป็นของผู้จำหน่ายกลุ่มที่ไม่มีโรงงานผลิตที่ต้องการผู้ผลิตอิสระที่สามารถผลิตสินค้าและทำตลาดสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้จำหน่ายแต่ละราย ทำให้ ดร.สว่าง ประจักษ์ธรรม เล็งเห็นถึงตลาดและส่วนแบ่งในกลุ่มนี้ ทำให้ บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตอิสระอันดับ 2 ของโลกได้ และเป็นผู้ผลิตรายเดียวที่ผลิตเลนส์สำเร็จรูปได้อย่างแท้จริง และได้รับการจัดให้อยู่ในระดับ 4 ดาว หรือ Top Quartile จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย รวมถึงได้รับรางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืนยอดเยี่ยมจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชน ดร.สว่าง ประจักษ์ธรรม มีนโยบายที่ต้องการให้บริษัทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกันได้กับชุมชนโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากธุรกิจ จึงได้ลงทุนเพื่อจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและบำบัดของเสียทุกชนิดที่เกิดขึ้นจากบริษัทซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงไม่เคยเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปพัฒนาชุมชนและสังคมโดยเน้นการสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกันพร้อมแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนรายได้เข้าสู่ชุมชนและส่งเสริมด้านการศึกษา โดยจัดให้มีโครงการต่างๆ เช่น โครงการสานเสวนาชุมชน โครงการส่งเสริมสหกิจชุมชน โครงการส่งเสริมสุขภาพด้านสายตา โครงการส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โครงการแสตมป์ความดี เป็นต้น จนทำให้ได้รับรางวัล Set Awards ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ดีเด่นและยอดเยี่ยม และด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่นและยอดเยี่ยม โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวารสารการเงินการธนาคาร และยังได้รับรางวัล CSRI Recognition ประเภท Rising Star โดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม

ร่วมแสดงความคิดเห็น