สาระน่ารู้ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ..

p13

เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หมายถึงเอ็นที่ยึดระหว่างส้นเท้า และกระดูกนิ้วเท้าเกิดการอักเสบ ทำให้ปวดฝ่าเท้าเมื่อตื่นลุกขึ้นในตอนเช้า และก้าวเท้าลงพื้นและเกิดอาการปวดบริเวณฝ่าเท้า และส้นเท้าแต่หลังจากเดินไป 3-4 ก้าวอาการปวดดีขึ้น แสดงว่าเป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือที่เรียกว่า plantar fasciitis หมายถึง ได้ใช้เท้าทำงานมากเกินไป มีการดึงรั้งของเอ็นใต้ฝ่าเท้า
อาการของโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ผู้ที่เป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ จะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า ในระยะแรกอาจเกิดอาการภายหลังการออกกำลังกาย เดิน หรือยืนนานๆแต่ถ้ามีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งลักษณะของโรคนี้ คือ เมื่อลุกขึ้นเดิน 2-3 ก้าวแรกหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งพักขาเป็นเวลานาน จะรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้า เนื่องจากเกิดการกระชากของเอ็นฝ่าเท้าที่อักเสบอย่างทันทีทันใด แต่เมื่อเดินไประยะหนึ่ง เอ็นฝ่าเท้าจะค่อยๆ ยืดหยุ่นขึ้น อาการเจ็บส้นเท้าจึงค่อยๆทุเลาลง แม้จะเป็นๆ หายๆ แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ดีแน่เพราะ อาการเจ็บปวดส้นเท้าเรื้อรัง จะส่งผลกระทบอย่างมากกับกิจวัตรประจำวัน และการทำงานเนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดความเครียด วิตกกังวล และอาจมีหินปูนเกิดขึ้นบริเวณกระดูกส้นเท้าที่เอ็นฝ่าเท้ายึดเกาะอยู่ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดข้อเท้า/ปวดเกร็งและตึงของกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย เนื่องจากจังหวะการเดินหรือลงน้ำหนักที่ผิดปกติไปจากอาการเจ็บส้นเท้า
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ 1.การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องยืนเป็นเวลานานในระหว่างวัน เช่น ผู้ที่ต้องยืนตลอดกะการทำงานทั้ง 8 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น 2.น้ำหนักตัวมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้ 3.สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า 4.ลักษณะการทำกิจกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เพิ่มระยะทางการวิ่งออกกำลังกาย การเดิน/วิ่งบนพื้นผิวที่ต่างไปจากเดิมหรือบนพื้นผิวแข็ง (เช่น พื้นซีเมนต์หรือคอนกรีต) 5.เอ็นร้อยหวายยึด ทำให้เส้นเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ 6.โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ อาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบได้
7.ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบนเกินไป อุ้งเท้าโก่งมากเกินไป หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่องทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ
การรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะการใช้ยาเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้หายได้ โดยผู้ป่วยต้องลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แก้ไขรองเท้า และทำกายภาพบำบัดยืดเอ็นฝ่าเท้าและกล้ามเนื้อน่องเป็นประจำ จึงจะทำให้อาการทุเลาได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่ามีปัญหาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ถึงแม้จะรักษาจนหายดีแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก ถ้าไม่แก้ไขหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ในกรณีที่ผู้ป่วยดูแลตนเองอย่างเต็มที่โดยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วยังมีอาการของเอ็นฝ่าเท้าอักเสบอยู่ อาจจะต้องผ่าตัด เพื่อเลาะเนื้อเยื่ออักเสบและยึดเอ็นฝ่าเท้า หรือเอาหินปูนที่เกาะบริเวณกระดูกส้นเท้าออก ป้องกันได้โดยเลือกใช้รองเท้าที่ถูกลักษณะ มีตัวรองสันเท้าที่นุ่ม พื้นไม่บางหรือแข็งเกินไป พร้อมแก้ไขหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น
ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้ก่อเกิดโรคถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงมากนักแต่ถ้าเป็นเรื้อรังก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำกิจวัตรประจำวัน และการทำงาน คุณๆทั้งหลายอย่าได้นิ่งนอนใจ ถ้ามีอาการมากควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

…..รพ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น