สช.เผยแผนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2560

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.ต.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางรัตนา ศรีเหรัญ และ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา และตัวแทนผู้บริหารองค์กรหลัก รับฟังแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีนายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นำเสนอผลการดำเนินงานปีงบประมาณที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานของ สช. ในปีงบประมาณนี้

นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กช. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. มีสถานศึกษาในสังกัด 2 ประเภท คือ 1) โรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา จำนวน 3,845 แห่ง ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเรียนการสอน โดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนในระบบประเภทนานาชาติ ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรจากประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ 161 แห่ง 2) โรงเรียนนอกระบบ ได้แก่ สถานศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น เช่น สอนศาสนา ศิลปะ กีฬา วิชาชีพ ฯลฯ จำนวน 6,119 แห่ง, สถาบันศึกษาปอเนาะจำนวน 478 แห่ง และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จำนวน 2,102 แห่ง ซึ่งใช้หลักสูตรต้นแบบของ สช. หรือหลักสูตรของสถานศึกษาที่ผ่านการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบัน สัดส่วนจำนวนนักเรียนของโรงเรียนเอกชนต่อโรงเรียนของรัฐอยู่ที่ 21.7 : 78.3

ภารกิจที่สำคัญของโรงเรียนเอกชน นอกจากช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐบาลแล้ว ยังได้มุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชนมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีในการสอบวัดผลระดับชาติ อาทิ คะแนนเฉลี่ย O-NET ในวิชาต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่สูง มีเพียงบางวิชาเท่านั้นที่คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สช.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 7 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล, การปฏิรูประบบทรัพยากรเพื่อการศึกษาเอกชน, การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน, การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของการศึกษาเอกชน, การส่งเสริมการศึกษานอกระบบเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้, การพัฒนาการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยมีแผนงานและโครงการที่สำคัญ คือ

การปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนโรงเรียนเอกชน โดยศึกษาแนวทางการให้เงินอุดหนุนเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาเอกชน , การเสริมสร้างคุณภาพโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก ด้วยการพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย, ผู้บริหารและครูผู้สอน ตลอดจนศึกษาแนวทางการอุดหนุนและช่วยเหลือ , การลดหย่อนผ่อนปรนภาษีโรงเรือนและที่ดินของสถานศึกษา โดย สช. จะประสานกับสมาคมเพื่อรวบรวมข้อมูลและมีหนังสือถึงสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาแนวทางการลดหย่อนภาษี , การยกระดับคุณภาพภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ด้วยการปรับกระบวนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสาร และจัดส่งบุคลากรเข้าอบรม Boot Camp , การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนเอกชน เน้นการศึกษาแบบ STEM Education โดยจะมีโรงเรียนแกนนำด้าน STEM Education จังหวัดละ 2 ศูนย์ และขยายผลต่อไปยังโรงเรียนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง4-129

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า บทบาทของ สช. คือทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุม (Regulator) หรือดูแลสถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับใบอนุญาต และจากการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ สช.ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากที่ประชุม ซึ่งจะปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเน้น 2 ยุทธศาสตร์ ซึ่ง สช.สามารถแตกย่อยโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่เห็นสมควรได้ คือ

1.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาเอกชน ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง ตัวอย่างเช่น จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนที่คิดเป็น 95.16% ของงบประมาณทั้งหมดของ สช. โดยแบ่งการจัดสรรเงินอุดหนุนออกเป็น 2 หมวด คือ 1) เงินเดือนครู และ 2) การจัดการเรียนการสอน เพราะหากไม่ดำเนินการเช่นนี้ โรงเรียนที่ไม่โปร่งใสจะนำงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินการอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ , ให้ครูเอกชนเข้าร่วมโครงการตรวจเลือดครู พร้อมกับครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้น ม.1-ม.3 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาข้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อจะได้ทราบว่าครูยังอ่อนอะไร เพื่อทำการพัฒนาได้ตรงจุด , ส่งเสริมโรงเรียนเอกชนต้นแบบคุณธรรม จริยธรรม ด้วยการเพิ่มจำนวนโรงเรียนคุณธรรม จริยธรรมให้มากขึ้น โดยการให้ความรู้กับโรงเรียนในสังกัด สช. เพื่อทำให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียน เข้าใจระบบและขั้นตอนของโรงเรียนคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ , การส่งรายชื่อโรงเรียนเอกชนไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อเข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง เพื่อให้มหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนไปพร้อมกับโรงเรียน สพฐ. , การกำหนดเพดานเงินเดือนค่าจ้างครูให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้ครูผู้สอนที่มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย ฯลฯ

2.ยุทธศาสตร์การรักษามาตรฐานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชน สช.สามารถดำเนินการเพื่อรักษามาตรฐานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนได้ อาทิ การตรวจสอบโรงเรียนกวดวิชาในสังกัดเกี่ยวกับการเสียภาษี , ส่งเสริมระบบการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาระบบสารสนเทศศึกษาเอกชน และการจัดการเงินอุดหนุน (PSIS) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำลังดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูล (Database) เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการศึกษาจากทุกหน่วยงานในสังกัด เพื่อทำให้ข้อมูลไม่ซ้ำซ้อนและได้ข้อมูลที่เป็นจริง โดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการก่อน

นอกจากนี้ ขอให้ สช. พิจารณาหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตจัดตั้งสถานศึกษาเอกชนใหม่ ซึ่งแต่เดิมสถานศึกษาต้องมีความพร้อมทุกด้านก่อน ถึงจะได้รับใบอนุญาตและเปิดทำการเรียนการสอนได้ จึงขอให้ทบทวนดูว่าจะสามารถให้ใบอนุญาตจัดตั้งสถานศึกษาแบบมีเงื่อนไขได้หรือไม่ เช่น ไม่ต้องรอให้สถานศึกษาสร้างอาคารเรียนเสร็จก่อน จึงมาขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานศึกษา แต่ควรพิจารณาว่าหากสถานศึกษาใดมีความพร้อมก็สามารถให้ใบอนุญาตได้ แม้จะยังสร้างอาคารเรียนไม่เสร็จก็ตาม โดยอาจจะยังไม่อนุญาตให้สถานศึกษาเปิดทำการเรียนการสอนจนกว่าอาคารเรียนและความพร้อมด้านอื่น ๆ จะสมบูรณ์

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นโยบายทุกเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ สถานศึกษาเอกชนส่วนใหญ่จะได้รับอานิสงส์ด้วยทั้งหมด พร้อมทั้งย้ำถึงการขับเคลื่อนงานการศึกษาเอกชนด้วยว่า ขอให้ สช.ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนในองค์กร จึงต้องเข้ามาดูแลและแก้ไขปรับปรุงระบบการทำงาน เพราะบุคลากรเหล่านี้จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานต่อไป และขอให้ทุกท่านตั้งจิตให้มั่นในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การทำงาน เพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาเอกชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงจัดสรรเงินอุดหนุนลงไปให้เท่านั้น

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สช. มีโรงเรียนในสังกัดที่สำคัญ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) โรงเรียนกวดวิชา 2) โรงเรียนเอกชนการกุศล ซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้าไปสนับสนุนอย่างจริงจัง 3) โรงเรียนเด่น ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ โรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนที่มีคุณภาพด้านวิชาการ จึงขอให้ สช.สนับสนุนโรงเรียนเหล่านี้ให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และฝากเน้นให้มีการท่องสูตรคูณในโรงเรียนทุกแห่ง รวมทั้งเน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น