ภาคเหนือ ร้อยละ 74 มีความช่วยเหลือคนจมน้ำแบบผิด

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พ.ย.2559 มีความเป็นห่วงอุบัติเหตุจมน้ำซึ่งพบได้เกือบทุกปี สาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น เมาสุรา รวมทั้งการลงไปเก็บเงินที่อยู่ในกระทง โดยมักจะเป็นเด็กๆ กรม สบส.ได้ดำเนินการสำรวจความเชื่อของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 ภาค ในด้านการช่วยเหลือคนจมน้ำ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 จำนวน 501 ตัวอย่าง ผลพบว่าส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิด โดยเชื่อว่าช่วยโดยการจับอุ้มพาดบ่าแล้วกระทุ้งท้องมากถึงร้อยละ 62 ภาคที่มีความเชื่อวิธีการนี้อันดับ 1 ได้แก่ ภาคเหนือ ร้อยละ 74 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 71 ภาคกลาง ร้อยละ 61 ภาคใต้ ร้อยละ 54 ส่วน กทม.และปริมณฑล ร้อยละ 50 ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความเชื่อที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น ซึ่งดีขึ้นกว่าผลการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เมื่อปี 2556 ที่พบว่าประชาชนเข้าใจถูกต้องเพียงร้อยละ 7.4

อธิบดี สบส.กล่าวอีกว่า การช่วยคนจมน้ำหลังจากที่นำขึ้นมาจากน้ำ โดยการจับอุ้มพาดบ่าและกระทุ้งท้องเพื่อเอาน้ำออกจากปอดนั้น เป็นวิธีการต้องห้าม และเป็นอันตรายกับผู้ที่จมน้ำ เพราะน้ำที่ออกมาเป็นน้ำจากกระเพาะอาหารไม่ใช่ออกมาจากปอด ผลที่ตามมาจะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น สมองขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยให้กองสุขศึกษาร่วมมือกับสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เผยแพร่ความรู้วิธีการช่วยชีวิตคนจมน้ำที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกหมู่บ้าน เพื่อลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือคนจมน้ำเบื้องต้นที่ถูกต้องก่อนนำส่งโรงพยาบาลคือ ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งช่วยคนที่จมน้ำโดยให้วางนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปาก ช่วยให้หายใจให้เร็วที่สุดโดยวิธีการผายปอดและเป่าลมเข้าทางปากติดต่อกันหลายครั้ง ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้นวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอกให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอกความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที และรีบโทร.แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 โดยเร็วที่สุด

“หน่วยงานที่จัดเตรียมสถานที่ให้ประชาชนลอยกระทงในปีนี้ควรกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน และต้องทำสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันการตกน้ำ จัดให้มีผู้ดูแลและเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำให้พร้อม เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ยางในรถยนต์ที่เติมลมไว้พร้อม เขียนป้ายบอกวิธีการใช้ให้ถูกต้อง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น