อดีต จนท.ป่าไม้กลับบ้าน ปลูกกาแฟของ “ในหลวง”

1%e0%b8%aa%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b9%8a%e0%b8%9b กาแฟในหลวงรักษาป่า เกษตรกรผลิต แปรรูป และจำหน่ายได้ มีเงินออม น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จาก 100 ครัวเรือนเพิ่มเป็น 156 ครัวเรือนแล้ว รวมกลุ่มชาวบ้านมีรายได้มั่นคง ล่าสุดเดินหน้ากาแฟอินทรีย์ปลอดสารเคมี

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจโครงการต่างๆ ที่น้อมนำแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พบนายกฤษฏ์ พยัคกาฬ ผู้ก่อตั้งและรองประธานกลุ่มวิสาหกิจพยัคฆ์คอฟฟี่ (Payak Coffee) ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนอดีตทำงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลาออกมาสอนหนังสือให้โรงเรียนเอกชนในเชียงใหม่ พอมีครอบครัวก็กลับมาอยู่บ้านที่ ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

“ได้เข้ามาอยู่ที่บ้าน 1 ปี มีพื้นที่ปลูกกาแฟของตัวเอง 3 ไร่ 1,200 ต้น ตนได้สอบถามชาวบ้านทราบว่ากาแฟในพื้นที่มีจำนวนมาก มีทุกตำบล แต่ผลผลิตไม่แน่นอน และสอบถามอีกว่าใครเป็นผู้นำกาแฟเข้ามาปลูกในพื้นที่คนแรกได้รับคำตอบจากชาวบ้านผู้นำกาแฟมาปลูกคนแรกคือ พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้นำกาแฟมาปลูกให้ชาวไทยผู้เขาที่นี้ เพื่อทดแทนการพืชเสพติดชนิดต่างๆ ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม เมื่อ พ.ศ.2524 กาแฟต้นแรก เข้ามาพร้อมโครงการพัฒนาชาวเขา ซึ่งโครงการหลวงได้ก่อตั้งที่ดอยอินทนนท์มาก่อนหน้านั้นแล้ว ที่ดอยอินทนนท์ปลูกพืชและผลไม้เมืองหนาวจำนวนมาก บางพื้นที่ก็ปลูกกาแฟด้วยเช่นกัน เพราะกาแฟของพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป”

พระเจ้าแผ่นดินนำกาแฟมาทดแทนไร่ฝิ่นที่ปลูกกันจำนวนมากแล้ว พระองค์ท่านยังนำโครงการไทยเยอรมัน และโครงการเชื่อมสัมพันธ์ไทยกับชาติต่างๆ มาอีกหลายโครงการ แต่โครงการต่างๆ ดำเนินการในระยะสั้นๆ 4-5 ปีก็จบโครงการไป เช่นโครงการให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ แล้วรับซื้อ แต่ไม่ได้ให้ความรู้การแปรรูปกาแฟเป็นต้น ในอดีตนั้นไม่มีการต่อยอดดังกล่าว

2%e0%b8%aa%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b9%8a%e0%b8%9b“ผมเห็นในหลวงท่านนำเอากาแฟเข้ามาทดแทนไร่ฝิ่น ได้กาแฟแล้วได้ป่า เพราะกาแฟจะขึ้นในอากาศเย็นและชอบอยู่ในต้นไม้ใหญ่ๆ ดังนั้นการปลูกกาแฟได้ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จะดีกว่าให้เกษตรกรไปปลูกข้าวโพดที่เข้ามาเมื่อ 16 ปีที่แล้ว เข้ามาพร้อมพ่อค้าข้าวโพดที่ใช้ระยะเวลา 120 วันเก็บเกี่ยวและขายได้เลย มีการซื้อขายรวดเร็วและได้เงินสดกันแบบถูกต้อง เกษตรกรจึงนิยมปลูกกันมาก เกษตรกรบางรายถึงกับตัดต้นกาแฟทิ้งเพื่อจะปลูกข้าวโพด แน่นอนว่าต้นไม้ก็จะถูกตัดเพราะข้าวโพดเป็นไม้เชิงเดี่ยวที่ห้ามไม้ใหญ่ปกคลุม หากมีไม้ใหญ่ปกคลุมข้าวโพดจะไม่ออกผลผลิต”

นายกฤษฏ์ พยัคกาฬ ผู้ก่อตั้งและรองประธานกลุ่มวิสาหกิจพยัคฆ์คอฟฟี่ กล่าวอีกว่า กาแฟ ก่อนหน้านั้นมีการปลูกกันมาก แต่พ่อค้าที่มารับซื้อไม่แน่นอน เมื่อตนลาออกจากงานประจำที่เป็นอาจารย์สอนในเมืองเชียงใหม่ออกมาอยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัวที่นี่ ก็ได้น้อมนำแนวทางปฏิบัติของพระองค์ท่านเพื่อมาใช้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่นี่ ขณะเดียวกันสมเด็จพระราชินี โครงการผ้าทอมือกระเหรี่ยงเป็นการทำในรูปแบบศิลปาชีพผ้าทอมือกระเหรี่ยง เข้ามาให้ชาวบ้านที่นี่เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ด้วยและทุกวันนี้ผ้าท่อมือกระเหรี่ยงก็ยังมีการทำกันอยู่อย่างต่อเนื่อง

“พยัคฆ์กาแฟ อ.แม่แจ่ม ดำเนินการตามตามแนวทางของแม่แจ่มโมเดล นอกจากเกษตรผู้ปลูกเอง แปรรูปเอง สามารถกำหนดราคาได้เอง เริ่มตนมา 1 ปี มีสมาชิกจำนวน 100 คน รวมตัวเป็นวิสาหกิจผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าพยัคฆ์กาแฟ ที่อยู่บนยอดดอยสูงเกิน 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล”

ผู้ก่อตั้งและรองประธานกลุ่มวิสาหกิจพยัคฆ์คอฟฟี่ กล่าวว่า พยัคฆ์กาแฟที่นี้ก่อนหน้านี้นายทศพล เผือกอุดม อดีตนายอำเภอแม่แจ่ม ได้ย้ายไปเป็นนายอำเภอบางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยาแล้วนั้น ท่านได้มาชิมกาแฟที่นี้ ท่านยืนยันบอกว่า พยัคฆ์กาแฟเป็นกาแฟที่ดีมีคุณภาพไม่แพ้กาแฟชื่อดังของไทยและต่างชาติบางยี่ห้อ และต้องการเห็นกาแฟของแม่แจ่มมีชื่อเสียง จากนั้นชาวบ้านที่มีอาชีพนอกจากปลูกกาแฟก็มีอาชีพอื่นๆ เช่นปลูกข้าว ปลูกข้าวโพดด้วยนั้นก็หันมาสนใจการปลูกกาแฟ มารวมตัวกันเป็นผู้ปลูกและแปรรูปและจำหน่ายเองกำหนดราคาเองดังกล่าวได้มาถึงวันนี้นานกว่า 1 ปีแล้ว

“เป็นเพราะสมาชิกทุกคนมารวมตัวกัน เพราะน้อมนำและยึดหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านตรัสไว้ว่า เงิน 1 บาท ไม่มีค่าอะไรกับคน 1 คน แต่หากเงิน 1 บาทจากคน 1 ล้านคนจะมีพลังทันที เช่นเเดียวกันกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ 1 ราย ไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้ากาแฟได้เลย เมื่อเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกทั้งดอยแม่แจ่ม และมีกาแฟคุณภาพพันธุ์ดี เป็นกาแฟอินทรีย์ ปลอดสาร ใครบ้างที่จะไม่สนใจมาซื้อไปรับประทาน ทุกท่านต้องการสุขภาพที่ดีทุกคน”

นายกฤษฏ์ ผู้ก่อตั้ง พยัคฆ์คอฟฟี่ กล่าวอีกว่า เมื่อมีตลาดต้องการ รวมกลุ่มกันเข้าปีที่ 2 เริ่มมั่นคงมากขึ้น ต่อไปจะเข้าสู้ระบบของการออม เพื่อนำทุนทรัพย์ดูแลสมาชิกยามจำเป็นได้เงินออมปีละ 60,000 บาท มีสมาชิกจำนวน 100 ราย ในพื้นที่ ต.กองแขก ที่เป็นตำบลเริ่มต้น และ ต.ท่าผา ต.ช่างเคิ่ง ต.ปางหินฝน และ ต.แม่นาจอน และขยายไปสู่ ต.แม่ศึก กว่าจะมีสมาชิกมากถึง 156 ครัวเรือนจะเป็นสมาชิกในปีที่ 2 นี้

“การน้อมนำปรัญญาพอเพียง โดยพึงตนเอง และให้มีวินัยทางการออม เป็นการทำให้สมาชิกทุกคนได้ยึดแนวทางนี้มาปฏิบัติใช้ได้เป็นรูปธรรม การที่คนคนหนึ่งไปยืมเงินจากคนอีกคนหนึ่งเขาก็จะมองว่าเป็นใคร สมาชิกบางคนต้นทุนของการเข้าถึงเงินทุนไม่มีเลย แต่เมื่อมีสมาชิกกลุ่มเดียวกันมีการออม นอกจากมีทุน ก็จะมีเงินให้กู้ยืม และมีความเชื่อมั่นในสมาชิก สามารถคำประกันซึ่งกันได้ รวมไปถึงการใช้เงินเร่งด่วนในการรับการรักษาของสมาชิกและครอบครัวได้ จะช่วยลดปัญหาหาหนี้สินได้”

การทำงานรวมตัวกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและผลิตกาแฟพยัคฆ์กาแฟขึ้นมานี้นั้น มีราคาประกัน เกษตรกรก็เชื่อมั่นในการผลิตออกมาและมีแหล่งจำหน่ายได้แน่นอน วันนี้สมาชิกของเราทุกคนอยู่ได้ และจะน้อมนำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารมาใช้อย่างต่อเนื่องต่อไป และวันนี้ส่งกาแฟ ให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศของยี่ห้อดังกว่า 3 ยี่ห้อแล้วในขณะนี้ รายได้ต่อปีที่ผ่านมาเพียง 1 ปีรายได้กว่า 1 ล้านบาทแล้ว หากผู้ที่สนใจจะสั่งซื้อกาแฟสามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 085-6215515 หรือ เฟสบุ๊ค Payak Coffee ได้ นายกฤษฏ์ พยัคกาฬ ผู้ก่อตั้งและรองประธานกลุ่มวิสาหกิจพยัคฆ์คอฟฟี่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น