บริการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

989

ข้อเข่าเสื่อม หรือ โรคข้อเข่าเสื่อม หมายถึง การที่กระดูกอ่อนของเข่ามีการเสื่อมสภาพ ทำให้กระดูกอ่อนไม่สามารถเป็นเบาะรองรับนํ้าหนัก และมีการสูญเสียคุณสมบัติของนํ้าหล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ก็จะเกิดการเสียดสี และเกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อน ผิวของกระดูกอ่อนจะแข็ง ไม่เรียบ เมื่อข้อเข่าเคลื่อนไหวจะเกิดเสียงดังในข้อ เกิดอาการเจ็บปวด หากข้อเข่ามีการอักเสบก็จะมีการสร้างนํ้าข้อเข่าเพิ่มทำให้เกิดการบวม ตึง และปวดข้อเข่า เมื่อมีการเสื่อมมากขึ้น ข้อเข่าก็จะมีการโก่งงอ ทำให้เกิดอาการปวดเข่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว

โรคเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบในผู้ที่สูงอายุ แต่ก็สามารถพบในผู้ที่มีอายุน้อยซึ่งจะพบในผู้ที่มีโรคข้อเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่า โดยมากผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นข้อเสื่อมได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากความแข็งแรงของกระดูก และกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย ในผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมทำให้เกิดความทรมานแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง คุณภาพชีวิตลดลง และทำให้โรคอื่นๆกำเริบ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากออกกำลังไม่ได้

ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เข้ารับบริการประเภทผู้ป่วยนอกมากกว่าปีละ 200,000 ราย จากรายงานการสำรวจสุขภาวะ : ผู้สูงอายุไทย ปี 2556 ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ : HITAP พบว่าผู้สูงอายุเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมร้อยละ 10.6 และอยู่ในระดับรุนแรงควรได้รับการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมร้อยละ 4.4 การให้บริการผ่าตัดข้อเข่ามีการให้บริการกระจุกตัวอยู่ในเขตภาคกลาง ได้แก่ เขต 4 เขต 5 และเขต 13 และอาจมีผู้ป่วยที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงบริการผ่าตัดตามความจำเป็น และในช่วงปีงบประมาณ 2557-2559 พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม อัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.4 โดยสัดส่วนการผ่าตัดข้อเข่า จำนวน 1 ใน 4 ของการผ่าตัดข้อเข่าทั้งหมด เป็นการผ่าตัดในผู้ป่วยอายุตํ่ากว่า 60 ปี อีกทั้งการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการใส่ข้อเข่าเทียมเป็นบริการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก การจัดบริการส่วนที่เกินความจำเป็นจะเป็นการเพิ่มงบประมาณเกินกว่าที่ควร รวมทั้งการให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานการรักษาเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ป่วยต้องทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซํ้าในระยะเวลาที่ยังไม่จำเป็น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าถึงบริการการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพจึงเห็นควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับการให้บริการการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วัตถุประสงค์

1.ขยายความครอบคลุมในการเข้าถึงบริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.สนับสนุนให้เกิดบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น

3.ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายบริการส่งต่อผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม และการติดตามดูแลฟื้นฟูหลังการผ่าตัด แนวทางการให้บริการการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กำหนดดังนี้

1.ผู้มีสิทธิเข้ารับบริการ : ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

2.คุณสมบัติและศักยภาพของหน่วยบริการ : หน่วยบริการต้องสมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์ประเมินการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปของ สปสช.

ด้านบุคลากร : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ปฏิบัติงานประจำ แพทย์สาขาวิสัญญีแพทย์ สาขาอายุรแพทย์ทั่วไป ปฏิบัติงานประจำ (Fulltime) หรือปฏิบัติงานบางเวลา (Partime) แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพบำบัดให้บริการกายภาพบำบัด ให้บริการผู้ป่วยหลังผ่าตัด

ด้านอาคาร สถานที่บริการห้องตรวจ รองรับบริการนอก ผู้ป่วยใน บริการรังสีวินิจฉัย ห้องผ่าตัด ห้องผู้ป่วยวิกฤติ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือ เป็นไปตามมาตรฐาน การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ

ปัจจุบันมีหน่วยบริการสมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์ประเมิน 14 แห่ง และอยู่ระหว่างการประเมิน 1 แห่ง

จังหวัดเชียงใหม่ : รพ.นครพิงค์ รพ.ฝาง รพ.จอมทอง รพ.เชียงใหม่ใกล้หมอ รพ.มหาราชฯ

จังหวัดเชียงราย : รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.แม่จัน รพ.แม่สาย

จังหวัดลำปาง : รพ.ลำปาง

จังหวัดลำพูน : รพ.ลำพูน , รพ.ศิริเวช ลำพูน (อยู่ระหว่างการประเมิน)

จังหวัดแพร่ : รพ.แพร่

จังหวัดน่าน : รพ.น่าน

จังหวัดพะเยา : รพ.พะเยา

3.อาการและข้อบ่งชี้การรับบริการการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมในรายที่จำเป็นต้องได้รับบริการผ่าตัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ จะเป็นผู้ประเมินอาการการเจ็บป่วย และแนะนำแนวทางการรักษา และวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วย

4.กำกับติดตามคุณภาพบริการการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมของหน่วยบริการ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะประเมินติดตามการให้บริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม และผลลัพธ์การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมตามที่กำหนด เพื่อกำกับติดตามคุณภาพการให้บริการ

1.อัตราการเกิด ข้อเข่าติด (Stiffness) หลังผ่าตัด 3 เดือน

2.อัตราการเกิดภาวะติดเชื้อในการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

3.อัตราการกลับมานอนโรงพยาบาลซํ้า (Re-admission) ภายใน 3 เดือน

4.การเข้ารับบริการ และค่าบริการทางการแพทย์การเข้ารับบริการ ต้องเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ระบุในบัตร กรณี ที่หน่วยบริการที่ระบุในบัตรดูแลรักษาไม่ได้จะมีระบบส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า
ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่ผ่านระบบส่งต่อถูกต้องตามขั้นตอน จะไม่เสียค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล หน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บจากผู้ป่วย ยกเว้น การเรียกบริการพิเศษเพิ่มเติมจากหน่วยบริการ
เช่น ห้องพิเศษ หรือ พยาบาลพิเศษ

ข้อมูล…โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ ภาพจากอินเทอร์เน็ต

ร่วมแสดงความคิดเห็น