กลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 หนุนท่องเที่ยวทางรถไฟ

b-2กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ร่วมกันกิจกรรมไปแอ่วลำปางกันเตอะ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ ” นั่งรถไฟแอ่วเมืองเหนือปี 2 ” กระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคเหนือตอนบนให้เกิดความคึกคักช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สำนักงานจังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดงาน “นั่งรถไฟแอ่วเมืองเหนือปี 2 ” เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการผลิตให้สมดุลและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดคือการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการ (Value Creation) ผนวกกับจุดแข็งในด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นไทย รวมทั้งเป็นการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวทางรถไฟ ขยายตลาดนักท่องเที่ยว และเร่งกระตุ้นรายได้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ กิจกรรมส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟ “นั่งรถไฟแอ่วเมืองเหนือปี 2”

ทั้งนี้ กำหนดการจัดกิจกรรมจำนวน 6 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2559 ขบวนท่องเที่ยวปฐมฤกษ์ ครั้งที่ 2 วันที่ 10-11 ธันวาคม 2559 ขบวนรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 3 วันที่ 24-25 ธันวาคม 2559 ขบวนสุขสันต์คริสต์มาส ครั้งที่ 4 วันที่ 14-15 มกราคม 2560 ขบวนเทศกาลวันเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 5 วันที่ 28-29 มกราคม 2560 ขบวนเทศกาลตรุษจีน ครั้งที่ 6 วันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2560 ขบวนแห่งความรัก ขบวนรถไฟ ขบวนพิเศษ จะได้นำท่านเข้าสู่บรรยากาศการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟ โดยเริ่มจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ ถึงสถานีรถไฟนครลำปาง ชมวิถีชีวิตตามรายทาง ความสวยงามของธรรมชาติ ที่ทางรถไฟวิ่งลัดเลาะขุนเขาอุโมงค์ขุนตาน หรือที่สะพานทาชมภู โดยอุโมงค์แห่งนี้เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นอุโมงค์คอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว ขุดอุโมงค์ลอดเท่านั้น และเมื่อสร้างเสร็จก็ให้ชื่อว่าอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งมีความยาวถึง 1,352.15 เมตร พักที่สถานีขุนตาน สักการะศาลเจ้าพ่อขุนตาน และสถูปของวิศวกรผู้สร้างอุโมงค์ขุนตาน ชมพิพิธภัณฑ์รถไฟ ประแจสับราง ถ่ายภาพกับอุโมงค์ขุนตาน รับประทานอาหารกลางวัน ด้วยมือเมนูเด็ดไก่แดงทาชมพู โดยตลอดการเดินทางจะมีมัคคุเทศก์นำเที่ยวได้ให้ข้อมูลและความเป็นมาของเส้นทางการท่องเที่ยวรถไฟ มีบริการอาหารว่าง อาหารกลางวัน ที่พัก และนั่งรถม้า นำเที่ยวนครลำปาง ซึ่งมีผู้ประกอบการนำเที่ยว ภาคเอกชนจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้นำเสนอแพ็คเกจท่องเที่ยวในราคาพิเศษ

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวทางรถไฟ “นั่งรถไฟแอ่วเมืองเหนือ” เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวทางรถไฟสายวัฒนธรรม ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟสายวัฒนธรรม ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เพื่อส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อการท่องเที่ยว ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่งดงาม ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศที่น่าอยู่ ประชากรมีวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่เก่าแก่ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย และมีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว มีสถานบริการทางด้านที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ที่มีมาตรฐาน พร้อมสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของภูมิภาค ได้เป็นอย่างดี อันจะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1

ในด้านการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ นั้น จุดหมายปลายทางที่ต้องการอาจไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากวิถีชีวิตตลอดเส้นทางมีความสวยงามทางธรรมชาติ ที่ผ่านทางสายตาสามารถรับรู้และสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก มีมนต์เสน่ห์และสีสันในการเดินทาง โดยรถไฟที่ยังไม่เคยแปรเปลี่ยนแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของเส้นทางรถไฟสายเหนือ ที่มีความโดดเด่นของเส้นทางรถไฟที่วิ่งลัดเลาะรอบขุนเขา นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ทางลอดเขาที่มีความสวยงามและมีเมืองเสน่ห์มาจวบจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะวิวสวยๆ ยามเช้าที่แก่งหลวง อุโมงค์ขุนตาน หรือจะเป็นที่สะพานทาชมภู ที่ได้สร้างความประทับใจแก่นักเดินทางท่องเที่ยว ตลอดเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟจากสถานีเชียงใหม่จนถึงสถานีรถไฟนครลำปาง จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศการนั่งรถไฟ ฟังเสียงล้อเหล็กกระทบราง การนั่งดื่มด่ำบรรยากาศตลอดสองข้างทาง รวมทั้งวิถีชีวิต พร้อมรับลมเย็นๆ และอากาศที่แสนบริสุทธิ์จากธรรมชาติ บนเส้นทางรถไฟ ที่จะทำให้ทุกท่านได้รับประสบการณ์ในการท่องเที่ยวใหม่ๆ ในวิถีชีวิตความเป็นไทย อันแสนประทับใจที่มิอาจลืมเลือนได้ในวันนี้

สำหรับกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ ได้แสดงถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนแขนงต่างๆที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ “นายพุฒิพงศ์ กล่าว

นางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวทางรถไฟสายวัฒนธรรม ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณพ.ศ.2559 ภายใต้โครงการพัฒนารูปแบบกิจกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว แผนงานส่งเสริมสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้โดดเด่น และมีคุณค่ามุ่งเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หัตถกรรมสร้างสรรค์ ศิลปะวัฒนธรรมการท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรมและเชิงสุขภาพ ประกอบกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวโดยกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรม ให้มีขบวนรถไฟวิ่งระยะสั้น จังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อให้เกิดการกระจาย และขยายฐานนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อยกระดับ ตลอดจนสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยวด้านเศรษฐกิจ ให้ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมปีท่องเที่ยววิถีไทย 2559 ภายใต้โครงการ “เมืองต้องห้าม…พลาด” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของภาคเหนือ รถไฟยังคงมีความสำคัญอยู่คู่บ้านคู่เมือง มาจนถึงปัจจุบัน รถไฟเป็นพาหนะที่สำคัญที่ประชาชนใช้ในการสัญจรติดต่อคมนาคมในอดีตถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 100 ปี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดขบวนรถไฟสายเหนือกรุงเทพ- ลำปาง จากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีรถไฟนครลำปาง ขบวนแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2459 จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ส่งผลให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟสายเหนือ นครลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด ได้ชมสถาปัตยกรรม บ้านเรือนผู้คน และโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ชัดเจนบริเวณสองข้างทาง ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค

นางศุกลรัตน์ จันทร์มณี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการผลิตให้สมดุลและยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของแนวคิด ที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ การเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการ (Value Creation) โดยใช้องค์ความรู้ และนวัตกรรม ผนวกกับจุดแข็งด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นไทย สรรสร้างรูปแบบการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อขยายการเชื่อมโยงตลาดการให้บริการนักท่องเที่ยว และกระตุ้นรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 นำไปสู่การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟสายวัฒนธรรม ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ซึ่งได้กำหนดการจัดกิจกรรมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น