“ชมพูภูคา” พันธุ์ไม้ป่าหายากแห่งดอยภูคา

dsc_0155

ในบรรดายอดดอยนับสิบนับร้อยยอดในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคานั้น คงไม่มียอดใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ยอดดอยภูคา อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดน่านที่มีความสูงราว 1,980 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่น้อยคนนักจะเคยเข้าไปสัมผสยอดสูงแห่งนี้ จึงมีเพียงเรื่องเล่าขานเป็นตำนานที่ยังไม่มีใครยืนยังได้จริง มีแต่เรื่องเล่าจากคนเก่าก่อนสืบมาว่า บนยอดดยภูคามีแต่ความงามและความสมบูรณ์ มีดอกไม้ป่าหายากนามว่า ชมพูภูคา

เมื่อลมหนาวมาเยือนเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า ฤดูแห่งการท่องเที่ยวและเข้าป่าชมความงามของพรรณไม้กำลังจะมาถึง แม้ว่าปีนี้ลมหนาวจะมาเยือนแบบลักปิดลักเปิด คือมา 2 วันหาย 3 วันก็ตาม กระนั้นก็ยังคงสร้างความหนาวเย็นให้กับพื้นที่ในชนบทได้ไม่น้อย

จำได้ว่าเคยเขียนถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในแถบจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางมามากแล้ว แต่น้อยครั้งที่จะข้ามฟากไปเขียนถึงแหล่งเที่ยวที่อยู่ในจังหวัดตะวันออกของภาคเหนืออย่างจังหวัดแพร่และน่าน

หน้าหนาวเมื่อหลายปีก่อนเคยไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาของอำเภอปัว จังหวัดน่าน ที่นี่นอกจากจะมีความสมบูรณ์ของสภาพป่าที่สวยงามแล้ว ยังมีป่าดึกดำบรรพ์ที่นักวิชาการคะเนกันว่า น่าจะมีอายุหลายร้อยล้านปีและที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคานี้เอง ยังเป็นแหล่งที่พบต้น “ชมพูภูคา” พรรณไม้ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ มีรายงานว่าเมื่อ 30 ปีก่อนเคยพบไม้พันธุ์นี้ในป่าบางแห่งของประเทศจีนรวมทั้งเขตชายแดนระหว่างจีนกับเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการค้นพบต้นชมพูภูคามาก่อนเลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2532 ดร.ธวัชชัย ตันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้ของกรมป่าไม้ ได้สำรวจพบต้นไม้พันธุ์หายากที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็คือ ต้นชมพูภูคา หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “ไบร์ทชไนเดอร์ไซเนนซีส” (Bretschneidera Sinensis) มีความสูงประมาณ 25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นประมาณ 50 เซนติเมตร อายุระหว่าง 50 – 100 ปี

dsc_6103

ชมพูภูคาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการงอกขยายพันธุ์ของเมล็ดในอัตราที่ต่ำมาก ดังนั้นจึงง่ายต่อการสูญพันธุ์และจะต้องขึ้นอยู่ในภูมิปีะเทศที่มีความสูงราว 1,500 เมตรจะระดับน้ำทะเลขึ้นไปและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ชมพูภูคาจะออกดอกสะพรั่งในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี หลังจากที่ได้ค้นพบต้นชมพูภูคาแล้วก็ได้มีการพยายามที่จะขยายพันธุ์เพื่อแพร่ขยายแต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ

ทุกปีเมื่อถึงเดือนมกราคมต่อระหว่างกุมภาพันธ์ จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางขึ้นมาชมความสวยงามของดอกไม้ป่าแห่งนี้ ดอกชมพูภูคาจะออกดอกให้ชื่นชมนาน 1 เดือนก่อนที่จะโรยราไปหลายคนที่เดินทางมาในช่วงที่กำลังออกดอกก็จะสัมผัสได้ถึงความสวยงามของราชินีดอกไม้ป่าที่ว่ากันว่างดงามไม้แพ้ดอกกุหลาบพันปีแห่งเทือกดอยอินทนนท์เลยทีเดียว

นอกเหนือจากเส้นทางรถที่สามารถเข้าไปถึงยังต้นชมพูภูคานี้แล้ว ถนนสายนี้ยังสามารถเดินทางต่อไปยังอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านได้อีกด้วย ความคดเคี้ยวของถนนที่ตัดผ่านป่าดึกดำบรรพ์ทำให้เราจินตนาการนึกย้อนไปว่ากำลังเดินทางเข้าสู่อดีตเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน

ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคายังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอีก 2 เส้นทางความระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ระหว่างทางเดินศึกษาธรรมชาติเราสามารถพบกับความหลากหลายของผืนป่า ทั้งป่าดิบป่าโปร่ง โดยใช้เวลาในการเดินศึกษาธรรมชาติตามเส้นทางกว่า 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเรายังสามารถพบต้นชมพูภูคาได้อีกนับสิบต้น โดยชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่าเป็นผู้มาพบ

เมื่อมีโอกาสเดินทางมายังจังหวัดน่านในหน้าหนาว ขึ้นเหนือไปถึงอำเภอปัวลองแวะชมดอกชมพูภูคา พันธุ์ไม้ป่าหายากของไทยอีกชนิดหนึ่ง นอกจากจะได้สัมผัสกับธรรมชาติอันสวยงามแล้วยังถือเป็นการพักผ่อนได้อีกด้วย.

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

ตั้งอยู่ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน มียอดดอยภูคาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ ประกอบด้วยป่าที่มีความสมบูรณ์ทั้งพรรณพืชและสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัวและลำน้ำว้า เป็นต้น

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเมือกเขาสลับซับซ้อน ความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ยคือ 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สูงที่สุดคือยอดดอยภูแว มีความสูง 1,980 เมตร สภาพป่าโยทั่วไปบางส่วนยังมีความสมบูรณ์ บางส่วนเป็นพื้นที่ถูกทำลายโดยชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้กับเขตอุทยานฯเข้าไปหาของป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคาประกอบด้วยป่าหกชนิด ได้แก่

ป่าดิบเขา มีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่อุทยานฯพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ต้นก่อยาว ตะเคียน กำลังเสือโคร่ง เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง มักพบตามริมน้ำ ริมลำธารมีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่อุทยานฯพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ต้นยาง ตะเคียน มะค่าโมง เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ มีอยู่กระจัดกระจายทั่วไปตามที่ราบของเขาและบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อย มีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่อุทยานฯ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่แดง ตะแบก สัก เป็นต้น

ป่าเต็งรัง พบตามบริเวณลาดเขา เนื้อที่ประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่อุทยานฯ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง
ทุ่งหญ้า มีอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่บางส่วน ส่วนใหญ่เคยเป็นป่ามาก่อน แต่ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ทำกินมีอยู่ประมาณร้อยละ 9 ของพื้นที่อุทยานฯ

ป่าสนธรรมชาติ มีขึ้นอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานฯ

ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติดอยภูคามี 3 ฤดู คือฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม แต่เดือนที่มีฝนตกชุกคือ เดือนสิงหาคมและกันยายน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็นอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15 – 27 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนเป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนอากาศเย็นสบาย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น