เกษตรเตือนภัยโรคพืชในฤดูหนาวมาแล้ว โรคเน่าคอดินพืช-ผัก

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรส่วนใหญ่จะเริ่มทำการเพาะปลูกพืชผัก สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีข้อแนะนำให้เกษตรกรรู้จักโรคพืชที่อาจเกิดการระบาดในพืชผักได้ในช่วงฤดูหนาวนี้รวมถึงวิธีการป้องกันกำจัด

นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคของต้นอ่อนหรือกล้าผักต่างๆ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดแต่ที่ทราบและรู้จักกันดีที่สุด ได้แก่ โรคโคนเน่าคอดิน (damping-off) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วๆ ไปว่าโรคกล้าตายพราย หรือโรคเหี่ยวเขียว ซึ่งจัดว่าเป็นโรคระบาดสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับผักมากมายหลายชนิด หลายตระกูลในเกือบทุกสภาพของดินและภูมิอากาศตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการเจริญเติบโต

เชื้อรามีหลายชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเน่าคอดิน ได้แก่ Phycomycetes : Pythium spp. , Phytophthora spp. Deuteromycetes : Botrytis cinerea , Diplodia pinea , Cylindrocladium scoparium , Fusarium spp , Pestalozzia funerea, Rhizoctonia solani, Sclerotium bataticola

ลักษณะอาการของโรค เชื้อราจะเข้าทำลายพืชในระยะต้นกล้า ทำให้ลำต้นเน่าและตายลงอย่างรวดเร็ว เส้นใยของราที่เป็นสาเหตุจะแพร่กระจายอยู่ในดิน และเข้าสู่ต้นกล้าโดยแทงเข้าไปในเซลล์ผิว

อาการต้นกล้าเน่า อาการทั่วไปในแปลงจะพบว่า ต้นกล้าฟุบตายเป็นหย่อมๆ เมื่อนำกล้ามาพิจารณาดูที่ต้นจะเห็นว่า บริเวณโคนต้นจะมีลักษณะแผลช้ำ เหี่ยวแฟบ คอรวงเป็นสีน้ำตาลดำและเน่า เป็นเหตุทำให้ต้นกล้าหักพับลง พบกับกล้าพืชแทบทุกชนิดในแปลงที่มีกล้าแน่นเกินไป และความชื้นสูง สาเหตุเนื่องจากเชื้อราอาการต่างๆ ของโรคดังกล่าวมาแล้ว จะเกิดได้รุนแรงขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับพืช ชนิด และปริมาณของเชื้อโรค และสภาพแวดล้อม เชื้อโรคแต่ละชนิดต้องการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เช่น โรคเน่าคอดิน โรครากเน่าจะเกิดรุนแรงเมื่อความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำไม่ดี โรคเน่าเละของผักระบาด เมื่อความชื้นสูง และอากาศร้อน โรคราแป้งขาวเป็นได้ดีในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง ในขณะที่โรคราน้ำค้างเป็นโรคได้ดี และระบาดมาก เมื่อมีความชื้นสูง และฝนชุก โรคใบจุด (ตากบ) ของยาสูบพบว่า ในแปลงที่มีปุ๋ยไนโตรเจนสูง ทำให้เกิดโรคมาก โรคเหี่ยวของมะเขือเทศที่เกิดจากเชื้อราจะเป็นโรครุนแรงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่ปลูก และอัตราส่วนปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทสเซียมที่ให้ สรุปได้ว่า เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อจะเจริญได้ดีมีการเพิ่มปริมาณจำนวนมาก และเข้าทำลายพืชได้ง่าย โดยอาจเข้าทำลายโดยตรง เช่น เชื้อรา หรืออาจเข้าทางบาดแผล และทางรูเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ ในสภาพที่พอเหมาะเชื้อจะเข้าไปเจริญ และขยายพันธุ์ในส่วนต่างๆ ของพืช และแสดงอาการโรคให้เห็น ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เชื้อมีจำนวนมาก พร้อมที่จะแพร่ระบาดขยายขอบเขตของการเกิดโรคออกไป โดยมีลมหรือน้ำพัดพาติดไปกับส่วนขยายพันธุ์ หรือเมล็ดพันธุ์ แมลง และสัตว์บางชนิดพาไป ติดไปกับเครื่องมือ หรือวัสดุการเกษตร เช่น มีด จอบ เสียม ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือบางทีมนุษย์ก็เป็นผู้นำ โรคแพร่ระบาดเสียเอง และสามารถแพร่ระบาดได้ไกลข้ามประเทศ โดยการนำหรือแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชที่มีโรคติดอยู่ เป็นต้น

อาการโรคเน่าคอดิน แบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ

1) ราเข้าทำลายเมล็ดหรือต้นกล้า ก่อนที่จะงอกพ้นดิน ทำให้เมล็ดไม่งอกหรือรากต้นอ่อน ถูกทำลายทันที ทำให้ไม่มีใบเลี้ยงออกมา

2) ต้นกล้าเป็นโรคเมื่อโผล่พ้นดินแล้ว ถ้าเข้าทำลายส่วนล่างหรือส่วนราก โดยราจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเนื้อเยื่อพืชโดยเฉพาะราก ทำให้ต้นกล้าเหี่ยวทั้งต้นและหักล้มก่อนจะแสดงอาการเหี่ยว โดยส่วนติดผิวดินจะเน่าในขณะที่ส่วนอื่นยังเต่งอยู่ แต่ถ้าเชื้อราเข้าทำลายส่วนบนหรือส่วนใบเลี้ยง ซึ่งจะพบไม่บ่อยนัก จะพบเมื่อต้นกล้าอยู่กันอย่างหนาแน่นภายหลังจากระยะที่มีฝนตก


การป้องกันกำจัด มีวิธีการป้องกันกำจัดอยู่หลายวิธี เช่น

1. ใช้ชีววิธี โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นศัตรูของราที่ทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน โดยทำการคลุกกับเมล็ด
หรือดิน หรือแช่เมล็ดและกิ่งพันธุ์ในอัตรา 200ซีซี/น้ำ20ลิตรเป็นเวลา 2-10ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความหนา บางของเยื่อพืชแต่ล่ะชนิด จะป้องกันการเกิดโรคได้ผลดี หลังเพาะชำ พ่นในอัตรา 100ซีซี/น้ำ20ลิตร และฉีดพ่นหลังปลูกให้ทั่ว ใบ กิ่งก้าน และโคนทุก10วันเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพืช

2. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีที่ฆ่าเชื้อรา (fungicide) ช่วยป้องกัน hypocotyls และradicle ที่งอกมาให้มีความต้านทานต่อรา ที่นิยมใช้คือ captan , dichlone และ thiram

3. ใช้สารเคมีพ่นต้นกล้าในระยะที่ปลูกใหม่ เช่น ziram , chloranil , captan ,soluble coppers ถ้าดินมีเชื้อมากและมีความชื้นสูง

4. ปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดความรุนแรงของเชื้อโรคโดย

4.1 เพาะเมล็ดในระดับตื้น ลึกจากผิวดิน 1/4 นิ้ว งดให้น้ำตอนเช้าเพื่อให้การระเหยน้ำเร็วขึ้น จัดการระบายน้ำ ในแปลงเพาะให้ดี

4.2 กำหนดความหนาแน่นของกล้าในแปลงเพาะให้เหมาะสม

4.3 กำจัดวัชพืชในแปลงเพาะ

4.4 ไม่ควรให้ร่มเงามากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์

4.5 ใช้ปุ๋ยที่มีระดับของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม สมดุลเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ลำต้น โดยอัตราที่เหมาะสมคือ nitrogen : phosphorus : potassium = 1: 2: 1

4.6 ใช้ดินที่เป็นกรดในการเพาะ

หากเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัยต้องการ ปรึกษาและขอคำแนะนำติดต่อได้ที่ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน หรือ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โทร.053 112 478-9 ต่อ 15 หรือ โทรสาร. 053 112481

ร่วมแสดงความคิดเห็น