ส่งเสริมเกษตรแนะสูตร จัดการเพลี้ยสวนมะม่วง

กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงให้ระวังการระบาดของเพลี้ยจักจั่น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน ระยะที่มะม่วงกำลังแทงช่อดอก ต้องระวัง โดยเพลี้ยจักจั่นจะดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอกทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระบาดตลอดปี พบมากและทำความเสียหายในช่วงมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกจนถึงระยะดอกตูม และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นปริมาณสูงสุดเมื่อดอกใกล้บาน ช่วงธันวาคมถึงมกราคม
สำหรับวิธีป้องกันกำจัด คือสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในช่วงมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกจนกระทั่งติดผล อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน แมลงวันตาโต แตนเบียนมวนตาโต เชื้อรา บิวเวอร์เรีย ระยะดอกมะม่วงกำลังบาน การพ่นน้ำเปล่าในตอนเช้าจะช่วยให้การติดมะม่วงดีขึ้น แต่ควรปรับหัวฉีดอย่าให้กระแทกดอกมะม่วงแรงเกินไป

ระยะใกล้จะออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ให้พ่นด้วยสมุนไพรน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ต่อน้ำ 100 – 150 ส่วน หรือจะใช้สารเคมีกำจัดแมลงคาร์บาริล (เซฟวิน 85) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อเริ่มแทงช่อดอกให้พ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ต่อน้ำ 150-200 ส่วน หรือจะใช้สารเคมีกำจัดแมลงคาร์บาริล (เซฟวิน 85) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ในสวนที่มีการระบาดรุนแรงควรเปลี่ยนไปพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง หรือสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิต จะช่วยลดที่หลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่นลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น