มั่นใจใช้พร้อมเพย์ ในไตรมาส 1 ปี 60

เผยการทดสอบระบบพร้อมเพย์ ทำงานได้ดี มั่นใจเปิดใช้ในไตรมาส 1 ปี 60 โดยปัจจุบัน ปชช.มาลงทะเบียนแล้ว 18 ล้านคน จำนวน 38 ล้านบัญชี ตั้งเป้าลดปริมาณการใช้เงินสดลง 25% ภายใน 5 ปี ช่วยลดต้นทุนการบริหารเงินสด 1 แสนล้านบาท ของจีดีพี

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “ความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจากธุรกรรมในระบบพร้อมเพย์” โดยระบุว่า ปัจจุบัน สมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการทำงานออนไลน์ระบบพร้อมเพย์ ของธนาคารทั้งหมด โดยได้ทำการทดสอบการรองรับปริมาณธุรกรรมทางการเงินเกิน 100% เพื่อให้สามารถรองรับการทำปริมาณธุรกรรมที่มากขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเบื้องต้น มั่นใจว่าระบบพร้อมเพย์ ทำงานได้ดี ไม่มีปัญหา และเชื่อว่าจะเปิดใช้พร้อมเพย์ ได้อย่างเป็นทางการในไตรมาส 1 ปี 2560 อย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนมาลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว 18 ล้านคน จำนวน 38 ล้านบัญชี

พร้อมกันนี้ ยังมองว่า หากระบบพร้อมเพย์ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้ปริมาณการใช้เงินสดลดลง โดยคาดว่าในปี 2560 ปริมาณการใช้เงินสดจะลดลงได้อย่างน้อย ร้อยละ 5 จากปัจจุบันที่ประชาชนใช้เงินสดร้อยละ 97 และตั้งเป้าใน 5 ปี จะลดการใช้เงินสดร้อยละ 25 และสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดได้ประมาณ 100,000 ล้านบาทของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งปัจจุบัน จีดีพีมีมูลค่า 14 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีปริมาณการใช้เงินสดทั้งธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 รวม 1.53 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธนบัตร 1.47 ล้านล้านบาท และเหรียญกษาปณ์ 63,000 ล้านบาท

นายยศ กล่าวว่า สำหรับความกังวลของประชาชนถึงความเสี่ยงในการใช้พร้อมเพย์นั้น เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีการดูแลเรื่องดังกล่าว และระบบเองมีการป้องกันความเสี่ยงในตัวอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าปลอดภัยแน่นอน แต่ในส่วนของประชาชนเองต้องระมัดระวัง และดูแลความปลอดภัยด้วยตัวเอง ด้วยการตั้งรหัสที่ไม่ง่ายเกินไป ห้ามบอกรหัสส่วนตัวกับบุคคลอื่น และอย่านำโทรศัพท์มือถือฝากไว้กับบุคคลอื่น

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ดด้า กล่าวว่า คาดว่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยในปี 2560 จะอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ปริมาณธุรกรรมจะเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับประเทศสิงคโปร์ยังถือว่าน้อยกว่า โดยเฉพาะปริมาณธุรกรรมที่มีวงเงินสูง เพราะผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยจะมีความปลอดภัยสูงก็ตาม

ดังนั้น จึงอยากบอกฝากผู้บริโภคว่า อย่ากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป โดยแนะนำให้ประชาชนเริ่มใช้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์จากธุรกรรมในวงเงินต่ำเพื่อให้คุ้นชินก่อน และประชาชนต้องตระหนัก และรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ซึ่งในอนาคตรัฐบาลกำลังจะมีการอัปเกรดบัตรประจำตัวประชาชน โดยจะมีการใส่เทคโนโลยีเพื่อป้องกันความปลอดภัยมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น