ลำพูนขับเคลื่อน”ทุนทางวัฒนธรรม” เสวนาลำไยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ “หนองช้างคืน”คือแหล่งลำไยพันธุ์ดี

อบจ.ลำพูน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ BEDO เทศบาลตำบลหนองช้างคืน และประชาชนชาวตำบลหนองช้างคืน เปิดงานธนาคารความหลากหลายของสายพันธุ์ลำไยตำบลหนองช้างคืน (Longan Community BioBank) แห่งแรกในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559 นายวีระชัย ภู่เพียงใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดงานธนาคารความหลากหลายของสายพันธุ์ลำไยตำบลหนองช้างคืน (Longan Community BioBank) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิทักษ์ จันทร์เจริญ ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวถึงบทบาทในการดำเนินงานพัฒนาธนาคารความหลากหลายของสายพันธุ์ลำไยตำบลหนองช้างคืน และดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน ได้กล่าวรายงานความเป็นมาการจัดงานในครั้งนี้ ณ เทศบาลตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
อบจ.ลำพูน ได้ดำเนินการขับเคลื่อน “ลำพูน นครแห่งทุนทางวัฒนธรรมชุมชมชน” เล็งเห็นความสำคัญของ “ทุนทางวัฒนธรรม” อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งมีคุณค่าสามารถนำมาแปลงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ส่งผลด้านเศรษฐกิจเกิดประโยชน์ต่อวิถีชีวิตและสังคมได้ และมีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าของทุนทางวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การดำเนินการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมชุมชนในครั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลหนองช้างคืนและชุมชนทำการสืบค้น ฟื้นฟูอนุรักษ์ พัฒนาต่อยอด ซึ่งได้ดำเนินการมีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ในตำบลหนองช้างคืน ได้มีทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ได้แก่การอนุรักษ์ลำไยพันธุ์ดีของตำบลหนองช้างคืน เพราะหนองช้างคืนเป็นแหล่งกำเนิดลำไยต้นแรกแห่งจังหวัดลำพูน และยังมีสายพันธุ์พื้นเมืองที่ดี เช่น พันธุ์อีดอ พันธุ์แก้วยี่ พันธุ์แห้ว พันธุ์พวงทอง ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายชุมชนตำบลหนองช้างคืนได้มีการจัดการเรื่องทุนทางวัฒนธรรมชุมชนอย่างต่อเนื่องและโดดเด่น โดยมีการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิเช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) , องค์การสวนพฤกษศาสตร์ , มหาวิทยาแม่โจ้ ฯลฯ ในการพัฒนาต่อยอด และยกระดับทุนทางวัฒนธรรมชุมชนในเรื่องการฟื้นฟูลำไยพันธุ์ดี จนนำมาซึ่งการจัดตั้งธนาคารความหลากหลายของสายพันธุ์ลำไยตำบลหนองช้างคืน (Longan Community Biobank) เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และจัดแสดงตัวอย่างสายพันธุ์ลำไยหายากในระดับชุมชน รักษาโดยชุมชน ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณพื้นที่ทั้งตำบลหนองช้างคืน โดยมีเครือข่ายชุมชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเบื้องต้นจำนวน 71 ครัวเรือนจาก 6 หมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อปกป้องสิทธิ์ ภูมิปัญญาเป็นแหล่งกำเนิดลำไยเบี้ยวเขียวลำพูนที่มีคุณภาพ จะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าลำไยในอนาคต ซึ่งมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ตำบลหนองช้างคืนเป็นแกนนำในการดำเนินการดังกล่าว
การจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะมีพิธีเปิดธนาคารความหลากหลายของสายพันธุ์ลำไยตำบลหนองช้างคืน แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายก อบจ.ลำพูน คณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ยังได้ร่วมกันปลูกต้นลำไยในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองช้างคืน ชมนิทรรศการ “ลำไยคือลมหายใจคนลำพูน” ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่คนตำบลหนองช้างคืนตั้งใจและภูมิใจเสนอ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการ BEDO ได้มอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียนหนองช้างคืน และมีเวทีเสวนาล้อมวงเล่า “กว่าจะมาเป็นทุนทางวัฒนธรรมชุมชนตำบลหนองช้างคืน” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน นายเกรียงไกร ก้อนแก้ว ปราชญ์ชุมชน อดีตนายกเทศบาลมนตรีตำบลหนองช้างคืน นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการ BEDO นายวิชาญ จาระธรรม ปราชญ์ชุมชน ประธานคณะทำงานด้านลำไย นายอนันท์ ธนันชัย ประธานสภาเทศบาลตำบลหนองช้างคืน นางวัชรี อิ่นอ้าย สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหนองช้างคืน ภายในงานยังจัดบรรยากาศกาดหมั้วครัวแลงนั่งขันโตกล้อมวงทานอาหารจากภูมิปัญญาด้านอาหารมีการนำลำไยมาประกอบอาหารได้ถึง 25 ชนิด อาทิเช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยวลำไย ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย แกงฮังเลน้ำลำไย ไส้อั่วลำไย ข้าวเหนียวเปียกลำไย ข้าวแต๋นน้ำลำไย เป็นต้น
การจัดงานเปิดธนาคารความหลากหลายของสายพันธุ์ลำไยตำบลหนองช้างคืน ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดเมืองเล็กตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมชุมชนของ อบจ.ลำพูน 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นเตรียมเมือง ขั้นแต่งเมือง และขั้นเปิดเมือง เปิดตำบลหนองช้างคืนโดยนำของดีนั่นคือ สายพันธุ์ลำไยพันธุ์ดีให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้รู้จักเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของคนลำพูนที่ผูกพันกับลำไย และเป็นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ (Local Economy) ต่อไป

ทีมข่าวนโยบาย…เรียบเรียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น