ชวนเที่ยวแม่ลาน้อย ทานผักปลอดสารพิษ แชะรูปคู่นาขั้นบันไดที่สวยงาม

ชวนเที่ยวศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ชมนาความงามของขั้นบันได ด้าน หน.ศูนย์เผยความพร้อมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวในพื้นที่ หวังเกษตรกรมีรายได้เพียงพอจากการทำการเกษตรและมีชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดปัญหายาเสพติด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชี้พืชเศรษฐกิจของโครงการฯคือผักปลอดสารพิษและกาแฟอาราบิก้า

นายบรรจง กาวีวน หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย เปิดเผยว่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอยู่ 2 ศูนย์ คือศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ตั้งอยู่ในหมู่บ้านดงตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งชนเผ่าที่อยู่ในบริเวณนี้คือชนเผ่าละว้า ในพื้นที่ที่ทางโครงการหลวงฯดูแลนั้นได้ขอพื้นที่จากกรมป่าไม้ตามราชกิจจานุเบกษา มีเนื้อที่ 32 ตารางกิโลเมตร หรือ 20,000 กว่าไร่ และทางโครงการหลวงฯ ดูแลอยู่ 2 ตำบล คือ ตำบลห้วยห้อม และตำบลท่าผาปุ้ม ของอำเภอแม่ลาน้อย และอีกหมู่บ้านคือหมู่บ้านห้วยผึ้ง งานหลักของโครงการหลวงฯ ก็คือการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพทั้งด้านการเกษตร และยุทธศาสตร์ในการพัฒนามี 5 ยุทธศาสตร์ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ ชุมชนเข้มแข็ง และเน้นเรื่องอาชีพเป็นหลัก แต่เดิมโครงการหลวงฯ ได้ทำในเรื่องของการแก้ไขปัญหาลดการปลูกฝิ่นบนดอย และในเขตโครงการหลวงที่ดูแลอยู่ประมาน 10 กว่าดอยไม่มีแล้ว ซึ่งภายหลังมาฝิ่นก็ได้ลดจำนวนลงเกือบหมด หลังจากที่ฝิ่นหมดไปแล้วยาเสพติดก็เข้ามา แต่ในเรื่องนี้ทางโครงการหลวงฯ ก็ได้ประสานงานเข้ากับ ปปส. และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ แต่ทางโครงการหลวงฯ มุ่งเน้นไปทางอ้อมก็คือไปสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพอมีฐานะดีขึ้นก็จะสามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ ทำให้มีความรู้ ปัญหายาเสพติดเหล่านี้ก็จะหมดไปได้ ซึ่งก็ตรงตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายบรรจง กล่าวต่อว่า ในตอนนี้ที่โครงการหลวงฯกำลังดำเนินการส่งเสริมอาชีพและการเกษตรอาทิเช่น การส่งเสริมพืชผัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วที่นี่เป็นผักตระกูลสลัด และตอนนี้กำลังหาผักชนิดใหม่ๆ มาทดสอบ และตอนนี้ทางโครงการหลวงฯ ก็ต้องมาคิดเรื่องต้นทุน การบริหารจัดการเรื่องการผลิต และการตลาด และนี่คือสิ่งที่โครงการหลวงฯ ต้องทำและประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะมีเงินคืนให้กับชาวบ้านได้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ทางโครงการหลวงฯ ได้นำเอาผักประเภทผักผลมาทดลองเพราะว่าจะขนส่งง่ายและมี มูลค่าสูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือต้องไปคำนึงถึงต้นทุนและการปลูกผักอย่างปลอดภัย โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ แทนการใช้สารเคมี เพราะที่นี่ปลูกผักแบบ GAP การเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสม โดยการควบคุมจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะมีหมอพืชที่เป็นผู้เชียวชาญที่คอยใช้คำแนะนำแก่เกษตรกรว่าจะใช้สารเคมีอย่างไรให้ปลอดภัย
หน.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย กล่าวอีกว่า สำหรับพืชเศรษฐกิจของโครงการหลวงแม่ลาน้อยหลักๆก็คือผักปลอดสารพิษ รองลงมาก็เป็นกาแฟอาราบิก้า พืชตระกูลพืชไร่ ซึ่งมูลค่าของกาแฟนั้นจะขึ้นอยู่กับตลาดและความผันแปรของตลาดในแต่ละปี อย่างปีที่่านมาทางโครงการรับซื้อกาแฟกะลาจากชาวบ้านราคาประมาณ กิโลกรัมละ 100-110 บาท ซึ่งกาแฟเป็นพืชแข็งขันสูง จึงเป็นพืชหลักที่มีศักยภาพมากที่สุดก็คือกาแฟ ที่นี่มีตลาดกาแฟอยู่ 4 ตลาดคือ 1.โครงการหลวง 2.สตาร์บัค 3.ตลาดทั่วไป และ 4.ตตลาดชุมชน คือกาแฟที่ชาวบ้านนำมาคั่วบดเอง(กาแฟสดห้วยฮ้อม) นอกจากนี้ยังได้ส่งไปยังฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งฝ่ายตลาดได้ส่งต่อให้กับบริษัทหลายบริษัทด้วยกัน อาทิ ปตท. การบินไทย เป็นต้น ส่วนผักนั้นก็จะมีเบบี้ฮ่องเต้ กับคะน้าฮ่องกอง ซึ่งตอนนี้ก็ส่งให้กับ MK อยู่ ส่วนความต้องการของผลผลิตทุกชนิดนั้นต่างก็มีความต้องการเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากแผนการผลิตของโครงการฯมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเรื่องของพืชผัก แต่ในส่วนของไม้ผลจะมีปัญหาอยู่มาก และหากมีการเปิด AEC ก็จะมีผลไม้ทะลักมาจากประเทศจีนเยอะมาก ซึ่งเป็นผลไม้ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการหลวงบนที่สูง แต่ทางโครงการหลวงฯก็ได้เตรียมมาตรการนำผลไม้ชนิดใหม่ที่ไม่เหมือนกับประเทศจีน อย่างเช่น เคพกูสเบอร์รี่ ซึ่งเป็นผลไม้กึ่งร้อนกึ่งหนาว และกำลังเป็นที่นิยม
นอกจากนั้นทางโครงการหลวงฯ ก็ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผลไม้ คือเสาวรสหวาน และมีไม้ยืนต้นคือ อาโวกาโดพันธุ์แฮสส์ (Hass) ลูกพลับ และพลัม ซึ่งพืชเหล่านี้ทำมานานแล้ว เพราะพื้นที่นี้มีอากาศหนาวเย็นเหมาะแก่การปลูกพืชกลุ่มนี้ แต่ปัจจุบันทางโครงการหลวงฯ ยกเลิกไม่ให้ปลูกแล้ว แต่ก็ยังดูแลของเดิมอยู่เพราะเป็นไม้ยืนต้น นอกจากนี้ทางโครงการหลวงฯ ก็จะส่งเสริมให้เอาพืชครึ่งร้อนครึ่งหนาวมาปลูก และยังมีพืชไร่ เช่น ถั่วแดงหลวง ข้าวไร่ ซึ่งข้าวที่นี่มีรสชาติอร่อยและกำลังส่งเสริมการปลูกข้าวงาดำซึ่งตอนนี้กำลังมีการวิจัยการปลูกข้าวต้นเดี่ยวและงานวิจัยการปลูกข้าวน้ำน้อยด้วย หน.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น